×

สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย > บทความทางวิชาการ > ธรณีวิทยาปิโตรเลียม > รอยตีนทวดไดโนเสาร์ (1)

รอยตีนทวดไดโนเสาร์ (1)

รอยตีนทวดไดโนเสาร์ (1)
เมื่อกว่าสิบปีมาแล้ว มีข่าวพาดหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์รายวันของไทยว่า พบรอยเท้าไดโนเสาร์ที่อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้ที่เดินทางผ่านไปมาตามถนนหมายเลข 2216 จะพบว่าที่หน้าโรงพยาบาลน้ำหนาว มีป้ายชี้ทางไปทิศใต้ของถนนว่า “รอยเท้าไดโนเสาร์ 3 กิโลเมตร”
ต่อมา กรมทรัพยากรธรณีโดยการนำของดร. วราวุธ สุธีธร เซียนไดโนเสาร์ของไทย ได้เข้าไปศึกษาแล้วชี้แจงว่า รอยที่เห็นประทับอยู่บนหน้าผานั้น มิได้เป็นของไดโนเสาร์ แต่เป็นของสัตว์เลื้อยคลานที่เป็นบรรพบุรุษของไดโนเสาร์ นักบรรพชีวินวิทยา เรียกมันว่า archosaurs แปลว่า “กิ้งก่าผู้ครองโลก” ในตำราบอกว่า พวกมันมีรูปร่างคล้ายจระเข้ ซึ่งต่อมาได้แยกสายวิวัฒนาการออกเป็น 2 สาย คือเป็นสัตว์จำพวกจระเข้ และสัตว์จำพวกไดโนเสาร์ ป้ายบอกทางดังกล่าว จึงต้องเปลี่ยนเป็น “ผาอาร์โคซอร์ 3 กิโลเมตร” แทน
เมื่อไม่นานมานี้ ก็มีข่าวฮือฮาที่ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกงุนงง นั่นคือข่าวที่ว่า พบรอยเท้าไดโนเสาร์ที่น้ำตกตาดฟ้า ที่บ้านดงสะคร่าน อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น เหตุผลที่ข้าพเจ้าประหลาดใจมากกว่าที่จะตื่นเต้นก็คือ พื้นที่บริเวณผาอาร์โคซอร์ และบ้านดงสะคร่านนี้ ต่างก็อยู่ในขอบเขตที่แผนที่ธรณีวิทยาของกรมทรัพยากรธรณี กำหนดให้เป็นหมวดหินห้วยหินลาด ซึ่งตกสะสมตัวในอนุยุคนอเรียน (ตอนปลายของยุคไทรแอสสิก) ที่ข้าพเจ้าได้รับทราบและเชื่อว่า ไดโนเสาร์ยังไม่อุบัติขึ้นมาในโลกนี้
พฤศจิกายน 2565 ข้าพเจ้าได้เข้าไปยังตำแหน่งทั้งสองพร้อมกับคณะนักบรรพชีวินวิทยาจากหลายประเทศ ขณะที่เกือบจะทุกคนจะพุ่งความสนใจไปที่รอยตีน ข้าพเจ้าในฐานะนักธรณีวิทยากลับดูแต่เนื้อหินและชั้นหิน และยากจะสรุปใจความสำคัญของข้อมูลและข้อพิจารณาที่ได้จากทริปขี่ม้าชมดอกไม้ครั้งนี้ ดังต่อไปนี้
รอยตีนสัตว์โบราณทั้งสองแห่งที่กล่าวมาต่างก็พบประทับอยู่บนหินตะกอนของหมวดหินห้วยหินลาด ซึ่งสะสมตัวในแอ่งสะสมตะกอนนาพอสอง (ภาพที่ 1 รูปบน) แอ่งดังกล่าวนี้เป็นแอ่งที่เกิดจากการปริแตกของเปลือกโลก (rift basin) เมื่อประมาณ 210 ล้านปีมาแล้ว จากรอยเลื่อน 1-2 ทำให้มีการสะสมตัวของตะกอนเชิงเขาในรูปแบบเนินตะกอนน้ำพารูปพัด (alluvial fan) (ภายในเส้นสีม่วง) มีแม่น้ำไหลมาจากด้านตะวันตก เหนือ และตะวันออก (พื้นที่เส้นเฉียงสีเหลือง) และมีทะเลสาปอยู่ตรงกลาง (พื้นที่ในเส้นสีน้ำเงิน) ตำแหน่งของผาอาร์โคซอร์คือ 3 และ ดาวสีแดง ในแผนที่ตามรูปบนของภาพที่ 1 และภาพจินตนาการสามมิติในรูปล่างของภาพที่ 1 ตามลำดับ ส่วนรอยตีนที่พบใหม่นั้น แสดงด้วยเลข 4 ในแผนที่ และดาวสีดำในภาพตัดขวาง
รอยตีนที่พบที่น้ำตกตาดฟ้านั้น พบในชั้นหินที่วางตัวในแนวเกือบตะวันออก-ตะวันตก ชั้นหินเอียงเทไปทางทิศเหนือ ห้วยตาดฟ้านั้นเป็นห้วยที่ใช้ในการแบ่งเขตการปกครอง ระหว่างอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ทางด้านตะวันตก กับอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ทางด้านตะวันออก (ภาพที่ 2) (ข้าพเจ้าขอฟันธงจากสถานที่จริงว่า รอยตีนนี้อยู่ในเขตบ้านดงมะไฟ อำเภอน้ำหนาว เพชรบูรณ์) จากภาพถ่ายที่ถ่ายไปทางทิศเหนือท่านจะเห็นการสลับตัวกันของชั้นหินทรายชั้นบาง รูปเลนส์ กับชั้นหินโคลน พบรอยริ้วคลื่น และรอยตีน (รูปแทรกในภาพที่ 2) จากลักษณะทางธรณีวิทยาทั้งหมด บอกได้ว่า ชั้นหินเหล่านี้ตกสะสมตัวในห้วย หรือแม่น้ำสายเล็กๆ ใกล้กับทะเลสาป (fluvio-deltaic) (ตำแหน่งดาวสีดำในรูปล่างของภาพที่ 1)
ชั้นหินที่หน้าผาอาร์โคซอร์นั้น (ภาพที่ 3) มีลักษณะชั้นหินที่แตกต่างไป คือเป็นหินทรายเนื้อละเอียดมีความหนาประมาณ 20 เซนติเมตร แต่แผ่กระจายกว้างออกไปทั้งหน้าผาเป็นพื้นที่มากกว่าสนามฟุตบอล (~100x 200 เมตร) ทุกอย่างบ่งชี้ว่านี่คือการสะสมตัวของทรายในดินดอนสามเหลี่ยม ที่เกิดจากแม่น้ำไหลงสู่ทะเลสาป (delta plain)(ตำแหน่งดาวแดงในรูปล่างของภาพที่ 1) รอยตีนที่พบ (รูปแทรกในภาพที่ 2) มีทั้งหมด 3 แนว มากกว่า 200 รอย การพบรอยริ้วคลื่น และระแหงโคลน แสดงว่าบริเวณนี้ มีน้ำไม่ลึกนัก และทะเลสาบแห่งนี้จะเหือดแห้งไปในบางเวลา
ข้าพเจ้าแอบฟังพวกนักบรรพชีวินวิทยาแล้ว จับใจความได้ว่า รอยตีนที่ผาอาร์โคซอร์นี้ มิได้เป็นของไดโนเสาร์แน่นอน แต่รอยตีนที่น้ำตกตาดฟ้านั้น น่าสงสัยเป็นที่สุดว่า เป็นรอยของสัตว์อะไร หากเป็นไดโนเสาร์ละก็ นี่จะเป็นไดโนเสาร์ที่มีอายุมากที่สุดในประเทศไทย และถือได้ว่า อยู่ในกลุ่มของไดโนเสาร์ที่แก่ที่สุดในโลก ทีเดียวเชียวแหละ พ่อแม่พี่น้อง

