องค์การบริหารส่วนตำบล ห้วยไคร้

Huaikrai Subdistrict Administrative Organization

www.huaikrai.go.th

พระธาตุดอยตุง

ประกาศเมื่อ 25 มกราคม 2564 เวลา 15.26 น. เปิดอ่าน 6205 ครั้ง พิมพ์




พระธาตุดอยตุง
ตั้งอยู่บริเวณ กม. ที่ 17.5 ของทางหลวงหมายเลข 1149 อยู่ในเขต หมู่ 2 บ้านห้วยไคร้ใหม่ ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย (เขต อบต.ห้วยไคร้) องค์พระธาตุดอยตุงเป็นที่บรรจุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้า นำมาจากมัธยมประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ได้มาประดิษฐานที่ล้านนาไทย เมื่อก่อสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนี้ ได้ทำธงตะขาบ (ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ตุง) ใหญ่ยาวถึงพันวา ปักไว้บนยอดดอย ถ้าหากปลายธงปลิวไปไกลถึงเมืองไหน ก็จะกำหนดเป็นฐานพระสถูป เหตุนี้ดอยซึ่งเป็นที่ประดิษฐานปฐมเจดีย์แห่งล้านนาไทย จึงปรากฏนามว่า ดอยตุง พระธาตุดอยตุงเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ เมื่อถึงเทศกาลนมัสการพระธาตุดอยตุงในวันเพ็ญเดือน 3 จะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและเพื่อนบ้านจากประเทศใกล้เคียง เช่น ชาวเชียงตุงในรัฐฉาน ประเทศสหภาพพม่า ชาวหลวงพระบาง เวียงจันทน์ เดินทางเข้ามานมัสการทุกปี พระธาตุดอยตุงถือเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีกุน ที่นิยมมาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล
ตามตำนาน
มีว่า เดิมสถานที่ตั้งพระบรมธาตุดอยตุง มีชื่อว่า ดอยดินแดง อยู่บน เขาสามเส้น ของพวกลาวจก เมื่อปี พ.ศ. 1452 พระมหากัสสะปะเถระเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ได้อาราธนาอัญเชิญเอายังพระบรมสารี ริกธาตุกระดูกไหปลาร้า(พระรากขวัญเบื้องซ้าย) ของพระพุทธเจ้า มามอบถวายแด่พระเจ้าอุชุตราชเจ้าผู้ครองนครนาคพันธ์โยนกชัยบุรี รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์สิงหนวติ ผู้ครองนครโยนกนาคนคร เป็นประธานพร้อมด้วยมุขมนตรีเสวกอำมาตย์ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์ ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุขึ้นมาบรรจุสร้างขึ้น ณ ที่ดอยดินแดง (คือดอยตุงปัจจุบัน) พระมหากัสสป ได้นำพระบรมสารีริกธาตุในส่วนของพระรากขวัญเบื้องซ้าย (ไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้ามาถวาย ซึ่งตรงตามคำทำนายของพระพุทธองค์ว่า " ที่ดอยดินแดงแห่งนี้ ต่อไปจะเป็นที่ประดิษฐานพระมหาสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในภายภาคหน้า" พระเจ้าอุชุตะราช มีพระราชศรัทธา ได้เรียกหัวหน้าลาวจกมาเฝ้า พระราชทานทองคำจำนวนแสนกษาปณ์ ให้เป็นค่าที่ดินบริเวณดอยดินแดงแก่พวกลาวจก แล้วทรงสร้างพระสถูปขึ้น โดยนำธงตะขาบยาว 3,000 วา ไปปักไว้บนดอย เมื่อหางธงปลิวไปไกลเพียงใด ให้กำหนดเป็นฐานพระสถูปเพียงนั้น ดอยดินแดงจึงได้ชื่อใหม่ว่า ดอยตุง (คำว่า ตุง แปลว่า ธง) เมื่อสร้างพระสถูปเสร็จ ก็ได้นำพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวบรรจุไว้ให้คนสักการบูชา ต่อมาอีก 100 ปี สมัยพระเจ้าเม็งรายมหาราช แห่งราชวงศ์ลาวจก พระมหาวชิระโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย จำนวน 50 องค์ พระเจ้าเม็งรายจึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขึ้นอีกองค์หนึ่ง เหมือนกับพระสถูปองค์เดิมทุกประการ พร้อมได้ปฏิสังขรณ์องค์เดิม ตั้งคู่กัน จากนั้นมาก็ไม่ปรากฏหลักฐานรายนามผู้บูรณะปฏิสังขรณ์ พระธาตุดอยตุงแต่เดิมมีองค์เดียว รูปแบบการก่อสร้างก่อเป็นศิลปะเชียงแสนย่อมุมไม้สิบสองคล้ายกับพระธาตุดอยสุเทพ เมืองเชียงรายสมัยก่อนเป็นเมืองร้างอยู่หลายครา พระธาตุดอยตุงจึงขาดการบูรณปฏิสังขรณ์ ตัวพระธาตุทรุดโทรมและพังทลายลง นับตั้งแต่พญามังรายได้สร้างเจดีย์อีกองค์ใกล้กัน อีกองค์หนึ่งจึงทำให้พระธาตุดอยตุงมีสององค์ ปัจจุบันพระธาตุเป็นสีทองขนาดเล็กสององค์ สูงประมาณ 5 เมตร บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม มีซุ้มจระนำสี่ทิศ องค์ระฆังและปลียอดมีขนาดเล็ก พระธาตุดอยตุง อยู่บนดอยสูงแวดล้อมด้วยป่ารกครึ้ม เรียกว่า สวนเทพารักษ์ เชื่อกันว่า เป็นที่สถิตของเทพารักษ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2470 องค์พระธาตุทรุดโทรมมาก ครูบาศรีวิชัย นักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งลำพูนพร้อมด้วยคณะศรัทธาชาวพุทธ ประชาชนชาวเมืองเชียงรายได้ทำการปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ พระวิหาร พระประธาน โดยสร้างเป็นเจดีย์องค์ระฆังขนาดเล็กสององค์บนฐานแปดเหลี่ยม ตามศิลปะแบบล้านนา กาลเวลาผ่านพ้นมานานวิหารและพระประธานก็ถูกภัยธรรมชาติครอบงำชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ส่วนองค์พระเจดีย์นั้นยังมีรูปทรงปกติดีอยู่ ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2499 ได้มีอุบาสิกาผู้หนึ่งอยู่ในจังหวัดพะเยา ชื่อว่า นางทองคำ ฮั้นตระกูล ได้มีกุศลเจตนาอันยิ่งใหญ่ ทำการลงรักปิดทองพระเจดีย์ทั้ง 2 องค์ ให้เหลืองอร่ามไปทั่ว ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2500 องค์สรภาณมธุรส(บ๋าวเอิง) เจ้าอาวาสวัดสมานัมบริหาร กทม. พร้อมด้วยอุบาสิกา ทองคำ ฮั้นตระกูล ได้ทำการก่อสร้างอุโสถขึ้นหนึ่งหลังพร้อมทั้งพระประธานในอุโบสถ พระสาวก หมอชีวกโกมารภัจ ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.2507 ก็ได้มีการดำริในการที่จะบูรณะองค์พระธาตุดอยตุงครั้งใหญ่ ซึ่งได้ใช้เวลาเตรียมการและหาทุนต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปี การบูรณะครั้งหลังสุด มีขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2516 โดยกระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จไป 1 องค์ พระธาตุ 2 วิหารหลวงที่ประดิษฐานพระประธานสิงห์หนึ่งเชียงแสน 3 พระประธานสิงห์หนึ่ง ซึ่งได้กราบทูลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จมาเป็นองค์เททอง ในการบูรณะครั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงองค์พระเจดีย์กันใหม่ ออกแบบโดยอาจารย์ประกิต(จิตร์) บัวบุศน์ องค์พระเจดีย์บุด้วยกระเบื้องโมเสดสีทอง มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป 8 ซุ้ม มีฉัตรประดับทั้ง 4 มุมดังที่เห็นปรากฏวันนี้ โดยสร้างพระธาตุองค์ใหม่ขึ้นครอบพระเจดีย์เดิมไว้ ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2525 ได้มีอุบาสกคนหนึ่งชื่อ ไศลยนต์ ศรีสมุทร์ เจ้าของและผู้จัดการตลาดแม่สาย ได้มีกุศลเจตนาอันแรงกล้า ได้ทำการเทลานพระธาตุและพร้อมกันนั้นทางวัดก็ได้ทำการก่อสร้างรั้วรอบบริเวณลานพระธาตุอีกโสดหนึ่ง

ปัจจุบัน กรมศิลปากรมีโครงการรื้อถอน องค์พระธาตุองค์ปัจจุบัน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นไปตามร้องขอของคนท้องถิ่นไปทางจังหวัด และส่งต่อมายังสำนักโบราณคดีเชียงใหม่ ให้ช่วยฟื้นฟูพระสถูปในสมัยครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ได้บูรณะไว้ตามภาพถ่ายที่ปรากฏอยู่ในวิหารพระธาตุดอยตุง เนื่องจากพระธาตุองค์ปัจจุบัน 2 องค์ที่ตั้งอยู่เวลานี้ เป็นของใหม่ ได้มีการบูรณะเมื่อสามสิบปีเศษที่แล้ว ออกแบบโดยนายช่างสถาปนิกกรุงเทพฯ และเข้าใจว่าพระสถูปเดิมสมัยครูบาได้บูรณะไว้เมื่อแปดสิบปีที่แล้ว อาจถูกทับ คล่อมอยู่ภายในองค์ปัจจุบัน ซึ่งคณะทำงานได้มีการหารือทางเจ้าคณะอำเภอเรียบร้อยแล้ว และได้ให้นำ พระสถูปเดิมที่ถอดออกมา ไปตั้งไว้ที่วัดพระธาตุน้อยดอยตุง อยู่ด้านล่างก่อนขึ้นดอยพระธาตุ จากนั้นทำการบูรณะพระสถูปเจดีย์ ครูบาศรีวิชัย ให้คืนกลับมาสภาพดังเดิมให้แล้วเสร็จก่อนเดือนธันวาคม 2550 ในปีหน้า โดยมีงบประมาณทั้งสิ้น 21 ล้านบาท รวมค่าปรับปรุงภูมิทัศน์ อาทิเช่น ปรับปรุงพื้นที่ลานพระธาตุให้กว้างขึ้น รื้อโรงเก็บวัสดุอุปกรณ์ เคลื่อนย้ายพระสังกัจจาย พระพุทธรูปองค์ใหญ่ในรูปปางต่างๆ นำไปตั้งประดิษฐานในสถานที่ที่เหมาะสม ปรับปรุงภูมิทัศน์ฐานบันไดนาคทางขึ้น เพื่อความสะดวกต่อพุทธศาสนิกชน ซึ่งไปนมัสการพระธาตุเป็นจำนวนมากของทุกปี

