Lifestyle

กระเป๋า'ผักตกชวา'โกอินเตอร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กระเป๋า'ผักตบชวา'โกอินเตอร์สร้างเงินล้านที่บ้าน'สันป่าม่วง'

          ผักตบชวาลอยเกลื่อนกว๊านพะเยา ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียเป็นปัญหาที่หลายหน่วยงานยังไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ "ผ่องศรี ปรีชาพงศ์มิตร" ประธานกลุ่มหัตถกรรมจักสานผักตบชวา ต.สันป่าม่วง อ.เมือง จ.พะเยา กลับเล็งเห็นโอกาสสร้างรายได้จากสิ่งที่หลายคนมองว่าไร้ประโยชน์ด้วยการนำมาสานกระเป๋าผักตบชวาสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านตำบลสันป่าม่วง ขณะเดียวกันก็ขยายเครือข่ายตำบลข้างเคียง รับออเดอร์ทั้งในและต่างประเทศ โกยรายได้แต่ละปีหลักล้านบาท
 
          ผ่องศรีเล่าให้ฟังว่า เริ่มนำผักตบชวามาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปี 2525 โดยชาวบ้านได้ใช้เวลาว่างหลังจากทำไร่ ทำนา หาของป่า และการประมง นำผักตบชวามาสานเป็นของชำร่วยและเปลญวน กระทั่งมีการพัฒนาเป็นกระเป๋าผักตบชวา หมวก ของชำร่วย เฟอร์นิเจอร์ และโคมไฟ จนปี 2540 ได้มีการก่อตั้งกลุ่มหัตถกรรมจักสานผักตบชวาขึ้น มีสมาชิกเป็นชาวบ้านตำบลสันป่าม่วงเริ่มแรกจำนวน 15 คน เมื่อสานผลิตภัณฑ์เสร็จแล้วก็เร่ขายตามหมู่บ้าน ต่างคนต่างขาย ไม่ได้มีการวางแผนการตลาดที่เป็นรูปแบบ
 
          ทั้งนี้ มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อสินค้าแต่พบว่าถูกกดราคา และการที่ไม่ได้มีการกำหนดราคาที่เป็นทางการจึงทำให้ชาวบ้านขายตัดราคากันเอง สุดท้ายก็ขาดทุน ไม่สามารถอยู่รอดได้ จึงมีการพูดคุยหารือกันใหม่ภายในกลุ่มกำหนดราคาที่แน่นอน  และได้มีการวางแผนเชิงรุกในการทำให้กระเป๋าผักตบชวาเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยปี 2542 ได้เริ่มออกงานแสดงสินค้าที่กรุงเทพฯ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สินค้าขายหมด มีคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก แม้ว่าจะขาดทุนก็ตาม
 
          "ครั้งแรกที่ทางกลุ่มขนกระเป๋าผักตบชวาไปขาย เราขายราคาใบละเพียง 130 บาท ขายราคาต้นทุนจริงๆ ไม่ได้มีการบวกค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าที่พักอาศัย ชาวบ้านก็ขาดทุนกันถ้วนหน้า แต่สิ่งที่เราได้กลับมาคือออเดอร์ที่เข้ามาจำนวนมาก สินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้น หลังจากนั้นปี 2543 ได้มีการจัดงานโอท็อปที่ จ.เชียงใหม่ ตลอดการจัดงาน 10 วัน ขายกระเป๋าผักตบชวาได้กว่า 1.2 แสนบาท ซึ่งชาวบ้านในหมู่บ้านกว่า 70 คนก็ตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่ม และขยายไปใน ต.สันป่าม่วงอีก 220 คน ขณะนี้มีสมาชิกตำบลข้างเคียงรวมแล้วกว่า 620 คน" ผ่องศรีกล่าว
 
          สำหรับวัตถุดิบที่ใช้กว่า 90% จะเป็นผักตบชวาในพื้นที่ จ.พะเยา โดยจะมีกลุ่มประมงพื้นบ้านนำมาจำหน่ายให้ในราคากิโลกรัมละ 30-35 บาท สามารถนำมาใช้สานได้เลย ขณะที่อีก 10% จะสั่งซื้อจาก จ.สุพรรณบุรี เนื่องจากช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ผักตบชวาในพื้นที่กว๊านพะเยาจะมีก้านสั้นมากจนไม่สามารถนำมาสานเป็นกระเป๋าได้ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวจำเป็นต้องสั่งซื้อจากนอกพื้นที่ แต่ก็ปริมาณไม่มากนักเพียงแค่ 100 ถุง ถุงละ 50 กิโลกรัมเท่านั้น
 
          "แต่ละวันจะใช้ผักตบชวาประมาณ 6 หมื่นก้าน กระเป๋าแต่ละใบจะใช้ผักตบชวาเฉลี่ย 200 ก้าน ซึ่งสมาชิกในกลุ่มจะสานกระเป๋าได้วันละ 200-300 ใบ กระเป๋าแต่ละใบจะใช้เวลาทำประมาณ 2-3 วัน มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 5-6 ปี สำหรับราคาจำหน่ายหากเป็นขายส่งจะอยู่ที่ใบละ 190 บาท หากขายปลีกราคาใบละ 220-250 บาท ขึ้นกับขนาด" ผ่องศรีกล่าว 
 
          ประธานกลุ่มหัตถกรรมจักสานผักตบชวาคนเดิมย้ำด้วยว่า ในส่วนของลูกค้านั้น 70% จะเป็นคนไทย ที่รับสินค้าไปจำหน่ายที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ลูกค้าโดยส่วนมากจะมีแบบกระเป๋า ระบุสีที่ต้องการมาให้ ซึ่งสมาชิกก็จะผลิตตามออเดอร์ และอีก 30% จะเป็นลูกค้าต่างชาติ ทั้งญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เยอรมนี อเมริกา และสวีเดน โดยจะเป็นทั้งการสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ www.phayaopuktobchawa.com และอีกส่วนหนึ่งจากการได้พบเห็นสินค้าจากการออกงานแสดงสินค้า และมีความชื่นชอบ โดยแต่ละปีกลุ่มจะมีรายได้ประมาณ 1-2 ล้านบาท นับเป็นการสร้างอาชีพเสริมรายได้ให้แก่สมาชิกกลุ่มได้เป็นอย่างดี

"วรัทยา ไชยลังกา"

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