‘เจษฎา ศรุติสุต’ กางแผนพัฒนา “เทศบาลตำบลศรีพนมมาศ” จ.อุตรดิตถ์ สู่เมืองคุณภาพ ดึงลูกหลานคืนสู่บ้านเกิด

ถ้าพูดถึง ‘เมืองลับแล’ หลายคนอาจเคยได้ยินตำนานเล่าขานถึงความเป็นเมืองลี้ลับ ส่วนในโลกความเป็นจริงนั้น เมืองลับแลคือหนึ่งในเมืองที่เดินทางสะดวก และได้รับการพัฒนาจนเป็นเมืองน่าอยู่ โดยยังรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมในพื้นที่ไว้ได้อย่างลงตัว 

    หนึ่งในบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมือง คือ เจษฎา ศรุติสุต นายกเทศมนตรีตำบลศรีพนมมาศ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ หรือที่ประชาชนในพื้นที่เรียกกันติดปากว่า ‘นายกเหน่ง’ ซึ่งบริหารจัดการพื้นที่โดยมีเป้าหมายครอบคลุมเศรษฐกิจ อาชีพ และคุณภาพชีวิต เพื่อดึงลูกหลานชาวลับแลกลับคืนสู่บ้านเกิด

“ชื่อของเทศบาลตำบลศรีพนมมาศตั้งตามชื่อเจ้าเมืองเก่า ซึ่งตอนนี้เทศบาลมีอายุ 78 ปีแล้ว ถือเป็นเทศบาลเก่าแก่เลยก็ว่าได้ การเป็นเทศบาลเก่าจะแตกต่างจากการเป็นเทศบาลใหม่ตรงที่มีการกระจายอำนาจภารกิจเยอะพอสมควร ซึ่งในส่วนเทศบาลได้มีการร่วมมือกันพัฒนาเมืองลับแล ชูด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตต่างๆ ของคนเมืองลับแล เช่น วิถีเรื่องที่อยู่อาศัย ภาษา อาชีพ อาหาร การแต่งกาย ประเพณี ศิลปะท้องถิ่น ความเชื่อ มาสร้างคุณค่าและชื่อเสียง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและลูกหลานชาวลับแลให้กลับคืนถิ่น” นายกเหน่ง เผย

Advertisement

อุปสรรคที่ต้องฟันฝ่า

เจษฎาเป็นคนพื้นเมืองลับแลแท้ๆ จบปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เดิมทีประกอบวิชาชีพทนายความ ตั้งแต่ปี 2532 และทำอาชีพเกี่ยวกับกฎหมายมาโดยตลอด 

ความมุ่งมั่นในการทำเพื่อสังคม ทำให้เจษฎาได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลศรีพนมมาศ ซึ่งนายกเล็กอย่างเขาก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ได้บริหารจัดการเทศบาลตำบลศรีพนมมาศให้กลายเป็นเมืองแห่งคุณภาพ ชูวัฒนธรรมเมืองลับแล พร้อมส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้าน

Advertisement

 เจษฎาได้บริหารเทศบาลตำบลศรีพนามมาศอย่างดีมาโดยตลอด จึงได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลตัวอย่างที่ดี ภายใต้โครงการ ‘เมืองไทย เมืองคนดี’ เป็นผู้ดำรงตนอยู่ในคุณธรรมจริยธรรมและบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม ประจำปี พ.ศ. 2547 และ 2548 จากกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

อีกทั้งเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ ยังได้รับการประเมินการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ตามหลักธรรมาภิบาล ได้เป็นที่ 1 ของจังหวัดอุตรดิตถ์ 2 ปีซ้อน ในปี 2547 และ ปี 2548 ด้วยเช่นกัน 

จากความตั้งใจและบากบั่นฟื้นฟูดูแลเทศบาลตำบลศรีพนมมาศจนชาวบ้านกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่แล้วพื้นที่กลับโดนภัยพิบัติน้ำท่วม ในปี 2549  โคลนถล่มระดับ 2 เมตร ทำให้บ้านพังทลาย เสียหายราบเป็นหน้ากลอง ต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งเมือง แต่นายกเล็กก็ไม่ย่อท้อ ต่อสู้กับทุกอุปสรรคจนคนในชุมชนได้ลืมตาอ้าปากอีกครั้งดังเช่นปัจจุบัน

สำนักงานเล็กพริกขี้หนู

สำนักงานเทศบาลตำบลศรีพนมมาศยึดหลักแนวคิดแบบเล็กพริกขี้หนู เพราะมีพื้นที่ไม่ใหญ่มาก แต่สามารถใช้สอยทุกพื้นที่ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด 

ภายในสำนักงานที่ออกแบบให้ดูโล่ง โปร่ง สบายตา ให้บริการในรูปแบบ ‘วัน สต็อป เซอร์วิส’ พร้อมนำเทคโนโลยีเข้ามาสู่กระบวนการบริการสาธารณะ เป็นแนวคิดที่ต้องการอำนวยความสะดวกให้ผู้มาติดต่อราชการสามารถรับบริการจากหน่วยงานราชการต่างๆ ได้ในที่แห่งเดียว ด้วยคติที่ว่า ต้องให้บริการประชาชนที่เข้ามาใช้บริการให้เสร็จภายใน 10 นาที 

“สิ่งหนึ่งที่เราทำได้มากที่สุดคือ เปลี่ยนแปลงนิสัยของข้าราชการ ให้ออกมาดูแลประชาชนเหมือนพี่-น้อง ให้มากที่สุด แรกๆ ก็อาจจะมีการปรับตัวกันมากหน่อย แต่เดี๋ยวนี้ชาวบ้านก็มีความรู้สึกเหมือนเป็นพี่น้องกันหมดแล้ว

“อีกทั้งทุกวันนี้เรายังมีบริการเชิงรุกมากขึ้น เช่น เรื่องเกี่ยวกับผู้ป่วยติดเตียง การดูแลผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส เราส่งข้าราชการเข้าไปถึงบ้าน เข้าไปถึงที่ ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปดูแลทุกส่วน ดูแลจนถึงด้านที่พักอาศัย ถ้าดูแล้วไม่ถูกสุขภาวะ ก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ หลังจากที่องค์กรของเราน่าอยู่แล้ว เราก็ทำให้คนในชุมชนน่าอยู่ไปอีกด้วย” เจษฎา กล่าว

ส่งเสริมการสร้างอาชีพให้ชาวเมืองลับแล

    วิถีชีวิตของคนในเทศบาลตำบลศรีพนมมาศส่วนใหญ่จะทำการเกษตร หรือสวนผลไม้ เพราะพื้นที่โดยรอบแวดล้อมด้วยป่าไม้และภูเขา ทำให้ปลูกสวนผลไม้กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ อำเภอลับแลจึงมีผลไม้ออกมาให้กินกันตลอดปี ทั้งลองกอง ลางสาด ทุเรียน และมังคุด 

    ลับแลยังเป็นแหล่งปลูกหอมแดงและหอมแบ่งมากที่สุดในประเทศไทย เทศบาลจึงต้องดูแลเรื่องต้นทุนการผลิตเป็นหลัก เช่น น้ำ เนื่องจากมีการใช้พื้นที่ทำนาทำสวนกันตลอดทั้งปี ทำให้ต้องใช้น้ำมาก จึงต้องใช้ระบบการผันน้ำ และต้องมีแก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำ เพราะเทศบาลตำบลศรีพนามาศมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่คล้ายกับแอ่งกระทะ มีเทือกเขาล้อมรอบ มีแม่น้ำ 2-3 สายไหลผ่าน

หน้าที่ของนายกเล็กคือทำอย่างไรก็ได้ให้ชะลอน้ำให้อยู่ตรงนี้ เพื่อทำการเกษตรได้ตลอดปี จึงได้นำวิธีทำฝายน้ำล้นให้สูงขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการไหลของน้ำ และสร้างผังน้ำแต่ละเส้นให้มาบรรจบกัน เพื่อจะได้กักเก็บน้ำไว้ในคลอง เรียกกันว่า ‘เส้นเลือดฝอย’ เพราะมีน้ำทั่วทุกพื้นที่ เทศบาลตำบลศรีพนมมาศจึงมีน้ำกินน้ำใช้ทำการเกษตรตลอดปีไม่ขาด

ไม่เพียงดูแลด้านการเกษตร นายกเล็กยังนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โดยสนับสนุนให้คนในพื้นที่มีรายได้เสริม เช่น การตั้งของขาย ไม่ว่าจะเสื้อผ้าท้องถิ่นของเมืองลับแล หรือแม้แต่อาหาร เช่น ข้าวแคบ หรือข้าวพันผัก 

ในอดีต ชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีอาชีพอื่นนอกจากการทำนาและทำสวนผลไม้ นาข้าวก็ทำได้ไม่เยอะเพราะผืนนามีไม่มาก นายกเล็กจึงผุดไอเดียสร้างอาชีพเสริม โดยจัดตั้งกลุ่มสตรีข้าวแคบ ทั้งยังส่งเสริมเรื่องการตลาดและเงินทุน

จากแต่เดิมมีสมาชิกในกลุ่มแค่ 40 คน ตอนนี้มีสมาชิกจำนวน 200 คนแล้ว มีการขายข้าวแคบทั่วประเทศไทย และมีการปรับปรุงข้าวแคบขึ้นมาใหม่ ให้ความรู้กับกลุ่มคนที่ทำ สอนการแปรรูปให้เกิดเป็นข้าวพันผัก อาหารสุดยอดของเมืองลับแล ที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของแป้งข้าวแคบเช่นกัน

ทั้งนี้ เพื่อผลักดันให้ชาวบ้านหรือผู้มีรายได้น้อยได้มีหนทางทำมาหากินอีกหนึ่งช่องทาง กลายเป็นของดีของเด็ดจากเมืองลับแลที่ส่งตรงความอร่อยไปถึงมือผู้บริโภคทั่วประเทศ

ดูแลพื้นที่อนุรักษ์อายุกว่าร้อยปี

สถานที่ท่องเที่ยวแรกๆ ที่นักท่องเที่ยวมักจะมาเช็คอิน คือ ชุมชนตลาดลับแล ที่เป็นสี่แยกยุทธศาสตร์ ถือเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเมืองลับแล เพราะมีแหล่งสำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นห้องแถวอายุ 120 ปี หรืออนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ 

อีกหนึ่งพื้นที่อนุรักษ์ที่ดูสวยงามเหมือนวันวาน คือ ห้องแถวหรือบ้านไม้เก่าแก่ เป็นที่อยู่อาศัยที่เป็นโซนอนุรักษ์ ทาสีบ้านเป็นสีน้ำตาล บ้านเรือนประชาชนมีอายุอย่างต่ำ 120-150 ปี แต่เดี๋ยวนี้ก็ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา บางพื้นที่มีการรื้อทำเป็นตึกจึงต้องใช้กฎหมายอนุรักษ์ไว้ 

ถึงเมืองลับแลจะมีตำนานว่าเป็นเมืองที่ลึกลับ แต่เข้ามาเมืองลับแลไม่ต้องกลัว เพราะทุกจุดทุกที่ มีกล้อง CCTV ดูย้อนหลังได้เป็นเดือน มีเวรยามคอยดูแล 24 ชั่วโมง เพราะสถานที่เป็นบ้านเรือนอันเก่าแก่ที่มีความเสี่ยงต่อไฟไหม้สูง จึงต้องมีคนคอยดูแลตอนกลางคืนด้วยเช่นกัน

ผลักดันศูนย์การเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ให้ขึ้นชื่อ

นายกเหน่งเล่าว่า จังหวัดอุตรดิตถ์เปรียบเสมือนบ้านหลังหนึ่ง เทศบาลตำบลศรีพนมมาศคือห้องรับแขกของทุกคนที่มาอยู่ในบ้านหลังนี้ เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามาในจังหวัดอุตรดิตถ์ก็จะต้องเข้ามายังเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ เทศบาลจึงต้องมีรถไว้คอยบริการ นำเที่ยว พาไปดูแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ 

เริ่มที่ซุ้มประตูเมืองลับแลขนาดใหญ่ ถือเป็นแลนมาร์คที่ทุกคนต้องแวะ ซุ้มประตูเมืองจะมีจระเข้อยู่ 4 ตัว ถ้าดูในประวัติของจระเข้ ธงหรือดาวของจระเข้ คือ สัญลักษณ์ของการให้ทานที่ยิ่งใหญ่ คือการทำบุญทอดกฐิน เพราะที่นี่คือเมืองแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ส่วนข้างซุ้มประตูมีประติมากรรมแม่ม่าย อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเมืองลับแล

ถัดจากซุ้มประตูเมือง คือ พิพิธภัณฑ์เมืองลับแล ถือเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่รวบรวมประวัติศาสตร์ของเมืองลับแล วิถีชีวิตของคนในพื้นที่ และขนบธรรมเนียมการใช้ชีวิต เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีกิจกรรมมากมายให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวได้เข้าร่วม โดยจำลองผ่านแต่ละเรือน 

พิพิธภัณฑ์กินพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 5 ไร่ อาคารแรกคืออาคารจำลอง เป็นเรือนจำลองพระศรีพนมมาศ เรือนคหบดีเก่า เป็นการจัดแสดงประวัติศาสตร์ราชวงศ์จักรีกับเมืองลับแล อีกส่วนหนึ่งจะเป็นชีวประวัติของพระศรีพนมมาศ คนดีเมืองลับแล หรือนักปกครองตัวอย่างของกระทรวงมหาดไทย 

ถัดไป คือ สถานที่สำคัญของเมืองอุตรดิตถ์ทั้งหมด มีประมาณ 20 สถานที่ จัดแสดงของเก่าของเมืองลับแล โดยได้รับความอนุเคราะห์จากประชาชนทั่วไปบริจาคเข้ามา เด็กๆ นักเรียนทุกโรงเรียนจะต้องเข้ามาดูที่นี่ เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของเมืองลับแลทั้งหมด นักท่องเที่ยวที่เข้ามาก็จะได้รู้จักเมืองลับแลมากขึ้น อาทิ วิถีชีวิต อาหารการกิน อาชีพ วัฒนธรรมการแต่งกาย เป็นต้น

เติมเต็มความสุขให้คนในชุมชนแล้วยังเติมเต็มประสบการณ์การท่องเที่ยวดีๆ ให้กับนักท่องเที่ยว เรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไม่เหมือนใคร เพราะถูกขนานนามว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต

อีกทั้งยังได้งบประมาณมาเพื่อทำถนนวันวาน และเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้มาขายสินค้าโอท็อป เดินช้อปปิ้ง เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ แหล่งการเรียนรู้ ศูนย์จำหน่ายสินค้า เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวและให้ชาวบ้านมีรายได้

ไม่หมดเพียงเท่านั้น อีกหนึ่งไฮไลต์ของเมืองลับแลที่เพิ่งเปิดใหม่ คือ ถ้ำจำลองเมืองลับแล ให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม มีการจำลองต้นไม้ลับแลที่เป็นต้นไม้ประจำถิ่นและต้นไม้อื่นๆ ให้ชม โดยต้นไม้ทั้งหมดสัมพันธ์กับวัฒนธรรมหรือการดำเนินชีวิตทั้ง 8 วิถี ส่วนลานกิจกรรมด้านหน้าจะมีกิจกรรมตลอดปี และอย่างน้อยจะมีกิจกรรมใหญ่ 1 ครั้งต่อปี เรียกว่า งานประเพณีลานวัฒนธรรม 8 วิถี มีการแสดง มีนั่งขันโตก แสดงแสงสีเสียง เล่าประวัติศาสตร์เมืองลับแล และมีการจัดประกวดแข่งขันให้เยาวชนเกี่ยวกับเรื่องวิถีต่างๆ ให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะ และเห็นคุณค่าของบ้านตนเอง

สถานที่ประวัติศาสตร์เหล่านี้ทำให้เมืองลับแลเป็นเมืองท่องเที่ยว ซึ่งปีนี้ได้ 1 ใน 10 เมืองสุดยอดของเมืองท่องเที่ยวยลวิถีของประเทศไทย 

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ เจษฎา ศรุติสุต นายกเทศมนตรีตำบลศรีพนมมาศ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ทุ่มแรงกายและแรงใจ เพื่อพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองคุณภาพ และเป็นเลิศด้านวัฒนธรรมอย่างแท้จริง เหมือนกับวิสัยทัศน์ของศรีพนมมาศคือ 

“ศูนย์กลางแห่งอารยธรรม แหล่งการเรียนรู้ และความอุดมสมบูรณ์ของเมืองลับแลที่ไม่มีวันสิ้นสูญสลาย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image