ด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสงของ ต้นไม้ และนำมากักเก็บไว้ตามส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นใบ กิ่ง ลำต้น และรากใต้ดิน โดยการปลูกต้นไม้ยืนต้น 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 9-15 กิโลกรัม CO2 ต่อปี

แถมยังช่วยผลิตออกซิเจนได้เพียงพอสำหรับ 2 คนต่อปี และช่วยลดอุณหภูมิรอบพื้นที่ปลูกได้ 2-4 องศาเซลเซียส ยิ่งเราปลูกต้นไม้ถูกวิธี ทำให้ต้นไม้เติบโตได้อย่างยั่งยืนมากแค่ไหน วิกฤติโลกร้อนก็จะบรรเทาลงได้มากเช่นกัน ที่สำคัญการปลูกต้นไม้บางชนิดสามารถนำปริมาณการดูดซับคาร์บอนมาคำนวณแลกเปลี่ยนเป็น “คาร์บอนเครดิต” นำมาซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิตได้อีกด้วย โดยปัจจุบันราคา “คาร์บอนเครดิต” อยู่ที่ 120 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์

เปิด 58 ต้นไม้ขายคาร์บอนเครดิต

สำหรับต้นไม้ ที่ “กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม” แนะนำมาคำนวณแลกเปลี่ยนเป็นคาร์บอนเครดิตได้ มีทั้งสิ้น 58 ชนิด ประกอบด้วย 1.ตะเคียนทอง 2.ตะเคียนหิน 3.ตะเคียนชันตาแมว 4.ไม้สกุลยาง (ไม่รวมยางพารา) 5.สะเดา 6.สะเดาเทียม 7.ตะกู 8.ยมหิน 9.ยมหอม 10.นางพญาเสือโคร่ง 11.นนทรี 12.สัตบรรณ 13.ตีนเป็ดทะเล 14.พฤกษ์ 15.ปีบ 16.ตะแบกนา 17.เสลา 18.อินทนิลนํ้า 19.ตะแบกเลือด 20.นากบุด 21.ไม้สัก 22.พะยูง 23.ชิงชัน 24.กระซิก 25.กระพี้เขาควาย 26.สาธร 27.แดง 28.ประดู่ป่า 29.ประดู่บ้าน 30.มะค่าโมง 31.มะค่าแต้ 32.เคี่ยม 33.เคี่ยมคะนอง 34.เต็ง

35.รัง 36.พะยอม 37.ไม้สกุลจำปี (จำปี สิรินธร จำปีป่า จำปีถิ่นไทย จำปีดง จำปีแขก จำปีเพชร) 38.แคนา 39.กัลปพฤกษ์ 40.ราชพฤกษ์ 41.สุพรรณิการ์ 42.เหลืองปรีดียาธร 43.มะหาด 44.มะขามป้อม 45.หว้า 46.จามจุรี 47.พลับพลา 48.กันเกรา 49.กะทังใบใหญ่ 50.หลุมพอ 51.กฤษณา 52.ไม้หอม 53.เทพทาโร 54.ฝาง 55.ไผ่ทุกชนิด 56.ไม้สกุลมะม่วง 57.ไม้สกุลทุเรียน 58.มะขาม

ซาอุฯนำเข้าต้นไม้ทั่วโลก 5 หมื่นล้านต้น

การปลูกต้นไม้ไม่ใช่แค่ว่า จะขายเป็นคาร์บอนเครดิตได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังสามารถขายให้กับต่างประเทศได้ เช่น ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีโครงการปลูกต้นไม้ 50,000 ล้านต้น ในกลุ่มคาบสมุทรอ่าวอาหรับ (GCC) รวม 6 ประเทศ ตามเป้าหมายวิชั่น 2030 ที่ซาอุฯ จะเป็นแกนหลักนำเข้าต้นไม้จาก ทั่วโลกที่กำหนดไว้ 38 ประเภท เพื่อให้บรรลุตามนโยบายซาอุดีอาระเบียสีเขียว ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทย ได้ส่งต้นไม้ไปยังซาอุฯ แล้วกว่า 200,000 ต้น และถือว่ายังมีโอกาสให้ไทยส่งออกต้นไม้ไปยังซาอุฯ ได้อีกมาก

สำหรับต้นไม้ 38 ประเภท ได้แก่ 1.ชมพูพันธุ์ทิพย์ 2.นนทรี 3.พุทราจีน 4.ศรีตรัง 5.หูกวาง 6.อรชุน 7.ไทรย้อยใบแหลม 8. พฤกษ์ 9. ยี่เข่ง 10.งิ้ว 11. หางนกยูงฝรั่ง 12. มัลเบอร์รี 13. มะรุม 14. เลี่ยน 15.มะเดื่อ 16.เลมอน 17.ส้มซ่า 18.คารอบ 19.ส้มแมนดาริน 20.มะตูมซาอุ 21.กระถินเทพา 22.หยีนํ้า 23.นิโครธ 24.ชัยพฤกษ์ 25.ก้ามปู 26.ปีบ 27.เสี้ยวดอกขาว 28.ชงโค 29.ราชพฤกษ์ 30.มะขามเทศ 31.มะกอกโอลีฟ 32.โพ 33.สะเดา 34.มะขาม 35.โพทะเล 36.กร่าง 37.ปอทะเล 38.ทามาริสก์

