ฮือฮา! เซียนหวยตะลึง เลขหางประทัด 2-3 ตัวตรง โผล่กลางพิธีบวงสรวงศาลหลักเมืองหรือ ‘สะดือเมือง’ แพร่ ร่างทรง 29 ชีวิตร่ายรำถวาย

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.66 ที่ศาลหลักเมืองแพร่ ถนนคุ้ม้ดิม ต.ในเวียง อ.เมือง จ.แพร่ นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานประกอบพิธีบวงสรวงศาลหลักเมืองแพร่ ประจำปี 2566 โดยมี นางณัชชา มีจันทร์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดแพร่ นายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนชาวจังหวัดแพร่ ร่วมพิธีคับคั่ง

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีอันงดงามของท้องถิ่น และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ประชาชนชาวจังหวัดแพร่ โดยประกอบพิธีจุดธูป เทียน บูชาพระสยามเทวาธิราช ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในศาลหลักเมืองแพร่ จุดเทียนเครื่องบวงสรวง พราหมณ์กล่าวชุมนุมเทวดา จากนั้นผูกผ้าสี ติดแผ่นทองบนเสาหลักเมืองแพร่ และร่วมกันโปรยดอกไม้ ปักธูปเครื่องบวงสรวงเซ่นไหว้

หลังประกอบพิธีเสร็จชาวแพร่ที่ไปร่วมประกอบพิธี ต่างพากันส่องเลขหางประทัดและมีร่างทรง จำนวน 29 ร่างทรง ที่เดินทางมาร่วมรำถวาย ชาวบ้านต่างก็สอดส่ายหางตาหาเลขเด็ดกัน โดยเลขหางประทัดคือ 907, 93, 76 ต่างนำมือถือขึ้นมาถ่ายภาพ เพื่อนำไปเสี่ยงโชคในวันที่ 16 มิ.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับศาลหลักเมืองแพร่ แต่เดิมนั้นชาวบ้านเรียกกันว่า “สะดือเมือง” ตั้งอยู่บนถนนคุ้มเดิม เยื้องจวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ มีหลักเมืองเดิมเป็นรูปใบเสมา เรียกกันว่า ศิลาจารึกศาลหลักเมืองแพร่ ถูกนำมาไว้ใจกลางเมือง ซึ่งถือว่าเป็นที่ตั้งของศาลเล็กๆ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “สะดือ”

เดิมมีสภาพเป็นพื้นที่ร่มรื่นมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ เป็นที่ตั้งของศาลเล็กๆ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตูบผี” ต่อมาพื้นที่ถูกถางตัดต้นไม้ใหญ่ออก และนำหลักศิลาจารึกหลักหนึ่งที่พบในวัดร้างศรีบุญเริง (ปล.) บริเวณเรือนจำจังหวัดแพร่มาไว้ แล้วยึดถือเป็นหลักเมืองแพร่

ต่อมาในปี 2535 กระทรวงมหาดไทยมีนโยบายให้สร้างศาลหลักเมืองขึ้น จังหวัดแพร่จึงจัดสร้างศาลหลักเมืองเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ศิลปะแบบล้านนา ลงรักปิดทองประกอบด้วยเสาไม้สักขนาดใหญ่ในผนังปูนอย่างกลมกลืนทั้งสี่มุม และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ฯ ทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2536 สร้างโดยหลวงปู่โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ตามแบบของสำนักงานโยธาธิการจังหวัดแพร่

และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ฯ ทรงเปิดศาลหลักเมืองแพร่ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2537 มีการบูรณะปรับปรุงพัฒนาให้มีสภาพที่สวยงามอย่างต่อเนื่อง เป็นศูนย์รวมใจของคนจังหวัดแพร่ และมีพิธีบวงสรวง สืบชะตาเมืองแพร่ ณ ศาลหลักเมืองแพร่แห่งนี้เป็นประจำทุกปี ปัจจุบันศาลหลักเมืองแพร่ตั้งอยู่เยื้องๆกับคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ติดกับโรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน