เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนพรัตน์ ทูลมาลย์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ (พฤกษศาสตร์) กลุ่มวิจัยพฤกษศาสตร์และพิพิธภัณฑ์พืช กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับนายสมราน สุดดี ที่ปรึกษาด้านพฤกษศาสตร์ป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ อดีตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอนุกรมวิธานพืชกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช Mr. Poh Teck Ong นักพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์พืชเคปง สวนพฤกษศาสตร์เคปง (The Kepong Botanical Gardens) ประเทศมาเลเซีย Dr André Schuiteman และ Dr Timothy M.A. Utteridge นักพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์พืช สวนพฤกษศาสตร์คิว (The Royal Botanic Gardens, Kew) และ Dr Alastair Culham อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยเรดดิ้ง (The University of Reading) สหราชอาณาจักร ร่วมกันศึกษาและค้นพบกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก ในสกุลเอื้องตะขาบ (Thrixspermum) จากประเทศไทย จำนวน 6 ชนิด ซึ่งเป็นการยืนยันได้ว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความหลากหลายทางชีวภาพของพรรณพืชสกุลนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

โดยมีกล้วยไม้ชนิดใหม่ จำนวน 4 ชนิด ที่มีการกระจายพันธุ์ครอบคลุมเขตพรรณพฤกษชาติของ 3 ภูมิภาค ได้แก่ เอื้องตะขาบขาว มีการกระจายพันธุ์ในเขตพรรณพฤกษชาติอินโด-เบอร์มีส (Indo-Burmese subregion) เอื้องแมงมุมส้ม และเอื้องแมงมุมเหลืองปากหนา มีการกระจายพันธุ์ในเขตพรรณพฤกษชาติอินโด-ไชนีส (Indo-Chinese subregion) เอื้องแมงมุมขาวนรา มีการกระจายพันธุ์ในเขตพรรณพฤกษชาติอินโด-มาลายัน (Indo-Malayan subregion)  และมี 2 ชนิด ที่พบกระจายพันธุ์เฉพาะในประเทศไทย (endemic species) ได้แก่ เอื้องแมงมุมเหลืองปากกระ และเอื้องตะขาบเหลืองตะนาวศรี ซึ่งคณะผู้วิจัยได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ตามกฎเกณฑ์การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์สากล  (The International Code of Nomenclature for algae, fungi, and plants : ICN) และตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติด้านพฤกษศาสตร์ ได้แก่ วารสาร Lankesteriana ประเทศคอสตาริกา ฉบับที่ 22(2) หน้า 155−167 ปี พ.ศ. 2565 และวารสาร Phytotaxa ประเทศนิวซีแลนด์ ฉบับที่ 601(3) หน้า 223−262 ปี พ.ศ. 2566 กล้วยไม้ชนิดใหม่ทั้ง 6 ชนิด ประกอบด้วย 

1.เอื้องแมงมุมขาวนรา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thrixspermum obyrneanum Toolmal, P.T. Ong & Schuit.  โดยคำระบุชนิด “obyrneanum” ของเอื้องแมงมุมขาวนรา ได้ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่อาจารย์ Peter O’Byrne ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์กล้วยไม้ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการศึกษาพืชสกุลเอื้องตะขาบในประเทศมาเลเซียและประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้มอบข้อมูลการศึกษากล้วยไม้สกุลเอื้องตะขาบทั้งหมดแก่สวนพฤกษศาสตร์คิว กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษากล้วยไม้สกุลนี้ของนักวิจัยไทยต่อมา เอื้องแมงมุมขาวนรา ได้เก็บตัวอย่างครั้งแรกร่วมกับนายอับดุลรอแม บากา และนายอับดุลการิม สีแป ผู้เชี่ยวชาญกล้วยไม้ในพื้นที่ จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จ.นราธิวาส ในวันที่ 27 ต.ค. พ.ศ. 2563  โดยมีตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบในการบรรยายชนิดพืช (type specimen) ได้แก่ N.Toolmal, A.Baka, A.Seepae & W.Tanming 27102001 เอื้องแมงมุมขาวนรา มีลักษณะเด่น ได้แก่ ดอกสีเหลืองอ่อน กลีบปากสีเหลืองอ่อน แต้มสีม่วงแดง มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงและกลีบดอกรูปแถบ ยาว 2.1-4.2 ซม. หูกลีบปากด้านข้างรูปคล้ายสามเหลี่ยมหรือคล้ายรูปไข่ ยาว 6-7 มม. ปลายกลีบรูปตัดตรงและหยักไม่เป็นระเบียบ ปลายกลีบปากรูปทรงกระบอก ยาว 3-4.7 ซม. ปลายมน ด้านบนมีขนสีขาวหนาแน่น เอื้องแมงมุมขาวนรา พบกระจายพันธุ์เฉพาะในแถบเทือกเขาเขาสันกาลาคีรี จ.นราธิวาส ของประเทศไทย และในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย 

2.เอื้องแมงมุมส้ม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thrixspermum flammeum Toolmal, Schuit. & Culham โดยชื่อคำระบุชนิดของเอื้องแมงมุมส้ม ได้ตั้งตามชื่อในภาษาละติน “flammeus” แปลว่ามีลักษณะคล้ายเปลวไฟ ตามลักษณะเด่นของพืชที่มีดอกสีส้ม ซึ่งหมายถึงดอกของเอื้องแมงมุมส้มที่มีสีส้มคล้ายเปลวไฟ เอื้องแมงมุมส้ม ได้เก็บตัวอย่างครั้งแรกร่วมกับนายคงศักดิ์ พุทธหะ และนายบุญหุ้ม บัวพงษ์ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์ฯ จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ ในวันที่ 7 ธ.ค. พ.ศ. 2563  มีตัวอย่างต้นแบบในการบรรยายชนิดพืช (type specimen) ได้แก่ N.Toolmal, B.Buaphong & K.Putaha 07122003 เอื้องแมงมุมส้ม มีลักษณะเด่น ได้แก่ ดอกมีสีส้ม กลีบปากสีเหลืองอ่อนมีจุดประสีน้ำตาลแดง ดอกกว้างประมาณ 6 ซม. มีกลิ่นหอม กลีบดอกรูปแถบ ยาว 4.2-5.3 ซม. ถุงกลีบปากสั้น มีความยาว 4-5 มม. ด้านในถุงกลีบปากปกคลุมด้วยขนสีส้มหนาแน่น หูกลีบปากด้านข้างรูปคล้ายสามเหลี่ยมหรือคล้ายรูปไข่ ยาวประมาณ 9 มม. ปลายกลีบปากรูปคล้ายสามเหลี่ยม ขนาด 5-7×4 มม. ด้านบนเป็นร่องตามยาว มีขนสั้นนุ่มปกคลุมทั้งด้านบนและด้านล่าง กลางกลีบปากมีแคลลัส ขนาดใหญ่ 2.5×2.5 มม. และปกคลุมด้วยขนสั้นนุ่ม ปลายหยักเป็น 2 พู เอื้องแมงมุมส้ม พบกระจายพันธุ์เฉพาะในเขตร้อนชื้นภาคพื้นทวีปของของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศจีน ไทย ลาว และกัมพูชา 

3.เอื้องแมงมุมเหลืองปากหนา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thrixspermum simile Toolmal, Schuit. & โดยชื่อคำระบุชนิดได้ตั้งชื่อตามภาษาละติน “similis” แปลว่า มีลักษณะคล้ายกัน ตามลักษณะเด่นของพืชที่มีความคล้ายคลึงกับกล้วยไม้อีกชนิด ได้แก่ เอื้องตะขาบเหลือง Thrixspermum centipeda Lour. ทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจว่าเป็นกล้วยไม้ชนิดเดียวกันมาอย่างยาวนาน เอื้องแมงมุมเหลืองปากหนา ได้เก็บตัวอย่างครั้งแรกจากน้ำตกตรอกนอง อ.ขลุง จ.จันทบุรี ในวันที่ 24 ส.ค. พ.ศ. 2564 มีตัวอย่างต้นแบบในการบรรยายชนิดพืช (type specimen) ได้แก่ N. Toolmal & W. Tanming 24082101 เอื้องแมงมุมเหลืองปากหนา มีลักษณะเด่น ได้แก่ ดอกสีเหลืองอ่อน กลีบปากสีเหลืองอ่อนมีริ้วสีม่วงแดงและสีส้มแกมสีน้ำตาล ปลายกลีบปากสีขาว มีกลิ่นหอม กลีบดอกรูปแถบ ยาว 2.3-2.6 ซม. กลีบปากรูปขอบขนานถึงรูปไข่ ยาว 8-8.5 มม. ถุงกลีบปากสั้น มีความยาว 2-2.5 มม. หูกลีบปากรูปคล้ายสามเหลี่ยมถึงรูปไข่ ขนาด 5-5.2×2-2.2 มม. ปลายแหลมถึงค่อนข้างตัดตรง ปลายกลีบปากรูปไข่ ยาว 3-5 มม. (ปลายกลีบปาก มีส่วนเว้าที่โคน ยาว 1.5-2 มม. และส่วนนูนบริวาณปลายกลีบ ยาวประมาณ 4 มม.) เอื้องแมงมุมเหลืองปากหนา พบกระจายพันธุ์เฉพาะในแถบเทือกเขาบรรทัด ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของไทย และประเทศกัมพูชา 