ต้นไม้ช่วยกู้เงินได้

นอกจากนี้ต้นไม้ ยังสามารถเป็น “หลักประกันทางธุรกิจ” ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดกว้างให้นำไม้ยืนต้นที่มีค่าที่ปลูกบนที่ดินกรรมสิทธิ์มาเป็นหลักทรัพย์คํ้าประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อลงทุนหรือต่อยอดธุรกิจได้เช่นเดียวกับทรัพย์สินหลายประเภทที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เช่น กิจการ สิทธิเรียกร้อง อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง และวัตถุดิบ อสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ เปิดกว้างให้ไม้ทุกชนิดสามารถขอเป็นหลักประกันได้ เช่น ไม้สัก พะยูง ชิงชัน กระซิก กระพี้เขาควาย สาธร แดง ประดู่ป่า ประดู่บ้าน มะค่าโมง มะค่าแต้ เคี่ยม เคี่ยมคะนอง เต็ง รัง พะยอม ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะเคียนชันตาแมว ไม้สกุลยาง (ไม่รวมยางพารา) สะเดา สะเดาเทียม ตะกู ยมหิน ยมหอม นางพญาเสือโคร่ง นนทรี สัตบรรณ ตีนเป็ดทะเล พฤกษ์ ปีบ ตะแบกนา เสลา อินทนิลนํ้า ตะแบกเลือด นากบุด ไม้สกุลจำปี (จำปีสิรินธร จำปีป่า จำปีถิ่นไทย จำปีดง จำปีแขก จำปีเพชร) แคนา กัลปพฤกษ์ ราชพฤกษ์ สุพรรณิการ์ เหลืองปรีดียาธร มะหาด มะขามป้อม หว้า จามจุรี พลับพลา กันเกรา กะทังใบใหญ่ หลุมพอ กฤษณาไม้หอม เทพทาโร ฝาง ไผ่ทุกชนิด ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียนมะขามและไม้ไผ่ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสถาบันการเงินแต่ละแห่งและสามารถขอขยายวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมได้ในอนาคตตามการเติบโตของต้นไม้แต่ละชนิด

เปิดสถิติกู้ได้จริง 138 ล้าน

สถิติการใช้ไม้ยืนต้นยื่นหลักประกัน ณ วันที่ 11 มิ.ย. 66 กรมพัฒนาธุรกิจ ระบุการจดทะเบียนการนำต้นไม้มาเป็นหลักประกัน มีประมาณ 146,864 ต้น เป็นจำนวนเงินคํ้าประกัน 138.05 ล้านบาท แบ่งเป็นยื่นกับธนาคารกรุงไทย จำนวนต้นไม้ 23,000 ต้น จำนวนเงินคํ้าประกัน 128 ล้านบาท เช่น สัก, พิโก จำนวน 122,964 ต้น เงินคํ้าประกัน 6 ล้านบาท เช่น ต้นยางพารา ต้นขนุน ต้นสับปะรด ต้นยูคาลิปตัส ต้นสัก ไม้สกุลทุเรียน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวนต้นไม้ 896 ต้น เงินคํ้าประกัน 4.04 ล้านบาท เช่น มะขาม มะกอกป่า สะเดา ตะโก โมกมัน งิ้วป่า กระท้อน มะเกลือ ยอป่า มะม่วง ไม้แดง ยาง ประดู่ป่า มะหาด พะยอม เสลา เต็ง ประดู่บ้าน รัง พลวง สัก ตะแบกนา มะขามเทศ ตะกู พฤกษ์

สำหรับเกณฑ์การประเมินราคา ต้นไม้มีค่า เช่น ต้องเป็นต้นไม้อายุ 1 ปีขึ้นไป, มีลำต้นตรง 2 เมตรขึ้นไป ต้องเป็นต้นไม้ที่ปลูกในที่ดินตนเอง, การวัดมูลค่าจะต้องมีกรรมการและสมาชิกธนาคาร อย่างน้อย 3 คนร่วมประเมินมูลค่า, ต้นไม้เป็นรายต้นที่ความสูง 1.30 เมตร, มีเส้นรอบวงต้น ไม่ตํ่ากว่า 3 เซนติเมตร และเปรียบเทียบเส้นรอบวงที่วัดได้ กับตารางปริมาณ และราคาเนื้อไม้ ที่แบ่งเป็น 4 กลุ่ม เพื่อหามูลค่าต้นไม้ และจะปล่อยกู้ให้ 50% ของราคาประเมินต้นไม้ชนิดนั้น ๆ ตัวอย่าง ที่ดินที่นำมาจดจำนองขอสินเชื่อ หากที่ดินที่นำมาจดจำนองขอสินเชื่อ มีราคาประเมิน 500,000 บาท ปกติกู้ได้ 50% ของราคาประเมิน หรือ 250,000 บาท

หากผู้กู้มีต้นไม้ ซึ่งมีมูลค่าตามการประเมินมูลค่าต้นไม้รวมทั้งสิ้น 300,000 บาท ก็จะใช้เป็นหลักทรัพย์คํ้าประกันได้ 50% หรือ 150,000 บาท ดังนั้น ผู้กู้รายนี้ จะมีหลักทรัพย์คํ้าประกันทั้งสิ้น 650,000 บาท (ราคาประเมินที่ดิน 500,000+มูลค่าหลักทรัพย์คํ้าประกันที่เป็นต้นไม้ 150,000) และจะสามารถได้วงเงินกู้ 325,000 บาท หรือ 50% ของ 650,000 บาท ซึ่งหมายความว่า ได้เพิ่มจากราคาประเมินที่ดินเปล่า 75,000 บาท เป็นต้น

เห็นได้ว่าต้นไม้ 1 ต้น สามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาลทีเดียว ถ้าเรามีพื้นที่ ลองตั้งหลักศึกษาวางแผนให้ดีก่อนปลูก จะได้รู้ว่า เราจะปลูกเพื่ออะไร เพื่อได้ตอบโจทย์ได้อย่างลงตัว.