เฉลียงไอเดีย : เปิดแนวคิด ลูกหลาน(อุทัย) คืนถิ่น ‘พงศ์ธร’ผุดโรงแรมกลางเมือง ‘ญานิศา’ต่อยอดลายเส้นปลาแรด

เฉลียงไอเดีย : เปิดแนวคิด ลูกหลาน(อุทัย) คืนถิ่น
‘พงศ์ธร’ผุดโรงแรมกลางเมือง
‘ญานิศา’ต่อยอดลายเส้นปลาแรด

วันหยุดต่อเนื่อง 3-4 วัน สำหรับคนเมืองกรุงเทพฯ มักถูกถามไถ่ว่าจะไปเที่ยวที่ไหน ที่จะสอดคล้องกับภาวะในปัจจุบัน ซึ่งเน้นใช้เวลาเดินทางไม่นาน ประมาณ 3 ชั่วโมง และค่าใช้จ่ายไม่สูงจนเกินไป บรรยากาศยังไม่จอแจ และคงวิถีดั้งเดิม จึงทำให้ชื่อจังหวัดอุทัยธานี มักเป็นหนึ่งจังหวัดทางเลือก

ดังนั้น ช่วงวันมาฆบูชาปี 2567 นี้ หยุดยาวต่อเนื่อง 3 วัน เสาร์ อาทิตย์ และจันทร์ ผู้เขียนจึงปักหมุดไปท่องจังหวัดอุทัยธานี หวังตามรอยคำขวัญประจำจังหวัด “เมืองพระชนกจักรี ปลาแรดรสดี ประเพณีเทโว ส้มโอบ้านน้ำตก มรดกโลกห้วยขาแข้ง แหล่งต้นน้ำสะแกกรัง ตลาดนัดดังโคกระบือ”

ซึ่งระหว่างการเดินทางในจังหวัดอุทัยธานี ก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักธุรกิจ ลูกหลานสายเลือดคนอุทัย

Advertisement

คนแรก พงศ์ธร จิวานุพันธ์ (คุณเอ็ม) วัย 52 ปี ผู้ก่อตั้งโรงแรมและภัตตาคาร “ธาราฮิลล์ อุทัยธานี” อยู่ใน ต.สะแกกรัง อ.เมืองอุทัยธานี เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า เดิมครอบครัวทำธุรกิจปั๊มน้ำมันและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การบริหารหลักโดยคุณแม่ ประกอบกับครอบครัวมีที่ดินอยู่หลายแห่งในอุทัยธานี หลังจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ไม่นานก็มองเห็นช่องว่างทางการตลาดที่จะทำที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว จึงพัฒนาที่ดินกว่า 5 ไร่ ก่อสร้างโรงแรม เริ่มลงเข็มก่อสร้างก่อนน้ำท่วม จากนั้นอีก 2 ปี ในเดือนมิถุนายน 2542 ได้ฤกษ์เปิดให้บริการ ด้วยมองเห็นโอกาส หากย้อนไป 14 ปีก่อน ขณะนั้นคนมาเที่ยวอุทัยธานี ยังไม่มีที่พัก ซึ่งในแง่ของคุณเอ็ม หมายถึงที่พักดีๆ ไว้รองรับนักท่องเที่ยว

“อาจเพราะตอนนั้น เที่ยวอุทัยธานียังไม่บูม เพิ่งมาบูม 4-5 ปีมานี้ หลังจากคุณหมอ (กฤตพล พรพิบูลย์) นายกสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดอุทัยธานี และกลุ่มนักธุรกิจท้องถิ่น ร่วมกันพัฒนาถนนคนเดินตรอกโรงยา ประกอบกับกระแสโซเชียล และอุทัยธานีมีสถานที่เที่ยวที่เป็นแม่เหล็กหลายแห่ง อย่างวัดท่าซุง หุบป่าตาด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขื่อนทับเสลา เขาสะแกกรัง วัดผาทั่ง หรือบ้านชายเขา สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย มองเห็นความงามของภูเขาหินปูน สวนพฤกษชาติแก่นมะกรูด สัมผัสอากาศหนาวหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงล้อมด้วยหุบเขา ดังเข้าไปอีกเมื่อมีการใช้เป็นสถานที่ถ่ายละครนาคีนาคา และเที่ยวได้ในทุกอำเภอ ไม่ว่าใน อ.เมือง อ.บ้านไร่ อ.สว่างอารมณ์ อ.ลานสัก อ.ห้วยคต อ.หนองฉาง อ.หนองขาหย่าง อ.ทัพทัน ยังเที่ยวได้ทั้งปี กลายเป็นเมืองรองที่มีจุดรีวิวค่อนข้างมากในวันนี้”

จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เมื่อกลายเป็นจังหวัดที่บูมขึ้น จากจังหวัดที่เคยเงียบมากๆ ไม่เกิน 1 ทุ่ม (19.00 น.) จะไม่เห็นคนเดินตามถนน บ้านเรือนเงียบ วันนี้ เห็นนักท่องเที่ยวหนาตาขึ้น ส่งผลให้จำนวนห้องพักรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มอย่างรวดเร็ว เพียง 2-3 ปี เพิ่มไม่น้อยกว่า 1,000 ห้องพัก หากเทียบกับจังหวัดเมืองรอง
ถือว่าสูงพอควร

Advertisement

“เปิดแรกๆ ผมมี 28 ห้องพัก ต่อมาขยายเป็น 40 ห้องพัก ขยายถึง 58 ห้องพัก แต่บางส่วนทรุดโทรมก็รื้อบางส่วนและกำลังขยายเพิ่มอีก 16 ห้องพัก ซึ่งจะทยอยเปิดบริการเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ ตอนที่เกิดโควิดระบาด พอดีกับกู้เงินจากธนาคารออมสิน โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยค้ำประกัน นำก่อสร้างอาคารเพิ่มห้องอาหารและห้องประชุม บวกกับเงินสะสมบางส่วนทำการปรับปรุงห้องพักและสถานที่ภายนอก เพื่อให้ทันสมัยและรองรับจำนวนกลุ่มทัวร์ที่ต้องการที่พักขนาด 50 ห้องพัก พร้อมมีห้องและลานจัดกิจกรรม จุดขายของเรา คือ ตั้งในอำเภอเมือง มีจำนวนห้องเพียงพอกับกลุ่มทัวร์ที่ต้องการจัดสัมมนาหรือประชุมขนาดกลาง ซึ่งในอุทัยนี้ค่อนข้างมีน้อย ส่วนใหญ่ไม่เกิน 20 ห้องพัก แต่ตอนนี้ก็เริ่มเห็นทุนนอกจังหวัดเข้ามาเปิดโรงแรมขนาดกลางกันมากขึ้น”

เมื่อถามคุณเอ็มว่าวิตกกับทุนใหม่ที่ไม่ใช่คนอุทัย และอุทัยธานีกลายเป็นจังหวัดที่บูมแล้ว จะกระทบต่อวิถีสโลว์ไลฟ์ที่เป็นเอกลักษณ์หรือไม่ “ยอมรับว่า เริ่มเห็นทุนต่างถิ่นและรูปแบบโรงแรมที่พักที่แปลกตามากขึ้น เพราะอุทัยธานีตอบโจทย์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ นิยมกางเต็นท์ พื้นที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ ป่า ต้นไม้ แม่น้ำ อากาศดี มีตลาดริมน้ำ ล่องเรือชมวัดโบราณ อาหารอร่อย และราคาไม่แพง จนวันนี้กลายเป็นแหล่งเที่ยวของกลุ่มผู้สูงวัยนัดกันมาท่องเที่ยว กลายเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ของอุทัยธานี จึงทำให้ยอดจองห้องในวันศุกร์ เสาร์ และวันหยุดยาว มียอดจองเฉลี่ยเกิน 60% แต่วันธรรมดา อาจเหลือแค่ 10% ประกอบกับการเดินทางและระบบขนส่งโดยสารข้ามจังหวัดมาอุทัยหรือรถโดยสารภายในอุทัยเอง ยังไม่เอื้อต่อคนที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัวหรือคนต่างชาติที่ต้องการเที่ยว แม้แต่รถเช่าในจังหวัดก็หายาก เมื่อการเดินทางไปมาไม่สะดวก เป็นเรื่องที่อยากให้รัฐบาลสนับสนุน เช่น ส่งเสริมผู้ให้บริการขนส่งนักท่องเที่ยว หรือจัดหารถโดยสารประหยัดพลังงาน ดังนั้น ในแง่การลงทุนเชื่อว่าเขาต้องคำนวณเรื่องนี้ ว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม”

