รองเท้านารี.....เป็นชื่อกล้วยไม้


สวยมาก ชอบมาก
 

เนื่องจากครูอ้อยเป็นคนมีอุปนิสัยชอบพูดเล่น  วันหนึ่งในขณะที่ชมกล้วยไม้ที่เรือนกล้วยไม้บ้านผู้อำนวยการโรงเรียน  ครูอ้อยก็หลุดปากไปว่า  " นี่รองเท้าเนตรนารีใช่ไหมคะ ผอ. "

ครูอ้อยก็เลยหน้าแตกไปเลย.....ดังนั้น  เพื่อเป็นการแก้ตัว  ครูอ้อยก็จะนำเสนอ  กล้วยไม้ชนิดหนึ่งที่สวยงามมาก  หาดูยากแล้ว 

หากใช้บรรทัดฐานของมนุษย์มากำหนดมูลค่าของต้นไม้สักต้น Slipper Orchid หรือที่เรารู้จักกันในนาม กล้วยไม้รองเท้านารี ก็คงเป็นหนึ่งในบรรดาต้นไม้ที่ราคาแพงที่สุดในโลก

กล้วยไม้รองเท้านารีพันธุ์แท้ชนิดหายาก หรือพันธุ์ลูกผสมที่สวยงาม และได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในการประกวดระดับโลก บางต้นอาจมีมูลค่าสูงถึงหลายล้านบาท เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้?

นานมาแล้วที่นักสำรวจชาวอังกฤษ ซึ่งดั้นด้นไปยังดินแดนอาณานิคม ได้เริ่มนำกล้วยไม้รองเท้านารีต้นแรกจากป่าในประเทศอินเดีย กลับไปปลูกเลี้ยงในประเทศอังกฤษ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นประมาณช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 กล้วยไม้ดังกล่าวมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Paphiopedilum venustum

กว่าร้อยปีที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีกล้วยไม้รองเท้านารีพันธุ์ลูกผสมเกิดขึ้นมากมาย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ปลูกเลี้ยง โดยมีการผลิตเป็นอุตสาหกรรมเฉกเช่น ไม้ประดับที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจระดับประเทศ แต่การผลิตในโรงเรือนสมัยนั้น ก็ไม่สามารถทำได้ทันกับความต้องการ ฉะนั้นกล้วยไม้รองเท้านารีตามป่าธรรมชาติ จึงถูกนำออกไปยังดินแดนแหล่งกำเนิด เที่ยวแล้ว เที่ยวเล่า จนกระทั่งเกือบสาบสูญจากป่า

ประเทศไทยก็เป็นอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเกือบจะสูญเสียมรดกธรรมชาติเหล่านี้ไป ยังโชคดีที่มีผู้ให้ความสนใจ และพยายามศึกษาค้นคว้าหาทางอนุรักษ์ โดยการนำกล้วยไม้พันธุ์แท้ในป่าธรรมชาติที่พอมีเหลืออยู่ มาเพาะเลี้ยง และขยายพันธุ์ในห้องปฏิบัติการ จนประสบผลสำเร็จ และในฐานะที่พวกเราเป็นคนไทยซึ่งเป็นเจ้าของร่วมกัน ของมรดกทางธรรมชาติเหล่านั้น จึงควรได้ทราบว่าสมบัติอันล้ำค่าของเรานี้ คือสิ่งใดบ้าง

ในทางพฤกษศาสตร์ กล้วยไม้รองเท้านารีถูกจัดอยู่ในวงศ์ย่อย CYPRIPEDIOIDEAE ซึ่งลักษณะของดอก ที่ต่างจากวงศ์ย่อยอื่นๆ ที่สำคัญก็คือ นอกจากจะมีส่วนเกสรเพศผู้เป็น 2 อันยังมีกลีบเลี้ยงสองอันล่าง เชื่อมติดกันเป็นหนึ่งเดียว นอกจากนั้นกล้วยไม้ทุกชนิดในวงศ์ย่อยนี้ จะมีส่วนกลีบปากลักษณะคล้ายถุง (saccate) หรือทั่วไปดูว่าคล้ายส่วนหัวของรองเท้าสุภาพสตรี จึงทำให้มีชื่อสามัญว่า “Slipper Orchid” ซึ่งคนไทยรู้จักกันดีในชื่อว่า “กล้วยไม้รองเท้านารี

วงศ์ย่อย “กล้วยไม้รองเท้านารี” มี 4 สกุลใหญ่ๆ ในประเทศไทยพบเพียงสกุลเดียว คือ Paphiopedilum โดยพบแล้ว 14 ชนิด จากที่มีทั่วโลกประมาณ 70 ชนิด ล่าสุดที่เพิ่งมีรายงานพบอย่างเป็นทางการคือ “รองเท้านารีดอยตุง” หรือ P. charlesworthii พบที่ดอยตุงและ P.insigne พบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว

นักวิชาการบางคนได้แบ่งแยกกล้วยไม้รองเท้านารีของไทยบางชนิดออกเป็นพันธุ์ (variety) ต่างๆ เช่น “รองเท้านารีเจดีย์สามองค์” เป็นพันธุ์หนึ่งของ “รองเท้านารีเหลืองพังงา” ก็เป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งของ “รองเท้านารีเหลืองตรัง” เป็นต้น

รองเท้านารี  ในประเทศไทย มี 14 ชนิดคือ

รองเท้านารีฝาหอย (Paphiopedilum bellatulum)
พบขึ้นตามผาหินปูทางภาคเหนือ ดอกสีขาวครีม มีประจุดขนาดใหญ่สีน้ำตาล ดอกออกฤดูหนาว

รองเท้านารีเหลืองปราจีน (Paphiopedilum concolor)
พบขึ้นตามผาหินปูนทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ดอกสีเหลือง มีจุดละเอียดสีน้ำตาล ดอกออกตลอดปี

รองเท้านารีเหลืองสตูล (Paphiopedilum niveum)
พบขึ้นตามผาหินปูนทางภาคใต้ ดอกสีขาว มีจุดละเอียดสีม่วงหรือสีน้ำตาล ดอกออกฤดูร้อนและฤดูฝน

รองเท้านารีเหลืองตรัง (Paphiopedilum godefroyae)
พบขึ้นตามผาหินปูน บริเวณหมู่เกาะฝั่งทะเลอันดามัน ดอกสีขาวครีมถึงสีเหลือง มีลายคล้ายร่างแหและจุดสีแดงเข้มออกดอกฤดูร้อนและฤดูฝน

รองเท้านารีเมืองกาญจน์ (Paphiopedilum parishii)
พบขึ้นตามผาหินปูนทางภาคใต้ ดอกสีขาว มีจุดละเอียดสีม่วงหรือสีน้ำตาล ดอกออกฤดูร้อนและฤดูฝน

รองเท้านารีเมืองกาญจน์ (Paphiopedilum parishii)
พบขึ้นเกาะตามคบไม้ในป่าดิบแล้งบนเทือกเขาตะนาวศรี ดอกเป็นช่อสีเขียว กลีบข้างยาวและบิด มีสีเขียวอมน้ำตาล ออกดอกฤดูฝน

รองเท้านารีเหลืองเลย (Paphiopedilum hirutissimum)
พบขึ้นตามพื้นในป่าดิบเขาทางภาคอีสาน ดอกสีเหลืองอมน้ำตาล กลีบข้างสีม่วง ออกดอกฤดูหนาว

รองเท้านารีดอยตุง (Paphiopedilum charlesworthii)
พบขึ้นตามพื้นในป่าดิบเขาดอยตุง จังหวัดเชียงราย ดอกสีน้ำตาลอมม่วงกลีบเลี้ยงอันบนขนาดใหญ่สีม่วง ออกดอกฤดูฝน

รองเท้านารีอินทนนท์ (Paphiopedilum villosum)
พบขึ้นเกาะตามคบไม้ในป่าดิบเขาทางภาคเหนือ ดอกสีเหลืองถึงส้ม กลีบเลี้ยงอันบนมีขอบสีขาว ดอกออกฤดูหนาว

รองเท้านารีดอยเชียงดาว (Paphiopedilum insigne)
พบขึ้นตามผาหินปูนดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ดอกสีเขียวอ่อนประจุดน้ำตาล ชนิดนี้ถูกพบเพียงตัวอย่างเดียว

รองเท้านารีเหลืองกระบี่ (Paphiopedilum exul)
พบขึ้นตามผาหินปูนบริเวณหมู่เกาะฝั่งทะเลอันดามัน ดอกสีขาวและเขียว มีแต้มเหลือง ประจุดน้ำตาล ออกดอกฤดูหนาว

รองเท้านารีเขาสอยดาว (Paphiopedilum appletonianum)
พบขึ้นตามพื้นป่าดิบเขา เขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ดอกสีเขียวอมน้ำตาล กลีบข้างสีม่วง ดอกออกฤดูหนาว

รองเท้านารีสุขะกูล ( Paphiopedilum sukhakulii)
พบขึ้นตามพื้นป่าดิบเขา ภูหลวง จังหวัดเลย ดอกสีเขียว กลีบเลี้ยงอันบนมีลายสีน้ำตาล กลีบข้างมีจุดเข้มสีน้ำตาล กลีบกระเป๋ามีสีแดง ดอกออกฤดูหนาว

รองเท้านารีม่วงสงขลา (Paphiopedilum barbatum)
พบขึ้นตามพื้นในป่าดิบชื้นภาคใต้ ดอกสีม่วงคล้ายรองเท้านารีคางกบ อย่างไรก็ตามนักวิชาการบางคนได้จัดรองเท้านารีชนิดนี้ไว้เป็นเพียงพันธุ์ (variety) ของรองเท้านารีคางกบ ดอกออกฤดูร้อน

นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์ที่นักวิชาการบางคนมีความเห็นว่า น่าจะยกขึ้นเป็นชนิดใหม่ นั่นคือ “รองเท้านารีหมู่เกาะช่องอ่างทอง” ที่นักวิชาการก่อนหน้านี้กล่าวว่า เป็นเพียงลูกผสมในธรรมชาติเท่านั้น และในขณะเดียวกันได้มีผู้พบกล้วยไม้สกุลรองเท้านารีในไทย ที่ยังไม่สามารถจัดจำแนกเข้ากับชนิดใดได้เลย จึงอาจจะเป็นชนิดใหม่ หรืออาจเป็นลูกผสมในธรรมชาติ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน

ในปัจจุบัน รองเท้านารีที่ขึ้นอยู่ในสภาพธรรมชาติได้สูญหายไป พร้อมกับการบุกรุกทำลายป่า ที่เป็นถิ่นอาศัยจนมีเหลืออยู่ให้พบเห็นน้อยเต็มที แต่ยังนับว่าโชคดีที่ได้มีการออกกฎหมายคุ้มครองป้องกัน พร้อมทั้งส่งเสริมงานวิจัยเพื่อการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ในห้องปฏิบัติการ

ตัวอย่างการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ โครงการคืนกล้วยไม้สู่ไพรพฤกษ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งดำเนินงานโดยกองทัพภาคที่สาม ร่วมกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยมีพื้นที่เป้าหมายบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน และเชียงใหม ่ในการดำเนินงานขั้นแรกนั้น ได้มีการนำเมล็ดกล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ มาเพาะในห้องปฏิบัติการ จากนั้นจึงนำต้นกล้าไปอนุบาลในโรงเรือนที่สร้างไว้ ใกล้กับป่าธรรมชาติ เพื่อให้ลูกกล้วยไม้ปรับตัว และเมื่อกล้วยไม้โตพอ จึงนำไปปลูกคืนป่าที่มีสภาพทางนิเวศเหมาะสมต่อไป

ในการนี้ทางโครงการได้ให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วม โดยให้ช่วยกันนำพันธุ์กล้วยไม้ไปปลูกเลี้ยงขยายพันธุ์ ด้วยการแยกหน่อ และให้แบ่งส่วนหนึ่งกลับไปปลูกในป่า บางส่วนอนุโลมให้เพาะเลี้ยงไว้เพื่อการค้า หรือการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้ ซึ่งนับเป็นวิธีการอนุรักษ์ที่ได้ผลอย่างดียิ่ง คาดว่าในอนาคต จะมีการขยายไปยังพื้นที่ป่าส่วนอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป

หายกันแล้วนะ  รองเท้านารี  Slipper Orchid

คำสำคัญ (Tags): #diary#pictures#siriporn
หมายเลขบันทึก: 54255เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2006 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

รูปกล้วยไม้..รองเท้านารี...ของครูอ้อยหายไปไหน   ต้องหามาซ่อมแซมแล้วค่ะ

 

 

หามาใส่แล้วนะคะ

รองเท้านารี  สวยสง่า สมศักดิ์ศรี

สวยสง่า มีราคา  รองเท้านารี

 

เก่งมากครับครูอ้อย  ขอปรบมือดังๆให้ครูอ้อยเพื่อนหญิงที่เก่งจริงๆ ขนาดคนรักกล้วยไม้รองเท้านารีอย่างผมยังต้องขอยืมข้อมูลครูอ้อยไปใช้เลย

รองเท้ารีเหลืองกระบี่กอใหญ่ของผมแทงช่อดอกออกมาแล้ว ที่บานไปบ้างก็มี  ส่วนขาวสตูลเพิ่งเปลี่ยนกระถางปลูกก่อนหมดฝนปีที่แล้ว เพิ่งจะฟื้นตัวคงจะได้เห็นดอกหน้าแล้งปีหน้า อีกหลายกอยังบอกชื่อไม่ได้เพราะยังไม่เห็นดอก   ผมยังมีกล้วยไม้อีกหลยกอ ขวัญใจอีกตัวก็"เขากวางอ่อน" หรีอเอื้องม้าลาย เป็นกล้วยไม้สกุล "Phalannopsis" กำลังฟื้นตัวแตกใบใหม่ดูแข็งแรงขึ้นเยอะหลังจากหน้าฝนที่ผ่านเจอปัญหาโรคใบเน่า กว่าจะเอาอยู่ต้องตัดใบจนโกร๋น แต่ดอกยังมีติดช่อตลอดทั้งปีครับ  อยากเก็บภาพมาฝากทุกๆคนครับ แต่ขอฝึกวิชาใส่ภาพลงบล็อกก่อนนะครับ ตอนนี้ยังทำไม่เป็นเลย

ขอบคุณครับครูอ้อย ข้อมูณดีๆ มีประโยชน์มากเลยครับ

สวัสดีค่ะคุณ  kareem

  • ครูอ้อยค้นคว้ามาจาก google  ค่ะ
  • ครูอ้อยชอบดอกกล้วยไม้มาก  และคิดว่า  ยามชราจะเลี้ยงให้ชัดเจนกว่านี้ค่ะ
  • ครูอ้อยชอบรองเท้านารี  ชอบช้างทั้งหลาย  มันหอมกวนประสาทดีค่ะ
  • คุณ kareem   ต่างหากที่มีความรู้ดีในเรื่องกล้วยไม้แถมยังมีประสบการณ์ด้วย
  • นับถือจริงๆค่ะ  นอนดึกจังเลยนะคะ 
  • ยังไงหากครูอ้อยจะเลี้ยงกล้วยไม้จริงๆจะปรึกษานะคะ

ขอบคุณมากค่ะที่แวะมาทักทาย  อ้อ..ลืมสวัสดีปีใหม่ค่ะ...รักษาสุขภาพด้วยนะคะ

เอารูป"รองเท้านารีเหลืองกระบี่"ที่บ้านมาฝากครับ

  • ขอบคุณกล้วยไม้รองเท้านารีนะคะ

สวัสดีค่ะคุณ kareem

  • สงสัยครูอ้อยไม่มีบุญวาสนา 
  • มองไม่เห็นรูปสวยๆจากคุณเลยค่ะ

สวัสดีค่ะคุณอร  Bright Lily

  • ครูอ้อยเสียใจที่แบตเตอรี้กล้องครูอ้อยหมด 
  • เลยไม่ได้ภาพสวยๆของเรือนกล้วยไม้มาฝากค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ
ดอกกล้วยไม้สวยๆต้องดอกกล้วยไม้ที่บ้านคุณภูคาค่ะ..สวยจริงๆค่ะ
  • ยินดีกับบันทึกนี้  ที่มีสถิติการอ่านมากที่สุดในบล็อกนี้..ในคราวครบ 2000 บันทึกของครูอ้อย

โหว  โว  เหย่  เหย

อยากทราบ Phalannopsis เคยเห็นที่สนามบิน Xiamen china ดอกใหญ่มากสีสวยด้วย น่าจะถึง5-6 ซมได้นะ

ปิ๊ด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท