เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ผู้สื่อข่าว รับแจ้งจากชาวบ้านว่า บริเวณเทือกเขาผาแรต หมู่ 13 ต.น้ำรอบ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี พบหัวกะโหลกกระดูกมนุษย์โบราณและภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ ภายในถ้ำของเทือกเขา จึงเดินทางไปตรวจสอบ โดยจุดที่พบนั้นต้องเดินเท้าไปตามเชิงเขา 100 เมตร ต้องปีนป่ายก้อนหินไปยังถ้ำที่อยู่บนเขา ซึ่งมีความลาดชันและลำบากในการสำรวจ เนื่องจากมีหน้าผาลาดเอียง 80 องศา สูงจากพื้นดินประมาณ 8 เมตร ชาวบ้านนำบันไดไม้ไผ่มาต่อกัน 2 ชั้น พาดกับหน้าผา ทำให้สามารถขึ้นไปบนถ้ำได้สะดวกกว่า

ทันทีที่ไปถึงพบว่า เป็นถ้ำขนาดเล็กปากถ้ำกว้างประมาณ 5 เมตร ลึก 7 เมตร ภายในมีลักษณะคล้ายห้องโถงขนาดเล็ก ภายในหลุมขนาดเล็ก พบหัวกะโหลกมนุษย์โบราณ ส่วนบริเวณโดยรอบพบชิ้นส่วนของกระดูก เช่น กรามฟัน รวม 2 กอง ส่วนที่ผนังถ้ำด้านหน้า พบภาพเขียนสี 3-4 จุด เป็นภาพคน และภาพสัตว์เลี้ยงวัวและควาย

ด้าน นายปิยะ ยิ้มเนียม อายุ 45 ปี ชาวสวนผลไม้ที่อยู่ใกล้เคียงถ้ำดังกล่าว และเป็นผู้พบคนแรกเปิดเผยว่า ตนออกหาของป่า ระหว่างทางได้ปีนขึ้นไปเก็บขี้ค้างคาวบนเขา ทำให้พบโครงกระดูกซึ่งตอนแรกคิดว่าเป็นพวกกระดูกสัตว์ประเภทเลียงผา เพราะมีชุกชุมในพื้นที่ แต่พอเข้าไปด้านในกลับพบกะโหลกของมนุษย์ และภาพเขียนสีโบราณที่ผนังถ้ำด้านใน จึงแจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านทราบ ซึ่งจะได้ประสานฝ่ายงานเกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบต่อไป

สำหรับเขาผาแรต อยุ่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีความสูง 376 เมตร เป็นเทือกเขาหินปูน มีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นปกคลุมเขียวขจี มีสัตว์ป่าอาสัยอยู่อย่างชุกชุม โดยเฉพาะเลียงผาและค้างคาว ชอบอาศัยอยู่ในถ้ำ โดยช่วงเย็นจะมีฝูงค้างคาวบินออกจากถ้ำจำนวนหลายล้านตัว บินเป็นเป็นทางยาวสวยงามตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ส่วนหัวกะโหลกมนุษย์โบราณ และภาพเขียนสีที่พบภายในถ้ำที่เทือกเขาผาแรตนั้น ถือเป็นการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์โบราณ แห่งที่ 2 สันนิษฐานว่า เป็นยุคเดียวกับภาพเขียนสีเขาปลาร้าที่ ต.ทุ่งนางาม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 3,000 ปี