4.เอื้องแมงมุมเหลืองปากกระ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thrixspermum polystictum Toolmal, Schuit. & Suddee โดยชื่อคำระบุชนิดได้ตั้งชื่อตามภาษาละติน “polystictus” แปลว่า มีจุดประสีจำนวนมาก ตามลักษณะเด่นของพืชที่มีกลีบปากสีขาว มีจุดประสีม่วงแดงและสีน้ำตาลแดงเป็นจำนวนมาก เอื้องแมงมุมเหลืองปากกระ ได้เก็บตัวอย่างครั้งแรกร่วมกับนายเสกสรร ไกรทองสุข และนายพสิษฐ์ เอื้ออารีย์ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานฯ จากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ในวันที่ 10 ก.ย. 2564  มีตัวอย่างต้นแบบในการบรรยายชนิดพืช (type specimen) ได้แก่ N.Toolmal & W.Tanming 10092102  เอื้องแมงมุมเหลืองปากกระ มีลักษณะเด่น ได้แก่ ดอกสีเหลืองอ่อน กลีบปากสีขาวแต้มจุดประสีม่วงแดงและสีน้ำตาลแดงหนาแน่น มีกลิ่นหอม ดอกกว้าง 5-6 ซม. กลีบดอกรูปแถบ ยาว 2.6-3.5 ซม. ถุงกลีบปาก ขนาด 2-3×2-3 มม. หูกลีบปาก ขนาด 5.7-6.0×2.4-3.0 มม. ปลายกลีบปากรูปไข่ ขนาด 5.0×3.4 มม. (ปลายกลีบปาก มีส่วนเว้าที่โคน ยาวประมาณ 3.2 มม. และส่วนนูนบริวาณปลายกลีบ ยาวประมาณ 2 มม.) เอื้องแมงมุมเหลืองปากกระ เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบกระจายพันธุ์เฉพาะในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา 

5.เอื้องตะขาบเหลืองตะนาวศรี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thrixspermum alboluteum Toolmal, Schuit. & Culham (ภาพที่ 9) โดยชื่อคำระบุชนิดได้ตั้งชื่อตามภาษาละติน “album” แปลว่า มีสีขาว ตามลักษณะเด่นของพืชที่มีกลีบปากสีขาว เอื้องตะขาบเหลืองตะนาวศรี ได้เก็บตัวอย่างครั้งแรกร่วมกับนายศิริชัย รักซื่อ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ จากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในวันที่ 20 ธ.ค. พ.ศ. 2563  มีตัวอย่างต้นแบบในการบรรยายชนิดพืช (type specimen) ได้แก่ N.Toolmal, S.Raksue & W.Tanming 20122001 เอื้องตะขาบเหลืองตะนาวศรี มีลักษณะเด่น ได้แก่ ดอกสีเหลือง กลีบปากสีขาวแต้มสีส้มแกมสีน้ำตาล ภายในถุงกลีบปากมีปุ่มสีส้มกระจัดกระจาย มีกลิ่นหอม หูกลีบปากรูปไข่กลับ ยาว 4-5 มม. ปลายมน ปลายกลีบปากรูปคล้ายสามเหลี่ยม ด้านบนเว้าลักษณะคล้ายแอ่ง ปกคลุ่มด้านขนลักษณะคล้ายกระบองหนาแน่น ปลายเว้าตื้น เอื้องตะขาบเหลืองตะนาวศรี เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบกระจายพันธุ์เฉพาะในแถบภาคตะวันตกของประเทศไทยในเขต จ.อุทัยธานี จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์  