ภาพที่ 1 รูปบนเป็นแผนที่จากกูเกิ้ล แสดงขอบเขตของแอ่งสะสมตะกอนนาพอสอง ที่มีอายุอยู่ในอนุยุคนอเรียน ในยุคไทรแอสสิกตอนปลาย ที่เกิดจากรอยเลื่อน 1-2 ทำให้มีการสะสมตัวของตะกอนเชิงเขาในรูปแบบเนินตะกอนน้ำพารูปพัด (alluvial fan) (ภายในเส้นสีม่วง) มีแม่น้ำไหลมาจากด้านตะวันตก เหนือ และตะวันออก (พื้นที่เส้นเฉียงสีเหลือง) และมีทะเลสาปอยู่ตรงกลาง พื้นที่ในเส้นสีน้ำเงิน)

รูปล่างคือภาพจินตนาการสามมิติ แสดงลักษณะของแอ่งสะสมตะกอนกึ่งกราเบน (modified from Matenco and Haq, 2019) ที่ประยุกต์ใช้เปรียบเทียบกับแอ่งสะสมตะกอนนาพอสองได้

ตำแหน่งของผาอาร์โคซอร์คือ 3 และ ดาวสีแดง ในแผนที่ตามรูปบนของภาพที่ 1 และภาพจินตนาการสามมิติในรูปล่างของภาพที่ 1 ตามลำดับ ส่วนตำแหน่งของรอยตีนที่น้ำตกตาดฟ้านั้น แสดงด้วยเลข 4 ในแผนที่ และดาวสีดำในภาพตัดขวาง

ภาพที่ 2 ภาพถ่ายแสดงชั้นหินที่พบรอยตีนสัตว์โบราณ ซึ่งวางตัวขวางห้วยตาดฟ้า ด้านซ้ายมือ(ด้านตะวันตก) คือเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ ส่วนฝั่งด้านตะวันออกขึ้นกับขอนแก่น แระกอบด้วยชั้นหินทรายรูปเลนส์หลายชั้นวางตัวทับซ้อนกันกับชั้นหินโคลน รอยตีนอยู่ ณ ตำแหน่งลูกศรชี้ (รายละเอียดแสดงในรูปแทรก)

ภาพที่ 3 ภาพถ่ายจากโดรนของคุณวิศัลย์ โฆษิตานนท์ แสดงหน้าผาหินทรายที่พบรอยตีนอาร์โคซอร์ (รูปแทรก) หน้าผาดังกล่าวเกิดจากชั้นหินทรายที่หนาเพียง 20 เซนติเมตร ชั้นเดียว แต่แผ่กระจายตัวกว้างกว่าสนามฟุตบอล การเอียงเทของชั้นหินเกือบ 60 องศานั้น น่าจะเกิดจากรอยเลื่อนทางด้านเหนือของหน้าผา

 

เรื่องและภาพ โดย    Nares Sattayarak | Facebook
Follow us!