กลุ่มคนที่รักงานผ้าฝ้าย น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก “บ้านดอนหลวง” ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เพราะเป็นหมู่บ้านชาวยอง ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานกว่า 200 ปี

ชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทอผ้าฝ้ายที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจและเป็นเมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองใหญ่อย่างลำปางและเชียงใหม่ มีการไหลบ่าของผลิตภัณฑ์และสินค้าเชิงอุตสาหกรรมที่มีราคาถูกเพื่อดึงดูดแรงซื้อจากกลุ่มลูกค้า ทำให้ชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ต้องปรับตัว จนเกิดภาพจำที่ลดทอนมูลค่างานหัตถกรรมผ้าฝ้ายทอมือบ้านดอนหลวง และงานฝีมือผ้าฝ้ายก็กำลังเลือนรางไป

พี่เด่น บ้านดอนหลวง หรือนายจักรกฤษณ์ ตาน้อย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยววิถีชุมชนบ้านดอนหลวง เล่าว่า ได้รวมกลุ่มคนบ้านดอนหลวงรุ่นใหม่ไฟแรง 7-10 คน ซึ่งมีทั้งที่เป็นผู้ประกอบการงานผ้าฝ้ายและคนที่รักความเป็นชาวยองรักถิ่นฐานบ้านเกิด ต้องการสร้างภาพจำที่เป็นอัตลักษณ์ โดยใช้ชื่อกลุ่ม “เหย่ะลายดี” ซึ่งคำว่า “เหย่ะ” เป็นภาษายอง หมายถึง “ทำ” และนำ “ลายลูกแก้ว” ซึ่งเป็นลายพื้นฐานผ้าทอ มาดัดแปลงเป็นลายกราฟิก จนกลายเป็นโลโก้ของกลุ่มเพื่อใช้สื่อสารสร้างการจดจำ

โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้เข้ามาช่วยเติมเต็มและพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งได้ช่วยกันพัฒนาและออกแบบกิจกรรมงานเวิร์กช็อป และนำศักยภาพของชุมชนมาเป็นการท่องเที่ยว

จนช่วงเวลากว่า 1 ปี ทำให้วันนี้กลุ่ม “เหย่ะลายดี” พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวสายเวิร์กช็อปแล้ว

กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวจะได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในชุมชนแห่งนี้ คือการได้ลองปักผ้าและการมัดย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติที่ไม่ว่าใครๆ ก็ทำได้ และยังสนุกกับการได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างงานที่มีชิ้นเดียวในโลก เป็นงานฝีมือที่จะทำให้นักท่องเที่ยวได้ภูมิใจ และอาจต้องประหลาดใจกับการค้นพบศักยภาพของตัวเอง จนพัฒนากลายเป็นงานอดิเรกหรืออาชีพได้ด้วย

นอกจากนั้น ยังได้ลองทำและลิ้มชิมรสความอร่อยกับเมนู “หมี่สะแน็ต” หรือ “ยำผักรวม” อาหารพื้นบ้านของชาวยอง และ “พิซซ่าเตาเผา สูตรซอสอีดอ” ที่ได้นำลำไยพันธุ์อีดอ ผลไม้ของดีจังหวัดลำพูน มาคิดค้นจนมีรสชาติอร่อยได้สัมผัสเนื้อลำไยในรูปแบบพิซซ่า ก็เป็นกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนานและได้เรียนรู้วิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของชาวยอง ผ่านการบอกเล่าของเหล่าวิทยากรที่เป็นกันเอง ทำให้บรรยากาศการเวิร์กช็อปเป็นเหมือนเพื่อนมาเที่ยวบ้าน และเหมือนลูกหลานที่รอต้อนรับ ดูแลและเอาใจใส่เป็นอย่างดี การทำเวิร์กช็อปจึงเป็นการพักผ่อนและผ่อนคลายไปในตัว

จุดสตูดิโอของกลุ่ม ยังอยู่ในชุมชนที่เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยว ที่มีทั้งโฮมสเตย์ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และแหล่งจำหน่ายของที่ระลึก โดยนักท่องเที่ยวสามารถเดินเที่ยวเล่น และมานอนพักค้างแรมได้ เนื่องจากไม่ไกลจากตัวเมืองลำพูน

นางศุภรดา กานดิศยากุล รักษาการ รองผู้จัดการ อพท.6 และนางสาวมยุรี ศรีสุริยพงศ์ เจ้าหน้าที่พัฒนาพื้นที่พิเศษ ได้จัดกิจกรรมทดลองท่องเที่ยวโดยชุมชน (product testing) เพื่อเชื่อมโยง ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวให้แก่ชุมชนดอนหลวง โดยมี นายจักรกฤษณ์ เอ่งฉ้วน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำพูน พร้อมด้วยชมรมมัคคุเทศก์จังหวัดน่าน ร่วมกิจกรรม เพื่อให้คำแนะนำและพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของบ้านดอนหลวง

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ พบว่ามีศักยภาพในการเป็นเส้นทางการท่องเที่ยว ที่สอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดลำพูน และมีความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวหลังช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่กำลังผ่อนคลายลง

โดย อพท.6 และท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำพูน จะยัง ช่วยสนับสนุนในทุกด้านโดยเฉพาะด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้บริษัททัวร์ และกลุ่มนักท่องเที่ยวได้รู้จัก “เหย่ะลายดี” การท่องเที่ยววิถีชุมชนที่บ้านดอนหลวง

จะทำให้ชุมชนแห่งนี้เป็นที่รู้จักอย่างมีอัตลักษณ์มากยิ่งขึ้น

ระรินธร เพ็ชรเจริญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน