Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

Podcast EP.3 "ข้าวยำปักษ์ใต้" อาหารรุ่นใหญ่จากฝีมือวัยรุ่น! (แชร์ประสบการณ์)

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่


Podcast EP 3
ข้าวยำปักษ์ใต้ ยายประไพ
"อาหารรุ่นใหญ่ จากฝีมือวัยรุ่น"

by ค่ายการตลาด Gen-Z Passion  Marketing

เพราะพิษเศรษฐกิจ ทำให้ธุรกิจเสริมสู่รายได้หลักของครอบครัว
แต่การทำธุรกิจอาหารมันจะง่ายอย่างที่คิดจริงๆ น่ะเหรอ? 
มาร่วมฟังพี่อาร์มเม้าท์มอยกันว่ามีวิธีคิดยังไงเมื่อเจอปัญหา!

**กระทู้นี้เป็นบทความถอดเสียงจาก Podcast ของ the Gen Z passion EP.3**
มีประโยคบางส่วนที่ปรับให้ง่ายต่อการอ่าน และมีจุดประสงค์แชร์ประสบการณ์และเป็นแรงบันดาลใจเท่านั้น
Link เสียง Podcast    https://soundcloud.com/user-812749992/podcast-ep3

-----------------------
*ขอแนะนำให้ลองฟัง Podcast EP นี้นะคะ เกสต์เราคุยสนุกจริงๆ ค่า*

             สวัสดีค่ะ ณัชชา แยมนะคะ Host ประจำ the Gen Z Podcast ของอีพีที่สาม ทุกคนคงรู้แล้วว่าโควิดคงไม่ได้หนีหายไปจากเราในเร็วๆ วันนี้ ทำให้ธุรกิจที่กำลังป๊อบไม่แพ้ธุรกิจเดลิเวอรี่เลยนั่นก็คือธุรกิจเกี่ยวกับ ‘อาหาร’ นั่นเอง วันนี้ Gen-Z จึงได้เชิญพี่สาวคนเก่งที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการทำธุรกิจอาหารมาแชร์ประสบการณ์มันส์ๆ ให้ฟังค่ะ ว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมาเขาต้องเจออะไรบ้าง ขอต้อนรับพี่อาร์มค่า!
  -----------------------

 
พี่แยม: สวัสดีค่ะพี่อาร์ม แนะนำตัวให้น้องๆ หน่อยค่า ตอนนี้พี่อาร์มศึกษาอยู่ที่ไหน สาขาอะไรคะ?

พี่อาร์ม: สวัสดีค่า พี่ชื่ออาร์มนะคะ ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี บางมดค่ะ



พี่แยม: จุดเริ่มต้นที่ได้ทำข้าวยำปักษ์ใต้ยายประไพเริ่มจากอะไรคะพี่อาร์ม เริ่มต้นทำเองคนเดียวเลยหรือเปล่า?

พี่อาร์ม: อาร์มเริ่มพร้อมกับคุณแม่เลยค่ะ เราอยู่กับคุณแม่สองคน ทำด้วยความบังเอิญตรงที่ว่าช่วงนั้นคุณแม่เป็นผู้ช่วยนักวิจัยอยู่แล้วกำลังหาสิ่งที่มาเสริมรายได้ ทีนี้มันมีงานเรียกว่างานสงกรานต์ที่วัดโพธิ์ท่าเตียน เราก็เลยอยากไปขายของกระจุ๊กกระจิ๊กโน่นนี่เล่นๆ แล้วจริงๆ ไม่ได้ตั้งใจจะไปขาย (ข้าวยำปักษ์ใต้) นะ อาร์มตั้งใจจะไปขายน้ำติ่งต๋องแบบอิตาเลียนโซดาอะไรอย่างนี้ด้วยซ้ำ แล้วคุณแม่บอกว่าให้เอาข้าวยำไปแจมด้วยแล้วก็หุ้นพื้นที่ร้านกัน ปรากฏว่าอิตาเลียนโซดาของอาร์มขายไม่ได้ แต่ที่ขายได้คือข้าวยำ (หัวเราะ)
            ทีนี้ที่คุณแม่อยากจะขายข้าวยำเพราะว่าเคยช่วยคุณยายขายมาก่อน คือมีพื้นฐานทางด้านนี้อยู่แล้วเลยใช้พื้นฐานแล้วก็ประสบการณ์ที่มีอยู่มาตั้งเป็นอาชีพของตัวเองขึ้นมา ตอนนี้ก็เลยเป็นแม่ค้าขายข้าวยำโดยสมบูรณ์ทั้งแม่ทั้งลูกค่ะ

 

พี่แยม: อ้อ ก็เหมือนสมัยนี้เนอะ เขาก็เริ่มฮิตเทรนอาชีพที่สองขึ้นมาบ้างแล้ว แต่เราเริ่มต้นเร็วกว่าเขาก็จะดีกว่านิดนึง   แล้วข้าวยำปักษ์ใต้ลักษณะเป็นยังไงคะ? เผื่อน้องๆ ที่ฟังอยู่แล้วยังไม่รู้จักข้าวยำปักษ์ใต้

พี่อาร์ม: ข้าวยำปักษ์ใต้ถ้าพูดให้คนรุ่นเรานึกออก ให้นึกถึง ‘สลัด’ ก่อนอย่างแรก สลัดเขาก็จะเป็นผักซอยให้เราทานได้พอดีคำ อันนี้ก็เหมือนกัน เราจะเป็นผักซอยแต่ว่ามันจะซอยละเอียดกว่าสลัดอีก ซอยแบบยิบๆ เลย แล้วก็มีผักหลายชนิดรวมกัน อย่างของอาร์มก็จะมีอยู่ประมาณ 14 ชนิด เขาจะกินกับข้าวสวยร้อนๆ อาจจะเป็นข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์บ้าง ข้าวที่หุงกับดอกอัญชัญบ้าง วิธีการทานก็คือคลุกทุกอย่างรวมกัน (ข้าว,ผัก) แล้วเราก็จะใส่ ‘น้ำบูดู’ ที่มันจะลักษณะคล้ายซอสราดลงไป นอกจากนี้ก็มีมะพร้าวคั่ว ปลาคั่วหรือบางคนชอบกุ้งที่ตำป่นๆ ก็ใส่ลงไปได้ ซึ่งพวกนี้จะช่วยเพิ่มความมัน ช่วยเพิ่มรสชาติให้นัวยิ่งขึ้น รสชาติก็จะ…ใช่คำว่าสามรสดีกว่า เค็ม หวาน เปรี้ยว เปรี้ยวเราจะได้จากมะนาวบ้าง มะม่วงบ้าง ถ้าใครชอบเผ็ดก็ใส่พริกไปได้ค่ะ ส่วนใหญ่จะใส่พริกป่น ส่วนใครชอบเผ็ดระดับ แม๊กซ์เลยก็สามารถเคี้ยวพริกเป็นเม็ดได้ไม่ว่ากัน                  

พี่แยม: เหมือนเป็นสลัดของภาคใต้ใช่ไหมคะอันนี้

พี่อาร์ม: ใช่ๆ คล้ายๆ อย่างนั้นเลยแต่ว่าเขาจะกินกับข้าวด้วย ภาษาอังกฤษเลยเรียกเขาว่า ‘Rice salad’

 
 
 
พี่แยม: จากที่ฟังเมื่อกี้คือพี่อาร์มทำกับคุณแม่ แล้วพี่อาร์มทำส่วนไหนของร้านข้าวยำปักษ์ใต้คะ?