ชาวเชียงราย มีประเพณีการเดินขึ้นดอยบูชาพระธาตุ ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี พระธาตุดอยตุง ถูกกำหนดให้เป็นพระธาตุเจดีย์ของผู้ที่เกิดปีกุญ เนื่องเพราะปู่เจ้า ลาวจกและพระยามังราย ต้นวงศ์กษัตริย์เชียงใหม่ต่างก็ประสูติใน "ปีกุญ"

โดยมีเรื่องเล่าว่าได้มีการนำพระบรมธาตุมาบรรจุที่ดอยตุงถึง 3 ครั้ง แต่ละครั้งก็จะมีการก่อเจดีย์ขึ้นด้วย แต่มีเพียง 2 องค์เท่านั้นที่ได้รับการบูรณะและอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพระเจดีย์ทั้ง 2 องค์นี้เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมธาตุส่วนไหปลาร้า และพระธาตุย่อยองค์พระธาตุบรมธาตุเจดีย์ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 2000 เมตร
หลุมตุง
อยู่ใกล้ ๆ กับพระธาตุดอยตุงเป็นหลุมสำหรับปักตุงของพระมหากัสสป ปัจจุบันได้รับการดูแลอย่างดี มีการกั้นรั้วล้อมไว้เป็นสัดส่วน
 
ตุง
ตุง นับเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของชาวล้านนา หมายถึง ความเจริญรุ่งรุ่ง การมีชัยชนะ ในวัดจะมี รอยปักตุง เป็นรอยแยกบนพื้น ยาวประมาณ 1 ฟุต อยู่ด้านหน้าพระธาตุ เชื่อกันว่า เป็นรอยแยกที่ใช้ปักฐานตุงบูชาพระธาตุ สร้างมาประมาณ 1,000 ปีแล้ว พระบรมธาตุดอยตุงเป็นที่เคารพสักการะของชาวล้านนา ทุกปีจะมีงานนมัสการพระบรมธาตุในวันเพ็ญเดือน 3

สำหรับท่านที่ขึ้นมานมัสการพระธาตุนั้น ท่านจะสังเกตเห็นว่าวัดพระธาตุดอยตุงนั้นจะมีบริเวณ 2 เขตด้วยกันคือ ชั้นบนนั้นจะเป็นเขตพุทธาวาส นับเอาตั้งแต่ประตูวัดที่มียักษ์นั่งถือขวานอยู่นั้นขึ้นไป ท่านห้ามไม่ให้ใครทำสกปรกรุงรัง เช่น ถ่ายหนัก ถ่ายเบา เพราะห้องน้ำไม่มี จากที่ประตูวัดลงมา 1 กิโลเมตร เป็นเขตสังฆาวาส เป็นที่อยู่พำนักของพระสงฆ์องค์เณรและประชาชนทั่วไป ก่อนขึ้นมานมัสการพระธาตุ กรุณาจอดรถเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนที่วัดน้อย 1 กิโลเมตร
 
คำไหว้บูชาพระบรมธาตุ
นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
พิมพา ธะชัคคะ ปัพพะเต นะจุฬาธาตุ จิรงมะหาคะมานะ มามิหัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา
 
อ้างอิงจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ oceansmile.com

399 ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย, Chang Rai, Thailand, 57220

tell:0807165071    

monlersidoi01@gmail.com  

พระธาตุดอยตุง


© 2022 องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยไคร้ : www.huaikrai.go.th Design by Chiangrai Enter Soft

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น