6.เอื้องตะขาบขาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ Thrixspermum praetermissum Toolmal, Schuit. & Suddee โดยชื่อคำระบุชนิดของเอื้องขาว ได้ตั้งชื่อตามภาษาละติน “praetermissum” แปลว่าไม่ได้รับความสนใจ ซึ่งหมายถึง แม้ว่าเอื้องขาว เป็นกล้วยไม้ที่มีการกระจายพันธุ์กว้างและพบได้ทั่วไป แต่นักพฤกษศาสตร์มักจะเข้าใจผิดว่าเป็นกล้วยไม้ชนิดเดียวกันกับตะขาบเหลืองปากลาย Thrixspermum trichoglottis (Hook.f.) Kuntze และไม่ได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์จนกระทั่งปัจจุบัน เอื้องตะขาบขาว ได้เก็บตัวอย่างครั้งแรกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ ในวันที่ 7 ธ.ค.พ.ศ. 2563  มีตัวอย่างต้นแบบในการบรรยายชนิดพืช (type specimen) ได้แก่ N.Toolmal, B.Buaphong & K.Putaha 07122002 เอื้องตะขาบขาว มีลักษณะเด่น ได้แก่ ดอกสีขาว กลีบปากสีขาวมีจุดประสีส้มแกมสีน้ำตาล ภายในถุงกลีบปากมีปุ่มสีส้มกระจัดกระจาย กลีบเลี้ยงด้านบนรูปใบหอกหรือรูปรี กว้าง 3-4 มม. กลีบเลี้ยงข้างรูปใบหอก ขนาด 10-11×4-5 มม. กลีบดอกรูปใบหอกกลับ กว้าง 3.0-3.5 มม. ถุงกลีบปาก ขนาด 3×2 มม. ปลายหยักเป็น 2 พู หูกลีบปากรูปไข่กว้างถึงรูปเกือบกลม ขนาด 3.5-4.0×2.0-2.5 มม. ปลายมนกว้าง ปกคลุมด้วยขนปุ่มบริเวณขอบกลีบหนาแน่น ปลายกลีบปากรูปไข่ ขนาด 1.0×1.5 มม. ปลายมน โค้งกลับด้านบน ปกคลุมด้วยขนปุ่มบริเวณขอบกลีบ เอื้องตะขาบขาว พบกระจายพันธุ์เฉพาะในเขตร้อนชื้นภาคพื้นทวีปของเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศอินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา จีน ไทย ลาว และเวียดนาม 

ทั้งนี้การค้นพบกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก 6 ชนิด ทำให้ทราบว่าประเทศไทย มีความหลากหลายของพืชวงศ์กล้วยไม้ (Orchidaceae) สูง โดยปัจจุบันมีการสำรวจพบแล้ว มากว่า 1,258 ชนิด และยังมีการค้นพบกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก (new species) และกล้วยไม้รายงานใหม่ของไทย (new record for the Flora of Thailand) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการทราบถึงข้อมูลความหลากหลายของพรรณพฤกษชาติต่าง ๆ เหล่านี้ จะเป็นต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อการนำมาพัฒนาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือเป็นแหล่งศึกษาวิจัยทางพฤกษศาสตร์ (botanical research) และการอนุรักษ์ของนักวิจัยจากทั่วโลกต่อไป  

กล้วยไม้ เป็นพืชที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศมาอย่างยาวนานในการนำมาพัฒนาเป็นไม้ดอกไม้ประดับ เช่น กล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium) สกุลแวนด้า (Vanda) และเป็นที่ต้องการของนักสะสมพรรณไม้หายาก เช่น กล้วยไม้รองเท้านารี (Paphiopedilum) การใช้ประโยชน์ด้านอาหาร เช่น วนิลา (Vanilla) อุตสาหกรรมน้ำหอม เช่น เอื้องช้างกระ (Rhynchostylis) กล้วยไม้ยังมีคุณค่าต่อการนำมาศึกษาวิจัยต่อยอดด้านสมุนไพรไทย เช่น การค้นพบตัวยาใหม่ ๆ ทั่วโลกมีรายงานกล้วยไม้ที่เป็นพืชสมุนไพร ทั้งใช้เป็นสมุนไพรเดี่ยว และส่วนประกอบของตำรับยา เช่น การแพทย์แผนจีน  (Traditional Chinese medicine) การแพทย์อายุรเวทอินเดีย (Ayurvedic medicine) และการแพทย์แผนดั้งเดิม (traditional medicine) ของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาหลี และญี่ปุ่น มากกว่า 600 ชนิด

ประเทศไทยมีรายงานการใช้ประโยชน์จากกล้วยไม้เป็นพืชสมุนไพร ประมาณ 25 สกุล 42 ชนิด ในจำนวนนี้เคยมีการนำกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก เอื้องตะขาบเหลืองหรือเอื้องตะขาบส้ม ในการรักษาโรคหอบหืด (asthma) อีกด้วย นอกจากนี้กล้วยไม้สกุลเอื้องตะขาบรวมถึงพืชชนิดใหม่นี้ยังประกอบไปด้วยสารที่ให้กลิ่นหอม เช่น cis-linalool oxide และ nerolidol เป็นต้น ที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม ทั้งนี้กลุ่มงานวิจัยพฤกษศาสตร์และพิพิธภัณฑ์พืช ร่วมกับกลุ่มวิจัยพรีคลินิกและห้องปฏิบัติการ โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาวิจัยต่อยอดด้านองค์ประกอบทางเคมี (chemical components) ฤทธิ์ทางชีวภาพ (biological activity) และความเป็นพิษ (toxicity) เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์แผนไทยต่อไป.