เมื่อถามถึงอนาคตทางธุรกิจ ในฐานะคนอุทัยโดยกำเนิด คุณเอ็มเอ่ยทันทีว่า จะยึดหลักพอเพียงและลงทุนแบบสโลว์ไลฟ์ เพราะเป็นวิถีที่เหมาะสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีในวันนี้ “ทำธุรกิจขนาดเล็กที่พอมีกำไร ดีกว่าทำใหญ่แต่ไม่มีอะไรเหลือ อย่างไรก็ดี อุทัยธานีก็ยังเป็นเมืองผ่าน ยังเป็นกลุ่มเฉพาะ อาจมีเพียงบางแห่งที่พัฒนาตามเทรนด์ แต่ในระยะยาวก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหน เหมือนที่เคยมีโรงแรมใหญ่ชื่อดังที่ต้องปิดตัวลง ทำอย่างวันนี้ ก็ได้รับคำชมว่าดีกว่าที่คาดไว้มาก”

จากนั้นได้มีโอกาสพูดคุยกับ ญานิศา เทศนา (คุณฟิล์ม) อายุ 42 ปี สายเลือดคนอุทัยแท้อีกคนหนึ่ง ที่ยอมสละเงินเดือนหลายหมื่นบาทในบริษัทด้านเทคโนโลยีชื่อดังในประเทศไทย ใช้บ้านพักใน อ.เมือง ทรงสมัยนิยมของคนอุทัยที่ยังเห็นได้ในทุกถนน ซึ่งสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นแล้วถึง 6 รุ่น เปิดเป็นร้านกาแฟกึ่งพิพิธภัณฑ์และมีของสะสมตั้งแต่สมัยปู่ทวด

“วันหนึ่งฝนตก ขณะที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ด้วยทำงานอยู่เทพารักษ์ แต่พักอาศัยที่อ่อนนุช วันนั้นอยู่บนรถเมล์กว่า 3 ชั่วโมง ก็นึกถ้าอยู่บ้านตอนนี้นอนรับอากาศเย็นๆ ฟังเสียงกบเสียงเขียดร้องสบายไปแล้ว แล้วเรามาทำอะไรที่นี่ ประกอบกับคุณพ่อคุณแม่ใกล้เกษียณ จึงเพิ่มการตัดสินใจให้เร็วขึ้น ทิ้งงานที่ทำมา 8 ปี หอบวิชาความรู้จากวิศวะคอมพิวเตอร์ พระจอมเกล้าธนบุรี มาพัฒนาธุรกิจบ้านเกิด แรกๆ ก็แค่คุณพ่ออยากเปิดพิพิธภัณฑ์เอาของสะสมเปิดให้คนนิยมของสะสมมาพบปะพูดคุยกัน กะมีโต๊ะ 2-3 โต๊ะพอ แต่เราเห็นว่า เพิ่มขายกาแฟ น้ำสมุนไพรโบราณ เพิ่มขนมเป็นอาหารว่าง ด้วยความไม่หยุดนิ่ง ปรับโน่นนี่ตลอด ผสมกับกระแสมาเที่ยวอุทัยเพิ่มขึ้นๆ จะได้ยินบ่อยมาก คือ มาครั้งแรกชอบมากเลย คงต้องมาอีก ที่ร้านจึงเห็นคนกลับมาซ้ำเยอะมาก ลูกค้าที่ร้านกลายเป็นนักท่องเที่ยวมากกว่าคนอุทัย ที่เลื่องลือในวันนี้ อุทัยธานี ยึดครองพื้นที่สื่อในหลายมิติ ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว สายมู มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลนี้ ซอฟต์พาวเวอร์อย่างกางเกงแรด”