พี่อาร์ม: สำหรับตัวอาร์มเองจะช่วยโปรโมทเพจออนไลน์ เพราะว่าเราเป็นคนรุ่นใหม่เนอะ เหมือนเป็นฝ่ายครีเอทีฟ ข้าวยำมันจะมีผักหลายๆ ชนิดรวมกันไปในกล่องใช่ไหมคะ เราก็ช่วยหาว่ากล่องแบบไหนที่มันจะเข้ากับอาหารของเราหรือการวางโทนสีของผัก ทำยังไงให้มันดึงดูด ให้มันเป็นเอกลักษณ์ขึ้นมา บวกกับธุรกิจของเราที่ยึดในเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย เพราะฉะนั้นกล่องที่อาร์มใช้อยู่มันจะเป็นกล่อง Biodegradable ที่สามารถย่อยสลายได้เองภายใน 3 เดือน อันนี้เขาทำมาจากเปลือกหอยมาอัดเป็นกล่องซึ่งเรามีบริษัทที่เป็นพาร์ทเนอร์กันอยู่ค่ะ
 
พี่แยม: สุดยอดเลย จริงๆ เรื่องกล่องก็มีอิทธิพลมาจากสาขาที่อาร์มเรียนใช่ไหมคะ วิศวะสิ่งแวดล้อม

พี่อาร์ม: ใช่ๆ อันนี้คือที่เขาเคลมเอาไว้นะ แต่ว่าถ้าเราอยากเอากล่องไปใช้ เราก็แค่ล้างแล้วก็เก็บเอาไว้ในที่แห้ง มันก็จะไม่ขึ้นรา  ไม่เป็นอะไร แต่ว่าถ้าเราเอาไปโดนแสงแดดมันก็จะค่อยๆ กรอบลง 
            คือพอเรามีธุรกิจหนึ่งแล้วเราก็อยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ทุกอย่างมันดีขึ้นได้จากมือเราเองเหมือนกัน ไม่อยากสร้างขยะเพิ่ม แต่ถามว่าต้นทุนสูงไหม มันก็พอสมควรเลยเหมือนกัน คือทุกอย่างก็มีข้อแลกเปลี่ยนของมันอยู่ 

พี่แยม: เราว่าดีเลยนะ เพราะในอนาคตเดี๋ยวคนรุ่นเราก็จะกลายมาเป็นผู้ใหญ่ที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องขยะเรื่องภาวะโลกร้อนมากขึ้น เราว่ามันสามารถเอามาเป็นจุดเด่นได้เลย 



พี่แยม: คิดว่าเอกลักษณ์ของข้าวยำปักษ์ใต้ยายประไพของร้านอาร์มมันแตกต่างจากร้านอื่นโดดเด่นจากร้านอื่นอย่างไงคะ?

พี่อาร์ม: สิ่งหนึ่งที่ตัวอาร์มเองเห็นได้ชัดเลยนะคือในเรื่องของคุณภาพผักเพราะว่าเราเห็นกระบวนการทำ เราไปซื้อผักก็ซื้อจากร้านที่ปลอดภัยเชื่อถือได้ อุดหนุนจากร้านที่ไม่ใช่นายทุนที่เขาปลูกผักออร์แกนิคโดยตรงเองเลยหรือว่าจากวิสาหกิจชุมชน แล้วกว่าจะล้างออกมา คือเราไม่ได้เอาจุ่มน้ำแล้วขึ้นอ่ะ กล้าการันตีเลยนะ ยกตัวอย่างเคสหนี่งที่ลูกค้าบางคนทานพวกประเภทผักแล้วจะมีเอฟเฟคกับร่างกาย ปรากฏว่าเขาทานข้าวยำร้านอาร์มแล้วเขาโอเค ไม่มีเอฟเฟคที่มันเป็นไปในด้านลบ อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเคสที่เราดีใจที่ความสะอาดของเราเป็นส่งผลดีกับหลายๆ คน อีกอย่างหนึ่งก็คือถั่วงอกค่ะ ถั่วงอกที่ร้านอาร์มเพาะเองเพราะฉะนั้นปราศจากสารฟอกขาวแน่นอน มาลองทานได้

 

พี่แยม: หลังจากที่อ่านได้ทำร้านข้าวยำปักษ์ใต้มาสักพักหนึ่ง อะไรที่เป็นจุดที่ยากที่สุดในการทำคะ?

พี่อาร์ม: จริงๆ   ก็มีหลายเรื่อง แต่จะขอยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งที่ยังอยู่ในกระบวนการแก้ปัญหา กำลังปีนกำแพงอยู่เหมือนกัน 
            คือเวลาเราทำผลิตภัณฑ์ โอเค เราขายหน้าร้านซื้อมาขายไปแต่ว่าพอเราทำเพจปุ๊บ มีคนสนใจเยอะขึ้นอยากกินมากขึ้น อย่างอาร์มขายอยู่ที่นนทบุรีกับปทุมธานีแต่สมมุติว่ามีคนจากจังหวัดไกลๆ ภาคอีสาน ภาคเหนือขึ้นไปหรือไม่ต้องมากหรอกแค่จังหวัดอยุธยาเลยไปนิดเดียว เรื่องของอาร์มก็คือมี ‘ข้อจำกัดทางด้านการจัดส่ง’ ด้วยความที่เขาเป็นผักสด ไม่สามารถที่จะแพ็คเขาเฉยๆ ได้ จำเป็นที่จะต้องมีลังโฟม น้ำแข็ง ซึ่งค่าข้าวยำกล่องละ 60 บาทแต่ค่าส่งกล่องละ 300 บาท มันค่อนข้างมีต้นทุนสูง เราหามาหลายๆ ขนส่งมากที่จะช่วยพาข้าวยำเราไปส่งถึงผู้รับได้โดยที่ไม่เหี่ยวไปซะก่อน แต่ก็ยังไม่เจออันที่มันเป็นจุดคุ้มทุน ทุกวันนี้เราเลยส่งได้แค่ชุดเครื่องข้าวยำที่มันเป็นแห้ง เป็นน้ำบูดู, มะพร้าวคั่ว, ปลาคั่วไปให้เขาไปหาผักหาข้าวที่เขาชื่นชอบทานด้วยกันเอง แต่บางคนเขาก็ไม่ได้สะดวกที่จะหาผักหลายสิบชนิด เราก็เข้าใจข้อจำกัดในด้านนี้
            หรือแม้แต่จะส่งขายในท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต เขาเคยมาติดต่อเราอยู่เหมือนกันแต่เราก็มีข้อจำกัดตรงนี้ บวกกับว่าปัจจัยทางด้านธุรกิจต่างๆ ทำให้ยังไม่ลงตัวสักทีหนึ่ง
            มันจะมีนวัตกรรมหนึ่งที่อาร์มได้นำไปปรึกษากับทางมหาวิทยาลัยของอาร์มเอง เขาก็ได้ให้คำปรึกษามาเรื่องของการอัดไนโตรเจนที่จะช่วยรักษาความสดของผักเอาไว้ได้ ยกตัวอย่างผักที่ขนส่งมาจากเชียงใหม่มาขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่กรุงเทพ ในนั้นมันไม่ใช่อากาศธรรมดาแต่เขาอัดไนโตรเจนมา 



พี่แยม: ไม่เคยรู้ปัญหาตรงนี้มาก่อนเลยค่ะก่อนได้ฟังประสบการณ์จากพี่อาร์ม บางคนอาจจะก็คิดว่าทำง่าย ทำวันต่อวันไปไม่ต้องคิดมากแต่จริงๆ การที่จะเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ มันจะมีปัญหาด้านการขนส่งเข้ามา

พี่อาร์ม: ใช่ พูดถึงมันเป็นปัญหาหลายอย่างแม้แต่ ‘ของเหลือ’ คือพอเราทำธุรกิจปุ๊บ สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงอยู่เสมอก็คือต้นทุน เพราะทุกอย่างมีต้นทุน ถ้าเกิดว่าคุณทำไปแล้วมันเหลือ คุณก็ต้องหาวิธีลดมันหรือจะทำยังไงก็ได้ให้มันคุ้มทุนที่สุด แต่ในขณะเดียวกันคุณก็ต้องไม่เอาเปรียบผู้บริโภคด้วยค่ะ ตรงนี้คือเป็นอีกจุดที่เราจะต้องทำยังไงให้มันสมดุลกัน                                  

                    

พี่แยม: แล้วพอเข้ามาช่วงโควิด มันมีอุปสรรคเข้ามาบ้างไหมแล้วพี่อาร์มมีวิธีการรับมือกับมันยังไงคะ?

พี่อาร์ม: ช่วงโควิดก็คือเป็นเหมือนกันหมดเลยในเรื่องของยอดขายที่อย่าใช้คำว่าลดฮวบ แต่ใช้คำว่า 'แปรปรวนกว่าปกติ' เพราะเราคาดการณ์อะไรไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว บางวันลูกค้ามาเยอะแต่เราเตรียมของไปน้อย เราก็เสียดายเนอะ มีคนต่อคิวจะซื้อแต่บางวันทำไมเขาเดินผ่านกันไปเยอะจังหรือทำไมเขาไม่ลงมาเดินกันเลย นี่คือสิ่งที่ทำให้เราคาดการณ์ไม่ได้ว่าเราจะต้องเตรียมของไปเท่าไหร่เพราะว่าเตรียมน้อยไปเราก็กลัวมันจะไม่พอ เดี๋ยวมากไป เราก็กลัวมันจะเหลือ ซึ่งมันเหลือยังไงเราก็ต้องทิ้ง เราก็จะมีข้าวสามสีเพิ่มขึ้นมาเป็นสีม่วง สีเหลือง สีขาวเรียงกันเป็นชั้นให้มันดูกิมมิคมากขึ้นค่ะ 

พี่แยม: จากที่ฟังมาทั้งสองคำถามก็คือเห็นได้ชัดเลยนะว่าพี่อาร์มเป็นคนไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคเลย ถึงจะขนส่งผักสดไปให้ลูกค้าไม่ได้ก็ปรับมาขายเฉพาะเครื่องแห้ง น้ำบูดู ที่มันเก็บได้นานนานหรือการที่พี่อาร์มไปหาข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องของไนโตรเจนเผื่อในอนาคตได้ใช้หรือแม้แต่ในช่วงโควิดพี่อาร์มก็มีการเพิ่มลูกเล่นของผลิตภัณฑ์ตัวเองให้คนสนใจ



พี่แยม: แล้วอีกเรื่องหนึ่งก็คือเห็นว่าพี่อาร์มถูกเชิญไปรายการผู้หญิงทำมาหากิน เลยอยากรู้ว่าทำไมถึงถูกเชิญเข้าไปในรายการเหรอคะ

พี่อาร์ม: คุณแม่ขายอยู่ที่สวนสมเด็จนนท์ ข้างโรงเรียนหอวัง เป็นที่ๆตอนเช้าๆคนจะออกมาวิ่งออกกำลังกายกันเราก็จะขาย 06.30-11.00 น. ทีนี้ก็มีคนเห็นร้านเราซึ่งเขาก็เหมือนเป็นครีเอทีฟของรายการนี้ เขารู้สึกว่าสนใจก็เลยเอาไปเสนอในที่ประชุม เราก็เพิ่งรู้ตอนไปออกรายการตอนนั้นนะ ว่ารายการผู้หญิงทำมาหากินของคุณหนู แหม่ม จะไม่มีการจ้าง คือเขาจะเอาสินค้าที่ช่วยคนในชุมชนแบบ SME เข้าไปพิจารณาแล้วคุณหนูแหม่มจะเป็นคนเลือกด้วยตัวเองว่ามันโอเคหรือไม่โอเค ซึ่งก็เป็นความโชคดีของเรามันไปเข้าตาเขา เขาก็เลยติดต่อกลับมา ถือว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ร้านไปในตัวด้วยค่ะ 



พี่แยม: หลังจากทำธุรกิจร้านข้าวยำปักษ์ใต้ยายประไพมา พี่อาร์มคิดว่าได้อะไรจากการทำตรงนี้บ้างคะ?

