สมเด็จพระพุทธพจวชิรมุนี (มนตรี คณิสสโร) กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดเครือวัลย์วรวิหาร ประธานฝ่ายสงฆ์ ประกอบพิธีเจิมป้ายหอศิลปาจารย์ จ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ บุคคลดีเด่นของชาติ จากนั้น หม่อมหลวงสราลี กิติยากร ประธานฆราวาส เป็นประธานเปิดหอศิลปาจารย์ จ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาเที่ยวชม หอศิลปาจารย์คนแรกของประเทศไทย ที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี อ.เมือง จ.พิษณุโลก

ภายในหอศิลปาจารย์ จัดแสดงนิทรรศการ ความเป็นมา ประวัติ ของจ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ และการแสดงพระพุทธชินราชจำลองรุ่นต่างๆ ที่ผ่านการหล่อหลอมฝีมือ จ่าสิบเอกทวีมาตลอดกว่า 50 ปี จนเป็น ผู้มีชื่อเสียงและเป็นครูในด้านการหล่อพระพุทธรูป โดยเฉพาะการหล่อพระพุทธชินราชจำลองอย่างสวยงาม

นายอนุกูล ใบไกล ผอ.กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กล่าวว่า สำหรับศิลปาจารย์เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้ที่มีคุณูปการทางด้านศิลป ซึ่งจะเป็นคนละประเภทกับศิลปินแห่งชาติ เพราะศิลปินแห่งชาตินั้น แบ่งเป็น 3 สาขาคือ สาขาศิลปการแสดง สาขาวรรณศิลป์ และสาขาทัศนศิลป์ แต่กระทรวงวัฒนธรรมเล็งเห็นว่ายังมีครูช่างจากทั่วประเทศ ที่มีความรู้ความสามารถและเป็น ครูผู้ให้ เป็นครูผู้ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับลูกศิษย์ลูกหามาโดยตลอด เป็นผู้สืบสาน และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมที่ดีของชาติ ควรจะมีรางวัลสำหรับบุคคลเหล่านี้ กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2565 ได้มอบรางวัลศิลปาจารย์ท่านแรก เป็นบุคคลผู้ให้ผู้ที่เป็นครูผู้ที่สืบสานต่อยอดมรดกทางภูมิปัญญาวัฒนธรรมของชาติเป็นที่ยอมรับ นั่นคือ จ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ นั่นเอง

ในการนี้ หม่อมหลวงสราลี กิติยากร, นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าฯ พิษณุโลกเดินชมภายในหอ ป้าย หอศิลปาจารย์ จ่าสิบเอกทวี บุคคลดีเด่นของชาติ ซึ่งภายในหอศิลป์รวบรวมเรื่องราวประวัติของจ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ และเหตุการณ์สำคัญของจังหวัดพิษณุโลก รวมถึงประวัติการจัดสร้างองค์พระพุทธชินราชต่างๆ ภายในหอศิลป์ได้บรรจุรางวัลต่างๆ ของจ่าสิบเอกทวี ที่ได้รับอีกด้วย

โดยห้องจัดแสดงพระพุทธชินราช รุ่น ภปร. ที่นำผ้าทิพย์และพระปรมาภิไธยย่อ ภปร.ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ประดิษฐาน ไว้ที่ผ้าทิพย์ด้านล่างองค์พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปที่มียอดสั่งจองจำนวนมาก มีพระเกจิอาจารย์ทั่วฟ้าเมืองไทย ประกอบพิธีพุทธาภิเษกรุ่นนี้มากที่สุด รวมไปถึงพระพุทธชินราชมาลาเบี่ยง และการจัดแสดงพระเก่าก่อนปี พ.ศ.2520 ที่จ่าสิบเอกทวีได้ปั้น อาทิ พระพุทธชินราช พิธีมหาจักรพรรดิ ที่สร้างในปี พ.ศ.2515 รุ่น มวก. และรุ่นอื่นๆ อีกหลากหลาย

นอกจากนี้ ยังจัดแสดงพระพุทธชินราช นวัตกรรมใหม่ ที่พัฒนาเทคนิคการเคลือบผิว ให้องค์พระมีความสวยงามมากยิ่งขึ้นคือ การเคลือบผิวทองคำบริสุทธิ์ 99.9% องค์พระจะสวยงาม เป็นนวัตกรรมสะอาด ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม เคลือบในเตาสุญญากาศด้วยทองคำแท่งบริสุทธิ์ ค่อยๆ หลอมละลายให้ เป็นน้ำ ห้องที่จัดทำจะเป็นห้องสุญญากาศ กว้าง 1.50 เมตร โดยบรรจุองค์พระเข้าไป โดยใช้ไอออนยิงเข้าไปที่แท่งทองคำ เพื่อให้ไอออนทองคำหลุดลงมาเคลือบองค์พระ ลวดลายต่างๆ ที่อยู่บนองค์พระจะครบสมบูรณ์แตกต่างจากการปิดทอง

ซึ่งการปิดทองหากขูดขีดแล้ว จะสามารถลอกได้ บางจุดที่เป็นรายละเอียดขนาดเล็กจะหายไป โดยนวัตกรรมใหม่นี้จะประหยัดกว่าการปิดทอง 20-30% เก็บรายละเอียดได้มากกว่า และสวยงามกว่า

จากนั้นได้มีพิธีมหาพุทธาภิเษก พระพุทธชินราชบูชา รุ่น 666 ปี ทวีโชค โดยสกุลช่างพิษณุโลก เพื่อหารายได้ในการจัดสร้าง หอศิลปาจารย์ และส่วนหนึ่งเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียนนักศึกษาที่ยากจน ในนามมูลนิธิจ่าสิบเอกทวี พิมพ์ บูรณเขตต์

ภายในพิธีมหาพุทธาภิเษก นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก จุดเทียนวิปัสสี พระเกจิคณาจารย์ 16 รูปนั่งปรกอธิษฐานจิต พระพิธีธรรม สวดคาถาจุดเทียนชัยและคาถาพุทธาภิเษก ตลอด 1 ชั่วโมง 6 นาที

ผู้สนใจสั่งจองพระพุทธชินราชจำลองรุ่น 666 ปี ทวีโชค โดยพระพุทธชินราชจำลอง จัดสร้างขนาดหน้าตัก 5.9 นิ้ว 9 นิ้ว และ 12 นิ้ว สั่งจองได้ที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี อ.เมือง จ.พิษณุโลก

อนุชา แก้วคำมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน