แอ่วน่านกันเต๊อะ (16) วัดมิ่งเมือง ศิลปะล้านนาร่วมสมัย


แอ่วน่านกันเต๊อะ (16) วัดมิ่งเมือง  ศิลปะล้านนาร่วมสมัย

วัดมิ่งเมือง ตั้งอยู่ที่ถนนสุริยพงศ์ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองของจังหวัดน่าน

ประวัติวัดมิ่งเมือง  

เดิมเป็นวัดร้าง มีเสาหลักเมืองที่เป็นท่อนซุงขนาดใหญ่สองคนโอบ พบอยู่ในซากวิหาร ในราวปี พ.ศ. 2400 เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่านได้สถาปนาวัดใหม่ ได้ชื่อว่า " วัดมิ่งเมือง" ตามชื่อที่เรียกเสาหลักเมืองว่า เสามิ่งเมือง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2527  ด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน ทำให้อุโบสถชำรุดทรุดโทรมลง พระครูสิริธรรมภาณี (เสน่ห์ ฐานสิริ) เจ้าอาวาสวัดมิ่งเมืองร่วมกับชาวบ้านคุ้มวัดมิ่งเมือง ได้ทำการรื้อถอนและสร้างอุโบสถหลังใหม่เป็นแบบล้านนาร่วมสมัยเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งอัญเชิญพระประธานองค์เดิมมาประดิษฐานไว้ อุโบสถหลังใหม่นี้พระครูสิริธรรมภาณีเป็นผู้ออกแบบตามจินตนาการเป็นอุโบสถล้านนาร่วมสมัย ก่อสร้างตัวอาคารด้วยฝีมือสล่าพื้นบ้านเมืองน่าน ลวดลายปูนปั้นอันวิจิตรอลังการเป็นฝีมือของสล่าเสาร์แก้ว เลาดี สกุลช่างเชียงแสนโบราณ

ส่วนภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถเป็นภาพตำนานประวัติความเป็นมาของเมืองน่าน เริ่มตั้งแต่สมัยพญาภูคาเจ้าเมืองน่านองค์ปฐมตั้งเมืองอยู่ ณ เมืองย่าง(ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอปัว) มาจนถึงสมัยเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย โดย คุณสุระเดช กาละเสน จิตรกรพื้นบ้านเมืองน่าน เฉพาะงานประติมากรรมปูนปั้นใช้เวลาประมาณ 5 ปี และสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2540 ใช้เวลาสร้างรวม 12 ปี

ภายในบริเวณวัดยังเป็นที่ประดิษฐานเสาพระหลักเมืองน่าน ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า " เสามิ่งเมือง" หรือ "เสามิ่ง" เป็นไม้สักทองขนาดใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 60 เซนติเมตร สูงประมาณ 3 เมตร ลักษณะเป็นเสาทรงกลม ส่วนหัวเสาเกลาเป็นดอกบัวตูมฝังไว้กับพื้นดินโดยตรง ไม่มีศาลหรืออาคารครอบ จากหลักฐานที่มีการบันทึกไว้พบว่า ได้รับการสร้างขึ้นสมัยเจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 โปรดให้มีการฝังเสาหลักประจำเมืองน่านที่วัดมิ่งเมือง เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2331 หลังจากที่พระองค์ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และร่วมพระราชทานพิธีฝังเสาพระหลักเมืองกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2129 พระองค์จึงได้คตินั้นมาฝังเสาพระหลักเมืองน่านขึ้น เหตุเพราะแต่ก่อนมานั้นเมืองน่านไม่มีคติการสร้างเสาหลักเมือง

ในปี พ.ศ. 2506 ได้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ กระแสน้ำน่านได้ไหลเปลี่ยนทิศทางเข้าท่วมเมืองน่านและบริเวณที่ฝังเสาหลักเมือง จนทำให้เสาหลักเมืองโค่นล้มลง ด้วยฐานของเสาหลักเมืองนั้นมีการผุกร่อนเนื่องจากการฝังกับพื้นดินมานานกว่า 100 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านคนที่ 27 ได้นำข้าราชการและประชาชนชาวน่าน ร่วมกันสร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมือง โดยนำเอาเสาหลักเมืองเดิมมาเกลาแต่งใหม่ เสาหลักเมืองมีความสูงประมาณ 3 เมตร ฐานประดับด้วยไม้แกะสลักลวดลายลงรักปิดทอง ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปพรหมพักตร์ ชื่อ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

แอ่วน่านครั้งนี้ได้ทำบุญไหว้พระ ครบ 9 วัด ได้แก่ วัดพระธาตุแช่แห้ง วัดพระธาตุเขาน้อย วัดหนองบัว วัดภูเก็ต วัดปรางค์ วัดบุญยืน วัดภูมินทร์ วัดศรีพันต้น และวัดมิ่งเมือง แต่ทว่ายังมีวัดสำคัญอีกหลายวัดที่ยังไม่ได้ไป ต้องยกยอดไปในการแอ่วน่านครั้งหน้า บันทึก"แอ่วน่านกันเต๊อะ" ยังไม่จบนะคะ บันทึกต่อไปจะเป็นความประทับใจในเรื่องใดที่ไหน ต้องติดตามค่ะ

ขอขอบคุณ

  • การบริการที่ดีเยี่ยมของบริษัททัวร์ฟ้าใสและทีมงาน
  • เพื่อนร่วมเดินทางทุกท่าน

 

หมายเลขบันทึก: 699295เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2022 05:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2022 06:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท