วัดนันตาราม-พะเยา วิหารไม้สักงดงาม – วัดนันตาราม ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ 13 ต.หย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา อยู่ห่างจากที่ว่าการ อ.เชียงคำ มาทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร ห่างจากตัว อ.เมือง จ.พะเยา ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1021 ประมาณ 70 กิโลเมตร

พระอธิการสันติ ชยธมโม เจ้าอาวาสวัดนันตารามเล่าประวัติว่า การก่อสร้างวัดนันตารามไม่ปรากฏว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด เป็นวัดประจำชุมชนชาวไทยใหญ่ แต่เดิมเรียก “วัดจองคา” เพราะมุงด้วยหญ้าคา

ประชาชนทั่วไปนิยมเรียก “วัดม่าน” หรือวัดจองเหนือ เพราะอยู่ทางทิศเหนือของเทศบาลตำบลเชียงคำ ต่อมาแม่นางจ่ามเฮิงได้บริจาคที่ดิน 5-1-72 ไร่ สำหรับขยายอาณาเขตของวัด รวมเนื้อที่วัดทั้งสิ้น 8-1-72 ไร่

วัดนันตารามเริ่มสร้างในปี พ.ศ.2467 โดยพ่อตะก่านันตา อู๋. วงศ์อนันต์ คหบดีชาวปะโอ (ตองสู) ผู้มีศรัทธาแรงกล้าที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ได้บริจาคทรัพย์เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะและเป็นเจ้าภาพสร้างวิหารหลังใหม่แทนหลังเดิมที่มุงหญ้าคา

โดยได้ว่าจ้างช่างชาวไทย พม่า และไทยใหญ่ มาออกแบบและก่อสร้างเป็นวิหารไม้ทั้งหลัง รูปทรงศิลปะแบบพม่า หลังคาหน้าจั่วยกเป็นช่อชั้นลดหลั่นกันสวยงาม มุงด้วยแป้นเกล็ด (แผ่นไม้) เพดานประดับด้วยกระจกสีลวดลายวิจิตรพิสดารไม่ซ้ำกัน ใช้ทุนก่อสร้าง 45,000 บาท การปฏิสังขรณ์และก่อสร้างครั้งใหญ่ใช้เวลาร่วม 10 ปี

และเพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีและเป็นอนุสรณ์ของพ่อตะก่านันตา อู๋. รวมถึงเป็นเกียรติแก่ตระกูลวงศ์อนันต์ จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดจาก “วัดจองคา” เป็น “วัด นันตาราม”

ภายในวิหารยกเป็น 3 ชั้น ชั้นสูงสุดคือชั้นพุทธะ เป็นชั้นประดิษฐานของพระประธานและพระพุทธรูป รองลงมาเป็นชั้นของพระสงฆ์ อยู่บริเวณอาสนะหน้าพระพุทธรูป และชั้นสุดท้ายคือชั้นที่นั่งของอุบาสก อุบาสิกา ลดหลั่นตามลำดับ เสาในวิหารมีทั้งหมด 68 ต้น ลงรักปิดทอง 40 ต้น เพดานลงลวดลายประดับด้วยกระจก เป็นศิลปะแบบมัณฑะเลย์

พระอุโบสถ เป็นศิลปะแบบผสมล้านนา สร้างเมื่อปี 2515 และเป็นปีที่วัดนันตารามได้ขึ้นตรงต่อคณะสงฆ์ไทย จากเดิมขึ้นตรงต่อคณะสงฆ์พม่า วัดท่ามะโอ จ.ลำปาง

ส่วนพระประธานในพระอุโบสถคือ หลวงพ่อยิ้ม ปางมารวิชัยถือปูน ลงรักปิดทอง พ่อสล่าหนานโอง กันทะมาลา และพ่อเฒ่าส่างหลวง บุญเจริญ ผู้ออกแบบและปั้น

นอกจากนี้ ยังมีพระพุทธรูปเก่าแก่อีกหลายองค์ ได้แก่ พระพุทธปฏิมาประธานไม้สักทอง (พระพุทธเมตตา) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทรงเครื่องแบบมัณฑะเลย์ แกะสลักด้วยไม้สักทองขนาดใหญ่ทั้งองค์ ขนาดหน้าตักกว้าง 51 นิ้ว สูงจากฐานถึงยอดเกศาประมาณ 9 ศอก ประดิษฐานบนสิงหบัลลังก์ไม้ ประดับลวดลายและกระจกสี

ชั้นบนสุดเป็นเรื่องราวในพระเวสสันดรชาดก มีแผงไม้กั้น ด้านหลังฐานเป็นไม้ฉลุแบบมัณฑะเลย์ ประกอบด้วย ลวดลายเครือเถา มีเทวดา (คิวปิด) เป็นเทพแห่งความรัก คาดว่าได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตก เพราะสร้างในสมัยที่พม่าเป็นคนในบังคับของอังกฤษ และสัตว์หิมพานต์ ล่างสุดเป็นนางนกกิง กะหร่า (นางกินรีหรือกินนร)

ทั้งหมดสร้างจากไม้ต้นเดียวกัน มีพุทธอัครสาวก คือ พระสารีบุตร ประกอบเบื้องขวา พระโมคคัลลานะ ประกอบเบื้องซ้ายของพระประธาน อัญเชิญจากวัดจองเหม่ถ่า ต.ออย อ.ปง จ.พะเยา ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้าน ดอนแก้ว

ในวัดยังมีพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์อีกหลายองค์ ได้แก่ พระเจ้าแสนแซ่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยอาณาจักรโยนกเชียงแสน อายุประมาณ 1,000 ปี ปัจจุบันกรมศิลปากรได้จดทะเบียนรับรองเป็นโบราณวัตถุ สร้างขึ้นโดยช่างศิลป์ในสมัยเชียงแสน ทำเป็นชิ้นสามารถถอดและประกอบเข้าด้วยกัน โดยมีสลักหรือแซ่ ตอกให้ชิ้นส่วนขององค์พระเข้าด้วยกันกระชับแน่น มั่นคง

ปัจจุบันชิ้นส่วนของพระเจ้าแสนแซ่ที่สามารถขยับได้คือ ข้อพระกรด้านซ้ายเพียงอย่างเดียว

พระพุทธรูปเกสรดอกไม้ สร้างจากดอกไม้หอมนานาชนิดในเมืองตองกี ประเทศพม่า ซึ่งนำมาตากแห้งและบดให้ละเอียดผสมกับยางรัก เถ้าฟางเผาคลุกกับดินจอมปลวก หรืออิฐปูนปั้นเป็นพระพุทธรูปลงรักปิดทอง

พระพุทธคเววมังคลโสมนันทิชิยราช (หลวงพ่อสุขใส) หมายถึง “พระพุทธรูปเนื้อทองเหลืองที่เป็นหนึ่งในมงคลศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ ณ วัดนันตาราม” เป็นศิลปะแบบพม่ามัณฑะเลย์

พระพุทธรูปหินขาว (หยกขาว) เป็นพุทธศิลปะแบบพม่า

พระเจ้าทันใจ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง รูปแบบสิงห์ 1 โดยทำการปั้นองค์พระสำเร็จเสร็จสิ้นในเวลา 1 วัน นับเป็นพระพุทธรูปที่พุทธศาสนิกชนทั่วไปนิยมกราบไหว้สักการะขอพร

นอกจากนี้ ยังมีเจดีย์ยี่สิบห้าศตวรรษ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน สร้างเมื่อปี 2500 ลักษณะเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม, หออูเตงหมอง (พิพิธภัณฑ์) ห้องสะสมของเก่าโบราณ และปราสาท ส.อุไร เป็นที่ประดิษฐานขององค์พระแม่กวนอิม ผนังและเพดานตกแต่งด้วยไม้แกะสลักเล่าเรื่องพุทธประวัติอย่างงดงาม

นับแต่ พ.ศ.2452 ถึงปัจจุบันมีเจ้าอาวาสทั้งสิ้น 19 รูป และ พระอธิการสันติ ชยธมโม รักษาการเจ้าอาวาสตั้งแต่ 2558 และเป็น เจ้าอาวาสจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันวัดนันตารามได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวประจำจ.พะเยา มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมสักการะและถ่ายรูปวิหารไม้สักที่ใหญ่ที่สุดในพะเยา

น้ำตกภูซาง

“ภูซาง” ไม่เพียงเป็นอำเภอชายแดนจ.พะเยา ที่มีจุดผ่อนปรนสามารถเข้า-ออกสปป.ลาวได้เท่านั้น แต่ยังเป็น ที่ตั้งของน้ำตกอุ่นเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยคือ “น้ำตกภูซาง”

รถยนต์ที่แล่นอยู่บนเส้นทางหลวง แผ่นดินระหว่างเชียงคำ-บ้านฮวก ออกจากเชียงคำขึ้นเหนือประมาณ 8 กิโลเมตร ถึงป้อมยามกาญจนาเลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันออก มุ่งหน้าไปอีกประมาณ 8 กิโลเมตร ถึงสามเเยกบ้านม่วงชุม จะมีป้ายบอกทางไป “อุทยานแห่งชาติภูซาง” แล้วเดินทางต่อไปจนพบป้ายบอกสถานที่แหล่งท่องเที่ยวอันงดงามแห่งนี้ตั้งตระหง่านอยู่ด้านซ้ายมือ จากนั้นไม่ถึง 500 เมตรจะได้ยินเสียงน้ำตกไหลเย็นระเรื่อย น่าพักกายา ยิ่งนัก

น้ำตกมีสองชั้น ชั้นบนตกลงมาถึงโขดหินปูนที่ลาดเตี้ยๆ แล้วไหลลงแม่น้ำไปอย่างไม่หวนกลับ

เมื่อสูดความสดชื่นจนพอใจแล้ว ก็เดินเลาะไปตามสะพานปูนที่พาดจากพื้นดินข้ามไปยังด้านข้างน้ำตก เพื่อเดินเท้าปีนขึ้นไปชมและศึกษาเส้นทางธรรมชาติจากจุดน้ำตกจนถึงบ่อซับน้ำอุ่นอันเป็นต้นน้ำของน้ำตกภูซาง

ติดต่อข้อมูลท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูซาง ที่โทรศัพท์ 0-5440-1099 อีเมล์ [email protected] หรืองานบริการบ้านพัก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช www.dnp.go.th

โดย สายอรุณ ปินะดวง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน