“ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์”

นักโบราณคดีเชื่อกันว่า วัดมหาธาตุ สุโขทัย ซึ่งตั้งห่างจากวัดมหาธาตุเมืองเชลียงประมาณ 50 กิโลเมตร น่าจะสร้างกันประมาณปีพุทธศตวรรษที่ 18 และมีการบูรณปฏิสังขรณ์ในต้นพุทธศตวรรษที่ 19

การไม่ยอมยกกองทัพเข้าเมืองสุโขทัยของพ่อขุนผาเมือง (ที่เชื่อกันว่าเป็นผู้สร้างวัดมหาธาตุเมืองเชลียง) ภายหลังการปราบปรามขอม สบาดโขลญลำพง โดยให้ พ่อขุนบางกลางหาวยกกำลังเข้ายึดครองสุโขทัย พร้อมสถาปนาตำแหน่งศรีอินทราทิตย์ให้ด้วย เป็นสัญญาณชี้บอกว่าเมืองสุโขทัยเป็นชุมชนใหญ่และเก่าแก่ เป็นศูนย์อำนาจทางสังคมและเศรษฐกิจระดับสำคัญของลุ่มน้ำยม

การสถาปนาวัดมหาธาตุขึ้นกลางเมืองสุโขทัยจึงเป็นการประกาศความสำคัญและความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนด้วยการรังสรรค์รูปแบบของเจดีย์ที่เรียกว่าเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์

อันเป็นสัญลักษณ์เฉพาะของสถาปัตย กรรมสมัยสุโขทัย (ทับลงบนสถูปหรือเจดีย์ที่มีอิทธิพลศิลปะสถาปัตย์ขอม ที่ชื่อว่ามีรูปทรงชั้นเดียวกับเจดีย์ทิศที่อยู่รายรอบ)

แผนผังของวัดมหาธาตุ สุโขทัย เป็นแผนผังที่เกิดจากคติจักรวาลทัศน์ เช่นเดียวกับ/หรือมีอิทธิพลต่อมายังวัดมหาธาตุอีกหลายวัดตลอดมา

กล่าวคือ ด้านหน้ามีวิหารหรืออุโบสถอันหมายถึงชมพูทวีปที่จะมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นเพื่อสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์ มีพระมหาเจดีย์เป็นดั่งศูนย์กลางจักรวาลทัศน์ เป็นเขาพระสุเมรุหรือเป็นดั่งมณฑลเกษตรที่มีพระพุทธเจ้าประทับอยู่ตามคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งเคยมีความเชื่อตามอิทธิพลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่มีอำนาจครอบคลุมมาถึง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน