พุทธทาสภิกขุ (ดอกไม้และก้อนอิฐ ตอนที่ 2) : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

พระพุทธทาสภิกขุ มีฉายาที่อุปัชฌายะตั้งให้ว่า อินฺทปญฺโญ แปลว่าผู้มีปัญญาเป็นใหญ่ พระอุปัชฌายะท่านจะคิดอะไรหรือไม่ก็ตาม นามนี้ช่างเหมาะสมยิ่งนัก เพราะท่านเป็นผู้นำทางปัญญาที่เด่นมากทางพุทธศาสนาสมัยใหม่ เป็นที่ยอมรับทั้งภายในและนอกประเทศ ส่วนนาม “พุทธทาส” เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อคราวเขียนบทความทางพระพุทธศาสนาส่งไปลงใน “เดลิเมล์” เลียนแบบนาม “ธรรมทาส” ซึ่งน้องชายท่านใช้อยู่ก่อน เมื่อเกิด ธรรมทาส และพุทธทาสขึ้นที่ไชยา ก็เกิดนาม สังฆทาส ขึ้นที่กรุงเทพฯ

ที่มาของนาม “พุทธทาส” นั้นว่ากันว่าได้แรงบันดาลใจจากบทสวดมนต์ทำวัดเย็นว่า “พุทฺธสฺสาหสฺมิ ทาโสว พุทฺโธ เมสามิกิสฺโส พุทฺธสฺสาหํ นิยฺยาเทมิ สรีรญฺชีวิตญฺจิทํ ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอถวายร่างกายและชีวิตนี้แด่พระพุทธเจ้า”

มีความหมายว่า ผู้ทำงานรับใช้พระพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์จนได้สัมผัสแห่งการปฏิบัติและเผยแผ่คำสอนของพระองค์เพื่อมวลมหาชน หาใช่ “ทาส” ในความหมายที่รู้กันทั่วไป

“ทุกคนที่ขวนขวายเพื่อความดี ความงาม ความจริง ความถูกต้อง ความยุติธรรม ก็เหมือนกับการใช้พระในตัวพุทธเจ้าในตัวอย่างยิ่งและเต็มที่”

Advertisement

ครับ หลวงพ่อท่านเป็นผู้ที่ขวนขวายเพื่อความงามความดีของมนุษย์โลก จึงเหมาะแก่นามพุทธทาสนี้ยิ่งนัก และถ้าคนอื่นจะดำเนินรอยตามหลวงพ่อทำตัวให้เป็น “พุทธทาส” กันมากๆ ก็รับประกันได้ว่า “ศีลธรรมจะกลับมา” และ “โลกาจะสงบเย็น”

เย็นยิ่งกว่ายามดารา ชวลิต แสงกลางนภาครา อาทิตย์อัสดงเป็นที่ เปรมประชา นั่นแหละ

นามสำนักว่า “โมกขพลาราม” ท่านก็ช่างคิดขึ้นมาใช้ได้เหมาะเจาะกับกิจกรรมที่ทำอยู่อย่างยิ่ง ท่านเล่าว่าคิดได้โดยบังเอิญคือ ณ สถานที่นี้ (สวนโมกข์เก่า) มีต้นโมกและต้นพลาอยู่หลายต้น เอา “โมก” กับ “พลา” มาต่อกันจับบวชซะหน่อยเป็น “โมกขพลา” ต่อด้วย “อาราม” ก็เป็น “โมกขพลาราม” แปลว่าที่รื่นรมย์อันเป็นพลังแห่งโมกษะ (การหลุดพ้น)

Advertisement

พูดถึงความสามารถในการบัญญัติศัพท์แปลกๆ เช่นนี้ทำให้นึกถึงท่านนาคประทีปอีกคนหนึ่ง เป็นนักปราชญ์เยอรมันผู้เชี่ยวชาญพระพุทธศาสนาท่านหนึ่งคือ แมกซ์ มุลเลอร์
ท่านนาคประทีปบัญญัติว่า “โมกษมูลาจารย์” แปลว่า “อาจารย์ผู้บุกเบิกโมกษะ (ในตะวันตก)” ฟังแล้วคมขำไม่แพ้ “โมกขพลาราม”

โมกขพลารามเกิดขึ้นในช่วงปี 2475 ยุคสมัยที่อะไรๆ ก็เริ่มเปลี่ยนแปลง ทางบ้านเมืองก็เปลี่ยนแปลงการปกครอง ทางคณะสงฆ์ก็เกิดยุวสงฆ์เคลื่อนไหวจนเปลี่ยนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ แต่นั้นเป็นเพียงเปลี่ยนรูปแบบเท่านั้น สาระทางศาสนามิได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม พระสงฆ์ส่วนใหญ่ยังหมกมุ่นอยู่ในดิรัจฉานวิชา “ป้าย” บอกทางสวรรค์นิพพานอยู่อย่างไรก็คงเป็นอยู่เช่นเดิม

หลวงพ่อพุทธทาสจึงปลีกตัวออกจากความเป็น “พระบ้าน” มาอยู่ป่าเป็น “พระบ้า” ในสายตาของชาวบ้าน ฝึกฝนตัวเองทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติท่ามกลางธรรมชาติอันสงบสงัด ลองผิดลองถูกด้วยการปฏิบัติแปลกๆ มากมาย เช่น ห่มจีวรดำๆ หม่นๆ ไม่สวมรองเท้า ไม่ใช้ร่ม ไม่กินปลาและเนื้อ กินแต่ผักหญ้าเป็นต้น ผลที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า ไม่ได้ผล “มันทำให้มันแปลกกว่าเพื่อน มันอยากจะดีกว่าเพื่อน มันเล่นละคร แกล้งย้อมดำอวดคน ก็เลยเลิก” อะไรก็ตามที่สักแต่ว่าทำตามกันมาโดยไม่ “แจ้ง” ในสาระที่แท้จริงก็จะกลายเป็นการสร้าง “รูปแบบ” ให้เกาะยึดและพอกอุปาทานจนยากจะกะเทาะออกได้ในที่สุด

เขียนมาถึงตรงนี้ ใจมันกระหวัดถึงหลวงพ่อเทียน (ที่ผมไม่เคยรู้จักท่านเป็นส่วนตัว) หลวงพ่อท่านสั่งให้พระ “วิ่งจงกรม” ไม่ให้เดินช้าๆ อย่างที่เขาทำกัน ท่านเขมานันทะบังเอิญมาพักอยู่กับท่านชั่วคราวนึกแปลกใจ จึงเรียนถามว่า “ทำไมต้องวิ่งละครับหลวงพ่อ”

“แล้วทำไมต้องเดินล่ะจ๊ะ” หลวงพ่อสวนทันควัน

เท่านั้นแหละครับ พระเขมานันทะก็กระจ่าง

“อ้อ เรามันมัวติดรูปแบบ น่าเขกหัวตัวเองนัก”

 

เสฐียรพงษ์ วรรณปก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image