แอ่วน่านกันเต๊อะ (7) วัดหนองบัว วัดเก่าชุมชนไทลื้อ


แอ่วน่านกันเต๊อะ (7) วัดหนองบัว วัดเก่าชุมชนไทลื้อ

ไทลื้อ หรือ คนลื้อ นับเป็นชาติพันธุ์หนึ่งในกลุ่มภาษาไทย - ลาว มีประวัติกล่าวว่าถิ่นเดิมอยู่ในดินแดนสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน อพยพเข้ามาอยู่ในเขตประเทศไทยแถบจังหวัดในภาคเหนือตอนบนที่เป็นอาณาจักรล้านนาเมื่อราว 200 กว่าปีมาแล้ว ประมาณจุลศักราช 1184 (พ.ศ.2365) ไทลื้อกลุ่มใหญ่จะอาศัยอยู่ในจังหวัดน่าน พะเยา รวมถึงบางส่วนของเชียงราย ชาวไทลื้อในจังหวัดน่าน แยกย้ายกันอาศัยอยู่ในอำเภอต่างๆ เช่น ทุ่งช้าง ปัว ท่าวังผา เป็นต้น

การดำเนินชีวิตของชาวไทลื้อส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับคนเมือง คือ อาศัยอยู่บริเวณที่ราบริมฝั่งแม่น้ำเพื่อทำการเพาะปลูก หลังจากว่างเว้นจากการทำนาหญิงสาวชาวไทลื้อนิยมทอผ้า โดยเฉพาะผ้าทอลายน้ำไหลของชาวไทลื้อเมืองน่านเริ่มมีการทอกันครั้งแรกที่บ้านหนองบัว เป็นศิลปะการทอผ้าด้วยมือ เรียกว่าลายน้ำไหลเนื่องจากลวดลายที่ทอออกมามีลักษณะเหมือนสายน้ำไหล นับว่ามีความประณีตงดงามเป็นเอกลักษณ์  ผ้าทอของบ้านหนองบัวในปัจจุบันนี้ได้คิดออกแบบลวดลายต่างๆเพิ่มขึ้นอีกมากมาย และได้ขยายพื้นที่การทอผ้าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ยังคงเรียกชื่ออย่างเดิมว่า “ผ้าลายน้ำไหล”

วัดหนองบัว เป็นวัดไทลื้อเก่าแก่ประจำหมู่บ้านหนองบัว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เดิมวัดตั้งอยู่ริมหนองบัวซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ประจำหมู่บ้าน ต่อมาได้มีการย้ายวัดมายังที่ตั้งในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2405 โดยการนำของครูบาหลวงสุนันต๊ะ ร่วมกับชาวบ้านหนองบัว

ภายในวัดมีความงดงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทลื้อที่สวยงามทรงคุณค่าทางด้านศิลปะและหาดูได้ยากในปัจจุบัน วิหารมีขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 19 เมตร ลักษณะเป็นวิหารขนาดย่อม รูปทรงเตี้ยแจ้ หลังคายาวคลุมต่ำมาก อาคารตั้งอยู่บนฐานบัวคว่ำ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้าย่อมุมเป็นมุขโถง เนื้อที่ใช้สอยภายในแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหน้าเป็นมุขโถงทำเป็นบันได มีสิงห์ยืนเฝ้าประตูข้างละตัว พื้นที่ส่วนที่ 2 เป็นอาคารใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย

ภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นเรื่องราวปัญญาสชาดกเรื่อง " จันทคาธชาดก" ซึ่งเป็นพระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงถึงจริยธรรมที่ดีงาม เช่น การเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ความกตัญญูกตเวที และความซื่อสัตย์สุจริต  สันนิษฐานว่าเขียนโดย "หนานบัวผัน" ซึ่งเป็นช่างชาวลาวพวนที่บิดาของครูบาหลวงสุนันต๊ะ ชื่อนายเทพ ทหารของเจ้าอนันตยศ(เจ้าเมืองน่านระหว่าง พ.ศ. 2395 - 2434) ได้นำมาจากเมืองพวน ในแคว้นหลวงพระบาง ภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยช่างฝีมือไทลื้อที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันมีเพียงสองแห่งเท่านั้นคือที่วัดภูมินทร์และวัดหนองบัวแห่งนี้ ซึ่งความสมบูรณ์ของภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัวใกล้เคียงกับภาพจิตรกรรมที่วัดภูมินทร์

หนานบัวผัน เคยสร้างงานจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์ ซึ่งมีภาพที่โด่งดังได้แก่ภาพ "ปู่ม่านย่าม่าน" หรือ ภาพกระซิบรักบันลือโลก เมื่อนำภาพจิตรกรรมทั้ง 2 แห่งมาเปรียบเทียบกันก็พบว่ามีความเหมือนกันทั้งลายเส้น สีสัน ใบหน้า และฉาก อีกทั้งยังมีมุมมองและแนวคิดที่ทันสมัย สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการแต่งกายผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นลายน้ำไหลและผ้าซิ่นตีนจกที่สวยงามตามแบบของไทลื้อ ส่วนผู้ชายในภาพนิยมสวมใส่กางเกงสะดอ สักหมึกดำตามขาจนถึงหลัง

ภายในบริเวณวัดเป็นที่ตั้งของ "ศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน" จัดแสดงเฮือนไทลื้อมะเก่า หรือ เรือนไทยลื้อโบราณ ที่ได้รับการอนุรักษ์เอาไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ชม

ดั้งเดิมเรือนของชาวไทลื้อมีการพัฒนามาจากเรือนที่สร้างด้วยไม้ไผ่ยกใต้ถุนสูง เพราะไม้ไผ่เป็นวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น แล้วค่อยพัฒนามาเป็นเรือนไม้ตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยลักษณะเด่นของเรือนไทลื้อ คือ เป็นเรือนไม้ยกใต้ถุนสูง ใช้งานใต้ถุนเรือนเป็นที่เก็บอุปกรณ์การประกอบอาชีพ เป็นพื้นที่สำหรับการทอผ้า มีผืนหลังคาคลุมเรือนขนาดใหญ่ ยื่นยาวและทำเป็นสองตับ จนแทบมองไม่เห็นผนัง

มีบันไดหน้าเพียงบันไดเดียว ภายในตัวเรือนเป็นโถงแบ่งพื้นที่ซ้ายขวา เป็นส่วนอเนกประสงค์สำหรับเป็นที่พักผ่อนและส่วนนอน ซึ่งอาจแบ่งทั้งสองส่วนนี้ด้วยฝาไม้หรือผ้าม่าน  มีครัวไฟที่ใช้แม่เตาไฟเป็นกระบะไม้ดาดดินเหนียว พื้นที่เก็บของ และลานซักล้าง ภายในบ้านมีหิ้งผีบรรพบุรุษติดตั้งกับฝาบ้านในห้องโถง ไม่มีหิ้งพระ

เฮือนไทลื้อมะเก่า ที่วัดหนองบัวนี้ได้รับการอนุรักษ์เอาไว้เป็นอย่างดี มีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในเรือนเหมือนมีการอยู่อาศัยจริง ทำให้ได้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวไทลื้อในอดีตได้เป็นอย่างดี

ขอขอบคุณ

  • การบริการที่ดีเยี่ยมจากบริษัททัวร์ฟ้าใสและทีมงาน
  • ข้อมูลดีๆจากไกด์เกม บัณฑิต ภิรมย์ภักดิ์
  • น้ำใจไมตรีจากเพื่อนร่วมเดินทางทุกท่าน

 

หมายเลขบันทึก: 698943เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2022 16:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มีนาคม 2022 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท