ผืนป่า สายน้ำแห่งสบยาว


ดอกเอื้องเปรียบดังราชินีของป่าเขาที่คอยให้ความงดงามของต้นไม้ใหญ่ เอื้องไม่สามารถอยู่ลำพังเองได้ ต้องอาศัยไม้ใหญ่ในการคุ้มแดดคุ้มฝนและให้อาหาร หากไม่มีต้นไม้ใหญ่ก็ไม่มีเอื้อง หากจะให้เอื้องออกดอกชูช่อสวยงามก็ต้องดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้ใหญ่ก็คอยให้อาหาร ให้ความรัก ความอบอุ่นแก่เอื้อง เป็นการพึ่งพาอาศัยกันของธรรมชาติ กระบวนการอนุรักษ์เอื้องจึงเป็นการสร้างจิตสำนึกรักป่า รักธรรมชาติ ผ่านการอนุรักษ์เอื้อง

“ล่องแก่งหลวง หวงป่า วังปลาใหญ่ ไม้ตะเคียนยักษ์ ชุมชนพิทักษ์ อนุรักษ์หลากหลาย พันธุ์เอื้องมากมาย สมุนไพรมากมี ยินดีมุ่งมั่น สืบสร้างรักษา ร่วมใจพัฒนา สืบชะตาแม่น้ำสองสาย" คำขวัญนี้เป็นคำกล่าวที่แสดงให้เห็นภาพของความเป็นชุมชนบ้านสบยาว ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง เป็นอย่างดี “สบยาว" ชุมชนเล็กๆ แต่หัวใจใหญ่กว่าขุนเขา เป็นชื่อหมู่บ้านที่ตั้งพ้องกับลักษณะภูมิประเทศ กล่าวคือ แม่น้ำน่าน และแม่น้ำยาว (ลำน้ำสาขา) ได้ไหลมาบรรจบกัน (สบ เป็นภาษาเหนือแปลว่ามาบรรจบกัน) โดยภูมิประเทศที่ดีจึงทำให้มีป่าและน้ำอุดมสมบูรณ์ เดิมนั้นพื้นที่แห่งนี้เป็นที่ไร่ที่สวนของคนในเมือง แถวบ้านน้ำล้อม เชียงแข็ง เข้ามาแผ้วถางป่าทำไร่ทำสวน ด้วยการเดินทางยังยากลำบาก จึงต้องมานอนค้างคืนในไร่สวนบ่อยๆ นานๆ เข้าก็เลยมาตั้งเป็นบ้านเรือนอยู่อาศัยถาวร นอกจากนี้ก็มีชาวลั๊วะจากอำเภอบ่อเกลือบางส่วนอพยพหนีภัยผู้ก่อการร้ายลงมาตามลำน้ำยาวมาจนถึงพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งเป็นชัยภูมิที่เหมาะแก่การเพาะปลูก จึงได้เข้ามาตั้งรกรากกันที่นี่ พอนานๆ เข้าก็มีประชากรมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้ตั้งเป็นหมู่บ้าน ชุมชนบ้านสบยาวจึงเป็นที่รวมของคนหลากหลายพื้นถิ่นที่อพยพเข้ามาอยู่กัน

ด้วยภูมินิเวศน์ที่มีทั้งป่าเขา และลุ่มน้ำสองสาย เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้เป็นที่หมายปองของนายทุนที่จะเข้ามาสัมปทานป่า จับจองพื้นที่ แต่ด้วยความรักและหวงแหนทุนทำกินของตนเองชาวบ้านที่นี่จึงได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ป่าและแม่น้ำขึ้น และช่วยกันสร้างกิจกรรมปลูกจิตสำนึกของผู้คนให้รักและหวงแหนแผ่นดิน และมีการเชื่อมโยงเข้ากับเครือข่ายกลุ่มฮักเมืองน่าน แม้วันเวลาผ่านไปป่าและแม่น้ำจะถูกทำลายไปบ้างก็ตาม แต่ที่นี่ก็ยังคงมีป่าที่เขียวขจี มีแม่น้ำที่ใสสะอาดไม่แพ้น้ำใจของคนที่นี่เช่นกัน เพราะป่าและน้ำคือชีวิต คือครอบครัว และคือความเป็นคน

แต่กระแสการพัฒนาที่มุ่งเอาทรัพยากรเป็นฐานการผลิตก็ทำให้มีการบุกรุกทำลายป่า มีการจับปลาในรูปแบบที่โหดร้าย ทั้งระเบิด ยาเบื่อ ไฟฟ้าช๊อต ทำให้ปลาต่างเริ่มลดน้อยและสูญพันธุ์ลง ส่งผลให้ชาวบ้านหาอาหารจากป่าและแม่น้ำได้ยากลำบากขึ้น ในปี ๒๕๓๖ สถาพร สมศักดิ์ อาสาสมัครฮักเมืองน่าน และนักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่ได้เข้ามาส่งเสริมกระบวนการฟื้นป่าและน้ำของชุมชนจึงได้ชักชวนชาวบ้านไปศึกษาดูงานอนุรักษ์วังปลาที่บ้านดอนแก้ว อำเภอท่าวังผา หลังการดูงานชาวบ้านยังเป็นที่ถกเถียงกันหลายฝ่ายในการจัดทำเขตอนุรักษ์วังปลาในชุมชน แต่เสียงชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นด้วย จึงได้กำหนดเขตอนุรักษ์ในแม่น้ำน่านระยะยาว ๒๐๐ เมตร และตั้งกฎระเบียบห้ามจับปลาทุกชนิดในเขตอนุรักษ์ ต่อมาในปี ๒๕๓๗ ผลของการอนุรักษ์ทำให้มีปลามากขึ้น ทำให้ชาวบ้านได้เสนอขยายขอบเขตอนุรักษ์เพิ่มขึ้นเป็น ๔๐๐ เมตร ปี ๒๕๓๘ ได้มีการขยายเขตอนุรักษ์ในลำน้ำยาวเพิ่มอีก ๒๐๐ เมตร ปี ๒๕๓๙ มีการเสนอให้ลำน้ำยาวบริเวณหน้าอารามสงฆ์เป็นเขตอภัยทานเป็นระยะ ๑๐๐ เมตร และในปี ๒๕๔๒ ได้มีการเสนอจัดเขตอนุรักษ์เพื่อการจับบริเวณบ้านข้อเหนือเป็นระยะทาง ๑๕๐ เมตร

ในปลายปี พ.ศ.๒๕๔๕ พระวุฒิกรอิสสโร (วุฒิกร พุทธิกุล) พระนักพัฒนารุ่นใหม่ที่แม้จะไม่ใช่ลูกหลานชาวบ้านสบยาวแต่ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะเดินตามรอยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระนักพัฒนารุ่นเก่าก่อน เช่น พระครูพิทักษ์นันทคุณ ผู้ก่อตั้งกลุ่มฮักเมืองน่าน พระวุฒิกรได้มาชักชวนกลุ่มชาวบ้าน แกนนำชุมชน ครูอาจารย์ และปราชญ์ชุมชนได้จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ร่วมชุมชนบ้านสบยาว" โดยมุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนได้มีแหล่งรวมกันทำกิจกรรมและลดภาระของชาวบ้านในการดูแลลูกหลานในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ มีการนำเรื่องราวสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และความผูกพันกับสายน้ำ มาทำเป็นการเรียนการสอน และปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์และหวงแหน เห็นคุณค่าของแผ่นดินถิ่นเกิด จากกระบวนการเรียนรู้เล็กๆ ของเด็กๆ ได้นำไปสู่การจัดทำโครงการเพื่อการเรียนรู้ของชุมชนมากมาย

และในปี ๒๕๔๖ พระวุฒิกรอิสสโร ได้บิณฑบาตขอเขตพื้นที่อนุรักษ์แม่น้ำยาวเป็นระยะทาง ๘๐๐ เมตร รวมเขตอนุรักษ์ในลำน้ำน่านเดิมอีก ๔๐๐ เมตร ทำให้บ้านสบยาวมีพื้นที่เขตอนุรักษ์วังปลาถึง ๑,๒๐๐ เมตร ซึ่งอาจจะเป็นแห่งเดียวในโลกที่เป็นการอนุรักษ์วังปลาในแม่น้ำสองสายในหนึ่งชุมชน

การสืบชะตาแม่น้ำสองสาย (แม่น้ำน่าน และแม่น้ำยาว) โดยศูนย์การเรียนรู้ร่วมชุมชนบ้านสบยาว ร่วมกับเครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ เครือข่ายมูลนิธิฮักเมืองน่าน และกลุ่มองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ได้ร่วมกันจัดสืบชะตาแม่น้ำสองสายเป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคม ๒๕๔๖ โดยมีรัฐมนตรีในสมัยนั้นมาเป็นประธานในพิธีสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สายน้ำ การสืบชะตาไม่เพียงแต่เป็นกุศโลบายให้คนรักและหวงแหนธรรมชาติเท่านั้น หากแต่เป็นกิจกรรมที่ช่วยสานความรักและผูกพันกันในชุมชนด้วย ที่สำคัญเป็นการตอกย้ำให้คนรักกัน รู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง รู้จักเคารพกติกาการอยู่ร่วมกัน และรู้จักเคารพธรรมชาติด้วย

วังปลาของชุมชนบ้านสบยาวนั้นจะแปลกจากวังปลาที่อื่น เนื่องจากเป็นวังปลาของแม่น้ำสองสายมีความยาวกว่า ๑,๒๐๐ เมตร มีปลาหลากหลายชนิด และแม่น้ำก็มีความใสเย็นร่มรื่นด้วยภูมิประเทศที่สวยงามท่ามกลางป่าเขา ในวันที่ปลากรีฑาทัพกันไปโลดแล่นบนหาด (เป็นช่วงที่ปลาออกจากวังปลาไปเล่นกันที่หาด) ชาวบ้านบอกว่า “ปลากอง" (อากัปกริยาของปลาอย่างหนึ่ง ขณะที่ผสมพันธุ์วางไข่ตามธรรมชาติ โดยปลาเพศผู้และเพศเมียจะเวียนว่ายเคล้าเคลียรวมกันเป็นฝูงใหญ่ นับเป็นจำนวนพันถึงหลาย ๆ พันตัว ในขณะผสมพันธุ์ปลาทุกตัว จะรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนและเบียดเสียดยัดเยียดกัน จนตัวที่อยู่ด้านบนตัวจะลอยพ้นน้ำ ซึ่งอาการแบบนี้เอง ที่ชาวบ้านเรียกว่า ปลา "กอง") จะมีปลานับแสนๆ ตัวมารวมตัวกันโลดแล่นบนหาด ปลาที่หลากหลายแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของความหลากหลายทางธรรมชาติ

ผลของการอนุรักษ์วังปลา ทำให้มีปลาทั้งปริมาณและชนิดมากขึ้น บางชนิดที่เคยหายไปก็กลับคืนมา ปรากฎการณ์ “ปลากอง" และการวางไข่ที่หาดหินของปลา เป็นคำตอบที่ดีของการคืนมาของปลาและความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ที่มิเพียงแต่หาปลาได้ง่ายขึ้น ได้ปริมาณมากขึ้น หากแต่ยังเหลือไปขายสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย

การอนุรักษ์พันธุ์เอื้องป่า เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ โดยการนำของพระวุฒิกรอิสสโร เนื่องจากสภาพป่าที่ถูกทำลายลง ทำให้เอื้องป่าชนิดต่างๆ ที่เคยมีป่าแถบนี้หายไป บางชนิดก็สูญพันธุ์ไป เนื่องจากต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ป่าลดลง และอีกประการด้วยความสวยงามของดอกเอื้องยามผลิบานเป็นผลทำให้ถูกชาวบ้าน ทั้งในชุมชนและนอกชุมชนนำออกมาขาย มาเพาะเลี้ยงตามที่พักอาศัย ด้วยเหตุนี้กลุ่มเยาวชนจึงได้มีการนำข้อมูลที่ได้เสนอไปยังประชาคมหมู่บ้าน เพื่อช่วยกันพิจารณาแก้ไข จากจุดนี้เองได้นำไปสู่แนวทางของชุมชนในการร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์เอื้องป่า ที่สำคัญหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจร่วมกัน การจัดทีมทำงานลงไปสำรวจข้อมูลพันธุ์เอื้องที่ยังคงหลงเหลืออยู่จริง การจัดทำแนวป่าชุมชน การสอดส่องดูแล การตั้งกฎกติกาของชุมชน เป็นต้น จากข้อมูลการสำรวจพันธุ์เอื้องในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านสบยาว พบว่า ปัจจุบันหลงเหลือเพียง ๑๔ ชนิดเท่านั้น

เอื้องป่านอกจากจะเป็นความงดงามของพันธุ์ไม้ป่าแล้วยังเป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าอีกด้วย จังหวัดน่านเดิมนั้นมีพันธุ์เอื้องสายพันธุ์ต่างๆ ที่หายากมากมาย ทั้งเอื้องจำปาน่าน มังกรคาบแก้ว ท้าวคูลู เอื้องข้าวตอก เอื้องกบ เอื้องเทียน เอื้องแซะดง เอื้องผาเวียง เอื้องช้างน้าว เอื้องเงิน เอื้องสายน้ำผึ้ง ฯลฯ ศูนย์การเรียนรู้ร่วมชุมชนสบยาวได้ร่วมกันเพาะเอื้องพันธุ์ต่างๆ ที่หายากแล้วนำคืนกลับไปสู่ป่าอีกครั้ง ด้วยความตั้งใจของชุมชนและเด็กๆ

การอนุรักษ์เอื้องเป็นการเรียนรู้จากวิถีของชุมชน ประวัติศาสตร์ของชุมชน และถิ่นฐานการทำมาหากินของชุมชน ทำให้เยาวชนรู้จักชุมชนมากขึ้น รู้จักชีวิตมากขึ้น ทำให้คนในชุมชนมีความรักและสามัคคีกัน ดอกเอื้องเปรียบดังราชินีของป่าเขาที่คอยให้ความงดงามของต้นไม้ใหญ่ เอื้องไม่สามารถอยู่ลำพังเองได้ ต้องอาศัยไม้ใหญ่ในการคุ้มแดดคุ้มฝนและให้อาหาร หากไม่มีต้นไม้ใหญ่ก็ไม่มีเอื้อง หากจะให้เอื้องออกดอกชูช่อสวยงามก็ต้องดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้ใหญ่ก็คอยให้อาหาร ให้ความรัก ความอบอุ่นแก่เอื้อง เป็นการพึ่งพาอาศัยกันของธรรมชาติ กระบวนการอนุรักษ์เอื้องจึงเป็นการสร้างจิตสำนึกรักป่า รักธรรมชาติ ผ่านการอนุรักษ์เอื้อง

ผลของการอนุรักษ์ป่าและเอื้อง ทำให้ป่าฟื้นตัว พืช สัตว์ สิ่งมีชีวิตต่างๆ ฟื้นกลับคืนมา ชาวบ้านสามารถเข้าไปหาอาหารจากป่าได้มากขึ้น ทั้งพืชผัก เห็ด หน่อไม้ สมุนไพร สัตว์ แมลงต่างๆ ไม้ไผ่สำหรับจักสานและใช้สอย รวมไปถึงฟืนสำหรับการหุงหาอาหาร นี่คือความมั่นคงของอาหาร ความมั่นคงของชีวิต

.......................................

ขอบคุณภาพดีดี

จากวุฒิกร พุทธิกุล และเยาวชนต้นกล้าฝัน

ทนงศักดิ์ ธรรมะ โครงการพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดน่าน

หมายเลขบันทึก: 284303เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2009 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2015 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดี ยามเย็น ค่ะ

เคยไปล่องแก่ง ที่เวียงสา สนุกมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท