Lifestyle

'ล่องแม่เงา'คลายเหงาที่แม่ยวม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ล่องแม่เงา'คลายเหงาที่แม่ยวม : คอลัมน์ชวนเที่ยว : โดย..เรื่อง : นพพร วิจิตร์วงษ์/ภาพ : ธีรชัย เกรียงณรงค์เดช

\'ล่องแม่เงา\'คลายเหงาที่แม่ยวม
 
 
 
                        เรื่อยๆ สายน้ำไหลกับคนกลุ่มเล็กๆ ที่นั่งบนแพไม้ไผ่ ปล่อยให้สายน้ำฉุดกระฉากลากไป ช่วงไหนน้ำนิ่ง ค่อยค้ำถ่อให้แพเดินหน้าไปได้ 
 
                        สายน้ำใสๆ ของแม่เงา เป็นกระจกสะท้อนเงาคนบนแพ น้ำไม่ลึกในบางช่วง แต่บางช่วงก็ช่างลึกนักจนถ่อยันไม่ถึงพื้นน้ำ รายทางตั้งแต่บ้านหลุย
 
                        แม่น้ำแม่เงา อยู่ตอนใต้ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นแม่น้ำสายยาวที่ไหลผ่าน อุทยานแห่งชาติแม่เงา ที่มีพื้นที่มากกว่า 257,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อ.แม่สะเรียง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และอ.ท่าสองยาง จ.ตาก ช่วงที่ไหลผ่านอุทยานแม่เงา มีความยาวถึง 42 กิโลเมตร เริ่มจากบ้านสบโข่ง ถึงบ้านสบเงา 
 
                        แม่เงายังเป็นเส้นแบ่งจังหวัดระหว่างอ.ท่าสองยาง จ.ตาก กับอ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน จัดเป็นแม่น้ำที่น้ำใสมาก โดยเฉพาะในหน้าแล้งสามารถมองเห็นเงาที่สะท้อนอยู่ในน้ำได้ จึงเป็นที่มาของชื่อแม่น้ำ แต่ในฤดูฝนน้ำจะเชี่ยวมาก สองรายทางที่แม่น้ำเงาทอดผ่าน บางช่วงมีสภาพเป็นป่าดงดิบริมฝั่งน้ำ ส่งให้ธรรมชาติสวยงามขึ้นไปอีก แม่น้ำนี้ถือเป็นเส้นทางคมนาคมโดยทางเรือ ในการติดต่อกับอ.สบเมย ตลอดสายน้ำมีลำห้วยสาขาแยกออกไปหลายสาย 
 
                        จริงๆ ไปนอนเล่นตรงที่ทำการอุทยาน ที่มีสายน้ำแม่เงาไหลผ่าน ก็ว่าได้อารมณ์ของธรรมชาติสุดๆ แล้ว แต่ถ้ามีโอกาสได้ใกล้ชิดมากกว่านั้น แถมได้เห็นธรรมชาติรายทางของสายน้ำด้วยแล้ว ต้องบอกว่า ฟินฝุดๆ
 
                        ล่องแก่ง ล่องแพ เป็นกิจกรรมที่อยู่คู่กับสายน้ำธรรมชาติตามแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะแม่น้ำที่ไม่ได้ลึกนักในบางช่วง แล้วก็ไม่ได้กว้างใหญ่มากจนเกินไป แม่น้ำเงาไม่ได้มีแก่งเยอะ และแก่งโหดให้ต้องท้าทายอะไรมากนัก การล่องแพก็แค่ปล่อยให้แพไหลไปตามสายน้ำ จนเกิดเป็นคำถามจากหลายๆ คนว่า  "น่าเบื่อหรือเปล่า" 
 
                        บ้างก็ว่า "มันไม่มีลุ้นอ่ะ เซ็งป่าวๆ นั่งอยู่ในน้ำเป็นชั่วโมงๆ "
 
 
\'ล่องแม่เงา\'คลายเหงาที่แม่ยวม
 
 
 
                        แต่สำหรับคนที่หาโอกาสออกไปสัมผัสธรรมชาติได้ยาก หรือไปลุยป่า ปีนเขา มาเหนื่อยๆ รับรองว่า ต้องถูกใจกับวารีบำบัดของแม่เงาแน่ๆ 
 
                        ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว ที่ฉันชวนผู้อ่านไปเดินป่า ปีนเขาที่ปุยน้อย-ปุยหลวง ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่เงาไปแล้ว คราวนี้ขอลงมาพักขาในสายน้ำแม่เงา เพื่อเดินทางกลับที่ทำการอุทยานฯ บ้าง 
 
                        ลงจากปุยหลวงมาถึงบ้านแม่หลุยเหนือ ปาเข้าไปบ่ายโมง เจ้าหน้าที่มารอรับพร้อมกับข้าวมื้อเที่ยง จัดการข้าวเที่ยงกันบัดเดี๋ยวนั้นเลย เสร็จแล้วเดินทางกันต่อ นั่งรถไปอีกสักพักใหญ่ ก็ถึงจุดลงแพ ริมตลิ่งมีแพไม้ไผ่ผูก ที่ดูเหมือนผ่านการใช้งานมาแล้ว จอดรออยู่ 2 แพ พอรองรับตามจำนวนคณะเรากำลังดี 
 
                        แบ่งสรรปันส่วนลงไป 2 แพ เจ้าหน้าที่กับลูกหาบเปลี่ยนจากนำทางและช่วยแบกของ มาเป็นนายท้ายแพ และคนถ่อแพ
 
                        ลงน้ำช่วงแรกๆ ยังไม่ตื่นเต้นเท่าไหร่ สายน้ำไหลเอื่อยๆ ดูเหมือนจะลึกพอสมควร มือถ่อทำหน้าที่ของตัวเองไป นายท้ายก็คอยคัดให้แพลอยไปตามลำน้ำก่อน แต่ผ่านไปไม่นาน น้ำเหมือนจะไม่ลึกนัก ขนาดมองเห็นหินกรวดใต้ท้องน้ำ ตัวเริ่มชินกับสายน้ำ คราวนี้ก็ไม่มีใครห้ามใคร โดดน้ำเล่นกันสนุกสนาน กลัวลอยไปไกลก็จับแพ  
 
                        ฉันเกาะแพ ตัวแช่ในน้ำ ให้แพลากไปด้วย สายน้ำเย็นๆ ไหลรอบตัวเหมือนค่อยๆ นวดคลายความเมื่อยล้า ให้ค่อยๆ หมดไป 
 
 
\'ล่องแม่เงา\'คลายเหงาที่แม่ยวม
 
 
 
                        เสียงดนตรีแห่งป่า ที่ประสานกันทั้งเสียงนก เสียงน้ำ เสียงธรรมชาติรายรอบตัว บวกกับบรรยากาศของสายน้ำเอื่อยๆ ช่วยให้ชีวิตที่เคยเร่งรีบในเมืองใหญ่ผ่อนคลายลงได้บ้าง เสียดายแค่ฉันไม่ใช่นักดูนกที่ดีเท่าไหร่ เลยไม่ค่อยรู้จักว่าเป็นนกอะไร
 
                        ช่วงที่น้ำนิ่งๆ พี่นายท้ายก็ถ่อแพมาตีคู่ เป็นครอบครัวใหญ่ พุดคุย หยอกล้อกันไป พอถึงช่วงน้ำแรง ก็ตัวใครตัวมัน  เสียงพุดคุย เสียงหัวเราะของเพื่อนๆ ประสานกันเป็นระยะ จนบางช่วงที่น้ำนิ่งๆ ก็อดไม่ได้ที่จะถ่อแพมาตีคู่ ผูกกันไป เฮฮากันไป  
 
                        ชาวบ้านชายป่า หากินกับสายน้ำ ตกปลา จับปลา ค้นหาสินในน้ำเล็กๆ น้อย ที่พอจะประทังชีวิตไปได้ สายน้ำยังคงไหลไปเรื่อย นี่ละมั้งจึงเกิดสำนวน "สายน้ำไม่เคยไหลกลับ" ไม่เกี่ยวกับน้ำขึ้นน้ำลงนะ 
 
                        เวลาผ่านไปเป็นชั่วโมง ๆ โดยที่พวกเราไม่รู้สึกอะไร ก่อนไปเพื่อนที่บอกว่า ล่องแพนานเกิน จะเบื่อกัน กลับบอกว่า คราวนี้ทำไมมันสนุกกว่าที่คาด ฉันว่า นอกจากบรรยากาศรายรอบแล้ว มิตรภาพในหมู่คณะน่าจะเป็นตัวเสริมให้เกิดอรรถรสมากขึ้น ขนาดว่า แพมาถึงท่าน้ำตรงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแล้ว ยังรู้สึกว่ามันยังไม่สุด .... 
 
                        จริงๆ ถ้าเลยไปอีกไม่ไกลนัก ก็จะถึงบริเวณแม่น้ำสองสี ซึ่งเป็นจุดพักแรมอีกที่ มีหาดทรายกว้างๆ กับสายน้ำสองสีที่ตัดกันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ ก็แนะนำให้ไปกางเต็นท์ นอนเล่นริมน้ำ เมื่อรู้ว่าเป้าหมายของเราอยู่ที่บ้านแม่สามแลบ ริมสายน้ำสาละวิน แต่กว่าจะเดินทางไปถึงอาจจะค่ำกลางทาง 
 
 
\'ล่องแม่เงา\'คลายเหงาที่แม่ยวม
 
 
 
                        หลังจากจัดการเคลียร์ค่าใช้จ่ายต่างๆ ครบถ้วน อาบน้ำอาบท่า เปลี่ยนผ้า เก็บข้าวของกันเรียบร้อย ออกเดินทางต่ออีกหน่อย แวะซื้อเสบียงที่หมู่บ้านเล็กๆ ใกล้ทางเข้าอุทยานฯ แม่เงา  ไม่ไกลนักก็ถึงที่หมาย "แม่น้ำสองสี"
 
                        บริเวณที่ตั้งร่มรื่น ศาลาไม้ริมน้ำ กลายเป็นที่จับจองของพวกเรา ทิวเขาเบื้องหน้ามสายหมอกเคลียคลอ  สายน้ำที่ไหลมาจากฝั่งขวา สีขุ่นแดง เบียดแซงกับสายน้ำใสๆ ที่ไหลมาจากฝั่งซ้าย จุดบรรจบของสองสายน้ำ แบ่งสีกันเห็นได้ชัดเจน และยังคงแบ่งสีของลำน้ำไปอีกระยะทางหนึ่งก่อนที่จะผสานเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อไหลลงไปไกลๆ  สายน้ำสีขุ่นๆ นี่เอง คือแม่น้ำยวม
 
                        น้ำแม่ยวม ไหลมาจากอ.ขุนยวม ผ่านอ.แม่ลาน้อย อ.แม่สะเรียง มาบรรจบกับแม่น้ำเงาที่บ้านสบเงา ต.แม่สอด อ.สบเมย และไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเมยที่บ้านสบยวม ต.แม่สามแลบ แล้วไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำสายนี้ยาวประมาณ 215 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของจ.แม่ฮ่องสอน ช่วงที่ไหลผ่านอุทยานฯ ยาวประมาณ 14 กิโลเมตร อยู่ทางทิศตะวันตกของพื้นที่ แม่น้ำสายนี้ไหลจาก ทางทิศเหนือลงสู่ทางใต้ 
 
 
\'ล่องแม่เงา\'คลายเหงาที่แม่ยวม
 
 
 
                        บริเวณศาลาริมน้ำนี่เอง ยังเป็นจุดชมวิวอาทิตย์ตกลับเหลี่ยมเขาที่สวยงามอีกจุดหนึ่ง จับจองผูกเปลนอนกันตรงศาลาริมน้ำบ้าง ใต้ต้นไม้ใหญ่บ้าง ทริปนี้เลยเป็นทริปที่อิ่มเอมกับสายน้ำสายสำคัญของแม่ฮ่องสอนกันเต็มๆ 
 
                        สายน้ำยามปกติไหลเอื่อยๆ ให้ความรื่นรมย์ไม่น้อย แต่ถ้าในยามที่โกรธเกี้ยวไหลเชี่ยวกราก ก็พร้อมจะดาหน้าเข้าทำลายทุกอย่างที่ขวางทางเช่นกัน หากแต่วันนี้ ฉันเลือกไปทักทายสายน้ำในยามที่เธออารมณ์ดี และหวังว่าเธอจะอารมณ์ดีไปอีกนานๆ ขอแค่เราช่วยกันดูแลรักษา เพราะน้ำก็คือชีวิต ... 
 
 
 
 
ติดต่อล่องแพ : อุทยานแห่งชาติแม่เงา โทรศัพท์ : 0-5307-1471 
 
 
........................
 
('ล่องแม่เงา'คลายเหงาที่แม่ยวม : คอลัมน์ชวนเที่ยว : โดย..เรื่อง : นพพร วิจิตร์วงษ์/ภาพ : ธีรชัย เกรียงณรงค์เดช)
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