พี่อาร์ม: อาชีพการขายข้าวยำเนี่ย หนึ่งเลยที่เห็นได้ชัดคือการได้เป็นนายตัวเอง สามารถจัดการเวลาตัวเองได้ สองก็คือ…พอมันได้เป็นนายตัวเองแล้ว มันทำให้เรารู้สึกว่าเรามีคุณค่ามากขึ้น จากการบริหารจัดการอะไรแบบนี้ ทั้งรายรับแล้วก็รายจ่ายที่มันสมดุลกันได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องมากำหนดเจาะจงว่ารายได้เท่านี้รายจ่ายต้องเท่านี้เป็นไปในแต่ละเดือน คือเราไม่ได้บอกว่าแบบเราคือดีแต่แบบนี้มันเหมาะกับเรา เราแฮปปี้มากกว่าสำหรับทางเลือกนี้ เราเป็นตัวของตัวเองมากกว่า 
            แล้วก็มันเหมือนเป็นบันไดอีกขั้นหนึ่งของการใช้ชีวิต เรื่องของการบริหารจัดการหรือแม้แต่ตัวอาร์มเองตอนทำครั้งแรกก็คิดว่าการทำอาหารมันคือแค่เตรียมของแล้วก็ไปขายเขาสั่งอะไร เราก็แค่ทำ…ข้าวยำหนึ่งกล่องค่ะ หนึ่งกล่องไป ข้าวยำสองกล่องค่ะสองกล่องไป…อย่างนี้จนจบ จบก็เก็บร้าน เก็บร้านก็กลับ ปรากฏว่าของจริงมันไม่ใช่ มันมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณคาดไม่ถึง เราเองก็คาดไม่ถึงเหมือนกัน 
            มันเหมือนการทำขนมไทยที่เขาบอกสูตรมาให้เรียบร้อยแล้ว แต่มันมีเทคนิคเคล็ดลับหรืออะไรบางอย่างที่จะทำให้ขนมอร่อยขึ้นอ่ะ อันนี้ก็เหมือนกัน ทำยังไงให้ข้าวยำมันเพอร์เฟคขึ้น? แล้วประสบการณ์กับเวลาที่มันผ่านไปเรื่อยๆ มันสอนเราเอง เราในที่นี้คือหมายถึงทั้งอาร์มและคุณแม่เนี่ยให้ก้าวไปด้วยกันในทุกวันแล้วก็พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ อาจจะไม่ใช่ก้าวที่ยาวแต่ว่าเราตกลงกันไว้เลยว่าทุกๆ วันเราจะต้องพัฒนาตัวเองกันไปเรื่อยๆ ค่ะ
 
.....................................
....................................................



Bullet Point ใน EP.3 นี้
╔═══════════╗
1.มองหาโอกาสในทุกอุปสรรค อย่าให้ความกลัวหยุดความคิดของเรา ค่อยๆ หาวิธีที่เราสามารถทำได้ก่อน
2.แม้เราจะไม่รู้ว่าโอกาสของเราจะมาเมื่อไร แต่การเตรียมพร้อมอยู่เสมอจะทำให้เข้าใกล้โอกาสนั้นมากขึ้น
3.การมีรายได้หลายช่องทาง ช่วยลดความเสี่ยงทางการเงินได้
4.การใส่ใจสินค้าหรือบริการในด้านเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับธุรกิจ
5.เราต้องหาความพอดีระหว่างการทำธุรกิจยังไงที่เราไม่เดือดร้อนและไม่เอาเปรียบผู้บริโภคจนเกินไป
╚═══════════╝


ขอขอบคุณ พี่อาร์ม ร้านข้าวยำปักษ์ใต้ยายประไพ ที่มาแชร์ประสบการณ์การทำธุรกิจและแรงบันดาลใจนะคะ สำหรับใครที่อยากฟัง EP อื่นๆ สามารถเลือกได้ตามช่องทางต่างๆ นี้ได้เลย
   Youtube EP.1-3     The Gen Z Podcast - YouTube
Soundcloud EP.1-3    The genz podcast Free Listening on SoundCloud
บทความถอดเสียงลง Dek-D 
EP.2    Podcast EP.2 ตอน 1 "ธุรกิจ Packaging" ที่สุดแห่งยุคโควิด 2020 Dek-D.com



#สถาบันเทคโนโลยีไทยญี่ปุ่น #IB #Genzpassion                 

แสดงความคิดเห็น

>