สถานีคิดเลขที่12 : วังวน‘ปฏิวัติ’ : โดย จำลอง ดอกปิก

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แถลงจุดยืนการเมืองครั้งแรก นับแต่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.

คำตอบ-คำถามว่าด้วย ปฏิวัติ รัฐประหาร มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมากว้างขวาง

เมื่อ ‘บิ๊กแดง’ มิได้ให้คำมั่นสัญญา เหมือน ผบ.ทบ.คนอื่นๆ แต่ให้ตีความคำพูดเอาเอง

‘สิ่งที่สื่อถามจะมีปฏิวัติหรือไม่ ผมหวังอย่างยิ่งว่า การเมืองอย่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติอีก ผมมั่นใจว่าถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุแห่งการจลาจล ก็ไม่มีอะไร’

Advertisement

การปฏิวัติ รัฐประหาร ในช่วง 3 ทศวรรษ มีพัฒนาการของการหยิบยกปัญหาบ้านเมือง (ซึ่งที่จริงมีทางออก แก้ไขได้ตามกติกาปกติ) มาเป็นเงื่อนไขโค่นล้มรัฐบาลเลือกตั้ง

ปี 2534 หัวหน้าผู้ก่อการ ในนามคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ยึดอำนาจการปกครองรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ด้วยเหตุผล ข้ออ้างมีพฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง

ปี 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ชูข้ออ้างปมทุจริต ผลประโยชน์ทับซ้อน ล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

Advertisement

ที่ละเว้น ไม่พูดถึง เนื่องจากทำลายน้ำหนักความชอบธรรม ของเหตุผลข้ออ้างรัฐประหาร ก็คือความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับรัฐบาล

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ระบุชนวนเหตุ มาจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง

กองทัพมีความจำเป็นอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องเข้ามาเป็นกรรมการกลางหย่าศึก

เหตุที่เรื่องปฏิวัติเป็นคำถามแห่งยุคสมัย เช่นเดียวกับคำถาม ทวงถามเลือกตั้งทั่วไป เพราะ 2 เรื่องนี้ กลับด้านกันอย่างสิ้นเชิง

คำถามถึงวันเลือกตั้ง เพราะอยากให้มีขึ้น เกิดขึ้น คืนอำนาจประชาชน
ที่ยึดไว้โดยเร็ว ขณะที่คำถามเรื่องปฏิวัติ เป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกซ้ำซาก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนการตอบคำถาม ของผู้บัญชาการทหารบก
คนใหม่

แม้นักวิชาการ และนักการเมืองวิจารณ์แง่ลบ

แต่หากมองอีกด้าน จะเห็นได้ชัดว่า ผบ.ทบ.ระมัดระวังท่าที ในการตอบคำถามอย่างยิ่ง

กล่าวคือ ไม่พูดเท็จ ไม่ปฏิเสธไม่ปฏิวัติ แต่ในที่สุดก็ปฏิวัติเหมือน ผบ.ทบ.คนอื่นๆ

ดูเหมือนเป็นความพยายามรักษาคำพูดในอีกรูปลักษณ์หนึ่ง โดยเปิดทางไว้

พูดอย่างตรงไปตรงมา

จะทำหรือไม่ทำ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์บ้านเมือง อยู่ในระดับขั้นรุนแรงหรือไม่

ที่จริงก็มิได้เป็นท่าที แปลกพิสดารอันใดเลย แต่ได้ตอกย้ำ สะท้อนมุมมองกองทัพ ต่อทางออก ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์บ้านเมือง ว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากกรอบเดิม

กองทัพรับรู้ถึงผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นตามมาในการรัฐประหารแต่ละครั้ง

แต่ก็มองว่าจำเป็น ต้องใช้เครื่องมือทรงพลัง ที่ระงับยับยั้งปัญหาได้เด็ดขาด แม้ผิดหลักการ คนทั่วไปเห็นว่าไม่ถูกต้องก็ตาม

แต่กองทัพมองอีกแบบ

ไม่อย่างนั้น คงไม่มีคำว่า ทำผิดวันเดียวหลุดออกมาจากปากอดีตผู้นำกองทัพ ผู้ก่อการโค่นล้มรัฐบาลเลือกตั้ง

อันเป็นคำพูดที่แสดงถึงความเชื่อว่า สิ่งที่ทำนั้นถูกต้องแล้ว ทำผิดที่นำกำลังยึดอำนาจเท่านั้น แต่การบริหารแทน หลังจากนั้นทำในสิ่งถูกต้องทั้งหมด

ถ้อยแถลงของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์

ไม่ใช่การประกาศเจตนารมณ์สืบทอดความเป็นทายาทรัฐประหารอย่างแน่นอน

ลึกๆ ในใจ คงไม่คิดวางแผน เดินตามรอยแต่เนิ่นๆ ขณะประเทศบริหารอยู่ในช่วงปฏิวัติของรัฐบาลทหาร

ที่พูดออกมา เป็นวิธีคิดในแบบแผนทหารมากกว่า

โดยสะท้อนออกมาอย่างตรงไปตรงมา

กล้าหาญที่จะไม่ปฏิเสธว่า ไม่ปฏิวัติ

แต่การไม่ปฏิเสธ ก็ไม่ได้แสดงว่า เท่ากับการยืนยันว่าจะปฏิวัติ

แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข

เงื่อนไข ที่มีพัฒนาการต่อเนื่องเรื่อยมา

จากเรื่องโกง มาเป็นความขัดแย้งรุนแรง

เหตุแห่งการรัฐประหาร ซึ่งหากจะมีในครั้งต่อไปมากกว่า ที่น่าสนใจ น่าจับตา

เพราะเปลี่ยนได้ บิวด์ได้ตามโจทย์การเมือง ในขณะที่กองทัพ ไม่ว่าใครมาใครไปไม่เปลี่ยน ยังดำรงรักษาแบบแผนการแก้ปัญหาด้วยขบวนรถถัง

เอาไว้อย่างแน่วแน่ มั่นคง

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image