สำหรับคุณฟิล์มแล้ว ไม่แค่รู้จักว่าเป็นผู้บุกเบิกร้านกาแฟกึ่งพิพิธภัณฑ์ “จงรัก” ซึ่งได้นำชื่อคุณแม่มาตั้ง แต่ด้วยใช้ความรู้ด้านวิศวะคอมพิวเตอร์ ต่อยอดทั้งงานหลักและงานอดิเรกอีกมาก อาทิ ออกแบบกราฟิก เช่น วาดโลโก้ หรือแผนที่ท่องเที่ยว ใช้โปรโมตแหล่งท่องเที่ยวอุทัยธานี ชนะเลิศการประกวดระดับจังหวัด อย่างปี 2566 ออกแบบแมสคอต (Mascot) ลายเส้นปลาแรด และถูกตั้งโชว์ประจำจังหวัด จนเมื่อกระแสของกางเกงสัตว์ต่างๆ ที่ออกมาแล้วเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ด้วยเป็นคนอุทัยธานีอยู่แล้ว จึงออกแบบลวดลายทำกางเกงปลาแรด ซึ่งปลาแรดที่คุณฟิล์มคิดขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของลายที่ดึงอัตลักษณ์ต่างๆ ของจังหวัดเข้ามาด้วย มาใส่ในลายของกางเกง เช่น ลวดลายปลาแรดใส่ภาษาอังกฤษคำว่าอุทัยธานี เพิ่มดอกสุพรรณิการ์ บันไดวัดสังกัสรัตนคีรี คิวเดือนธันวาคมปี 2566 เปิดจองในโลกโซเชียลเดือนมกราคม ล็อตแรกคิดแค่ 200 ตัว เพียง 3 วันหมด ล็อตสองยอดจองถึง 1,500 ตัวแล้ว อีกไม่นานก็จะได้เห็นถุงผ้าปลาแรด เสื้อลายปลาแรด เสื้อผ้าเด็ก เป็นต้น

“ถึงวันนี้ก็ 9 ปีแล้ว ก่อนมาทำที่บ้านก็กังวล เพราะตอนนั้น เมืองอุทัยยังไม่บูม เงียบมาก แต่เราก็หาข้อมูลดูทิศทางนโยบายจังหวัด บวกกับคนใช้โซเชียลมากกำลังบูม ในปี 2558 เราเริ่มรีวิวร้าน ก็มีรายการมาถ่ายทำ บวกกับกระแสต้องลองมาเที่ยวอุทัยแรง ทำให้ช่วงวันหยุดอุทัยไม่ได้เงียบอีกแล้ว ตอนมาใหม่ๆ คนก็แซวเรียนจบวิศวะ จะมาอยู่บ้าน จังหวัดเงียบ ไม่มีห้าง ไม่มีความโอ่อ่าตามเทรนด์ แต่เมื่อเราได้ลองทำและทำอย่างจริงจัง เอาวิชาที่เรียนมาใช้ในการบริหารร้าน เช่น เมนูที่ทำใช้เวลาและวัตถุดิบอย่างไรที่คุ้มเวลาและต้นทุน หมดสมัยแล้วว่าเรียนสูงๆ แล้วต้องทำงานในเมืองใหญ่ วันนี้โลก
โซเชียล ทำให้ทำงานที่ใดก็ได้ เพียงต้องคิดพัฒนาต่อยอด ส่วนตัวพิสูจน์แล้วว่า การอยู่ที่บ้านและทำงานที่รัก ดีที่สุด จากคนที่กลับมาอยู่บ้าน ส่วนเรื่องที่กังวล คือ ห่วงเสน่ห์ในยุคคนสูงอายุกำลังจะหมดลง เมื่อรุ่นบุกเบิกแก่ลงแต่ไม่มีคนสืบทอด อนาคตจะเป็นแบบใด”

จากเรื่องเล่าของ 2 ทายาทคนอุทัยคืนถิ่น ต้องยกย่องให้เป็นตัวอย่างที่ดี ให้คนรุ่นใหม่ตระหนักคำว่า “บ้านเราก็มีดี”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image