เรียกได้ว่านับเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวดี ๆ ของคนในวงการบันเทิงในช่วงที่ผ่านมา หลังดาราดัง ปอย ตรีชฎา ควงแขนหนุ่ม โอ๊ค-บรรลุ หงษ์หยก เข้าพิธีแต่งงานตามแบบประเพณีโบราณ “บาบ๋า ย่าหยา” สวมมงกุฎทองคำสุดอลังการ งามสง่ามาก ๆ ส่วนเจ้าบ่าวอยู่ในชุดเจ้าบ่าวสูทสากล เป็นคู่ที่เหมาะสมกันมากซึ่งหลังจากมีรูปและคลิปออกไป หลายคนก็พากันมาแสดงความยินดีกับสาวปอยและหนุ่มโอ๊คกันอีกรัว ๆ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” จึงพาทุกท่านมารู้จักกับ “บาบ๋า ย่าหยา” พิธีแต่งงานตามแบบประเพณีโบราณ โดยวัฒนธรรม “บาบ๋า” เป็นประเพณีอันเก่าแก่ และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ จุดเริ่มต้นมาจากในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 มีการอพยพของชาวจีนมายังประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะประเทศจีนในช่วงนั้นมีความไม่สงบทางการเมือง และภาวะสงครามที่ก่อให้เกิดความอดอยากแร้นแค้น คนจีนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนได้มาขึ้นฝั่ง ทำเหมืองแร่ ค้าขาย

และส่วนใหญ่ผู้ที่อพยพมานั้นจะเป็นชายหนุ่มและเด็กหนุ่มที่ยังไม่มีครอบครัว โดยบางคนก็ได้มาสร้างครอบครัวใหม่กับคนคนพื้นเมืองภูเก็ต รวมถึงในพื้นที่ใกล้เคียงภูเก็ตในประเทศไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ทำให้เกิดคำว่า “บาบ๋า ย่าหยา” คือ ลูกชาวจีน และคำว่า “เปอรานากัน” เป็นคำมาเลย์ แปลว่า “เด็กที่เกิดในท้องถิ่น” เป็นที่มาของคำว่า บาบ๋า หรือ เปอรานากัน หมายถึง ลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษชาวจีนและคนท้องถิ่น ที่อาศัยอยู่ในภูเก็ตมาเป็นเวลานาน โดยคำว่า “บาบ๋า” จะใช้เรียกลูกชาย ส่วนคำว่า “ย่าหยา” จะใช้เรียกลูกสาว

เมื่อมีทายาท จึงเกิดคำว่า “บาบ๋า ย่าหยา” ที่ใช้เรียกลูกชายและลูกสาวที่เป็นลูกครึ่งคนพื้นเมืองและฮกเกี้ยน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะเรียกลูกชายและลูกสาวที่เป็นลูกครึ่งคนพื้นเมืองและฮกเกี้ยนนว่า “บาบ๋า” ส่วนคำว่า “ย่าหยา” จะถูกใช้เป็นแค่คำเรียกเครื่องแต่งกายของผู้หญิงเท่านั้น และด้วยภูมิประเทศที่สมบูรณ์บวกกับเป็นทำเลทองในการค้าขาย เป็นจุดจอดเรือสินค้าที่ไปมาทั่วโลก เมื่อพูดถึงวิถีชีวิตแบบบาบ๋าจึงพูดได้เลยว่ามีโอกาสได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุด และมีรสนิยมวิไลเรื่องการกินอยู่ใช้สอยข้าวของในชีวิตประจำวัน ซึ่งรวมไปถึงงานมงคลอย่างพิธีแต่งงาน

การแต่งงานระหว่างชาวจีนกับชาวมลายูพื้นถิ่นก่อให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม จนหล่อหลอมเป็นวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์แบบฉบับของชาวเปอรานากันในที่สุด มีความโดดเด่นในหลาย ๆ ด้าน เช่น ภาษา เครื่องแต่งกาย อาหาร และสถาปัตยกรรม เป็นต้น

“ประเพณีการแต่งงานบาบ๋า” หรือ “ประเพณีวิวาห์บาบ๋า ย่าย๋า เปอรานากัน” เป็นการแต่งงานแบบจีนในภูเก็ต ที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปี และยังเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวภูเก็ตเชื้อสายจีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสืบทอดประเพณีโบราณ รวมทั้งเป็นการให้เกียรติแก่ฝ่ายเจ้าสาวและครอบครัว ให้มีความมั่นใจในตัวเจ้าบ่าวที่จะสามารถดูแลเจ้าสาวอย่างมีความสุขด้วยการทาบทาม สู่ขอ หมั้นหมาย หรือที่เรียกว่า “ผ่างเต๋” คือ การเชิญญาติผู้ใหญ่จิบน้ำชา และ “เวียนสาดเวียนหมอน” คือ พิธีส่งตัวบ่าวสาวเข้าห้องนอน โดยมี “อึ่มหลาง” หรือ “แม่สื่อ” และ “แม่การ” เป็นผู้ดำเนินพิธีการต่าง ๆ ให้ เพราะในสมัยก่อนคู่สมรสมักไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน จนกว่าจะถึงวันแต่งกัน

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ขั้นตอนและพิธีการ
1.บรรดาญาติพี่น้องของเจ้าบ่าวจะจุดประทัดเคลื่อนขบวนขันหมากไปบ้านเจ้าสาว เพื่อเชิญเจ้าสาวไปจัดพิธี “ผ่างเต๋” ณ สถานที่ได้ตกลงไว้ โดยมีกลุ่มดนตรีบรรเลงนำ ด้วยการตีฆ้องจีนและปีจีน หรือที่เรียกว่า ตีต่อตีเช้ง ที่หมายถึงการแต่ง

2.ภายในขบวนขันหมากของเจ้าบ่าว จะประกอบด้วย ฮวดหนา (ตะกร้าจีนเล็ก) ใส่เงินทองของมีค่า และของหมั้น รวมทั้งเสี่ยหนา (ตะกร้าจีนขนาดใหญ่) บรรทุกรถหรือหาบภายในใส่อาหาร ขนม เครื่องดื่ม ชุดน้ำชา ธูปเทียน เครื่องหอมเซ่นไหว้ เมื่อถึงบ้านเจ้าสาว อึ่มหลาง (แม่สื่อ) จะเป็นผู้ดำเนินการมอบของเหล่าให้แก่ผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

เสน่ห์ของการแต่งงานของชาวบาบ๋า จุดเด่น ที่สำคัญมาก ๆ เลย ก็คือ ความสวยงาม ความอลังการ และจุดเด่นที่ตามมาอีกเรื่องก็คือ ความกตัญญู ความกลมเกลียวใน ครอบครัว และถือว่าเป็นความขลังของการแต่งงานที่ชาวบาบ๋าได้ร่มกันอนุรักษ์ไว้

“ความพิเศษของพิธีแต่งงานบาบ๋า” มีหลายอย่างด้วยกัน โดยเริ่มตั้งแต่ชุดแต่งงานของ บ่าว-สาว ชุดของเจ้าบ่าวมีลักษณะ เป็นสูทแบบฝรั่ง เพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่ง และการดำเนินชีวิตของชาวเปอรานากัน ที่ค้าขายกับบริษัท ชาวต่างชาติ ส่วนชุดเจ้าสาว จะใส่ชุดปันจูปันจัง เป็นชุดยาวที่มีความงดงามด้วยลายผ้าเสื้อตัวในเป็นเสื้อลูกไม้สีขาวคอ ตั้งแขนจีบ นุ่งผ้าลายปาเต๊ะ สวมเสื้อครุยผ้าป่านรูเปีย หรือผ้ามัสลินปักลวดลาย ซึ่งจะเลือกสีคลุมโทนเดียวกับผ้านุ่ง สวมใส่เครื่องประดับประจำตระกูล ติดเครื่องประดับทองชุดใหญ่ ที่เรียกว่า โกสัง มีเข็มกลัดชิ้นใหญ่ และอีก 3 ชิ้นเล็ก ใส่กำไลข้อเท้า สวมรองเท้าปักดิ้น หรือลูกปัด ทรงผมมีเอกลักษณ์ คือ ทรงผมเกล้าสูง มีชื่อเรียกว่า ทรงซักอีโบย และที่ สำคัญ คือ เจ้าสาวต้องใส่มงกุฎทอง “ดอกไม้ไหว” ที่ทำด้วยทองคำ

ชุดเจ้าสาว
มีลักษณะเครื่องแต่งกายและทรงผมแบบเดียวกับ “ชุดคหปตานี” ต่างกันที่เสื้อครุยเจ้าสาวส่วนใหญ่จะใช้ผ้าลูกไม้โปร่งหรือผ้าป่านแก้ว ส่วนผ้านุ่งจะใช้ปาเต๊ะสีสด รอบมวยผมเป็น ฮั่วก๋วน หรือ มงกุฎเจ้าสาว ประดับด้วยดอกไม้ไหวซึ่งทำจากทองคำ ปักปิ่นทองคำ เครื่องประดับเป็นทองและเพชรอลังการ ใส่ตุ้มหูระย้า สวมสร้อยคอทอง เรียก? หลั่นเต่ป๋าย? ที่หน้าอกเสื้อจะประดับประดาด้วยปิ่นตั้งทองคำเหมือนรูปดาวเต็มหน้าอก ห้อยสายสร้อยทอง สวมแหวน กำไลมือ กำไลข้อเท้า สวมรองเท้าปักดิ้นเงินดิ้น ส่วนชุดเจ้าบ่าวจะหันมานิยมสวมสูทแบบตะวันตก แต่ยังนำจี้สร้อยคอหรือปิ่นตั้งมาติดที่ปกเสื้อ

ซึ่งชุดในพิธีงานแต่งของ ปอย ตรีชฎา เรียกได้ว่าเป็นชุดที่ประโคมด้วยทองคำแท้และเพชรตั้งแต่หัวจดเท้าตามวัฒนธรรมเปอรานากันทั้งชุด โดยจะเห็นว่าเป็นชุดครุยตัวยาว ลักษณะค่อนข้างหลวมโคร่งไม่มาก มีแขนยาวและปลายแขนสอบ คอรูปตัววีและมีการผ่าด้านหน้า โดยชาวมลายูจะเรียกชุดดังกล่าวนี้ว่า “บาจู ปันจัง”

ซึ่งจะมาพร้อมชุดเครื่องประดับ “โกรสัง” โดยทั้งหมดนี้ได้รับอิทธิพลการออกแบบมาจากชุดของผู้หญิงในปีนัง มะละกา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ทว่าในวัฒนธรรมชุด “บาบ๋า” ที่ชาวภูเก็ตรับมานั้น จะประยุกต์ให้ชุดมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยตัดเย็บเป็นเสื้อครุบครึ่งท่อน สั้นคลุมสะโพก แต่ยังมีการสวมเครื่องประดับโกรสังตามแบบวัฒนธรรมดั้งเดิม

ในส่วนของเครื่องประดับโกรสังจะมีทั้งหมด 3 ชิ้น ลักษณะคล้ายเข็มกลัดเสื้อ โดยชิ้นแรกมัรูปทรงเหมือนหัวใจตกแต่งด้วยเพชรลูก ส่วนอีกสองชิ้นที่เหลือจะเป็นเครื่องประดับทรงกลม คล้ายวงแหวนขาดใหญ่ ตกแต่งเป็นลายดอกไม้ ใช้สำหรับกลัดที่เสื้อแทนเม็ดกระดุม

ด้านเครื่องหัวหรือมงกุฎเจ้าสาวนั้นจะเรียกว่า “ฮั่วก๋วน” คือ ดอกไม้ไหว โดยจะสวมหัวกับเฉพาะการเกล้ามวยผมแบบ “ชักอีโบย” ของเจ้าสาวเท่านั้น ในอดีตฮั่วก๋วนจะทำขึ้นจากเส้นเงิน เส้นทองแท้ และไข่มุก เสริมสง่าราศีให้แก่เจ้าสาวผู้สวมใส่อย่างมาก

นอกจากนี้ก็ยังมีเครื่องประดับอื่น ๆ อีกไม่ว่าจะเป็น “หลั่นเต่ป๋าย” หรือสร้อยคอที่ทำด้วยทองคำฉลุลายและฝั่งเพชร “อ่องโบ่” ต่างหูทองคำประดับเพชร แหวน และกำไลข้อมือประดับเพชรซีก สุดอลังการและงดงามเป็นอย่างมาก สมฐานะของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวที่สุด..

ขอบคุณภาพประกอบ : The Thai Peranakan Association, อีจี้จุ๋ม