เมื่อฤดูฝนหมุนวนกลับมา เส้นทางล่องแก่งที่ขึ้นชื่อว่าโหดและยาวที่สุดในประเทศไทย “ล่องแก่งน้ำว้า” จ.น่าน ก็เวียนกลับมาอีกครั้งด้วยเช่นกัน กับความยาวประมาณ 125 กม. นี่เป็นกิจกรรมสุดฮิตสำหรับผู้ที่รักการผจญภัยที่ต้องมาพิชิตให้ได้สักครั้ง เพราะลำน้ำอันอุดมสมบูรณ์ที่ไหลมาจากต้นน้ำซึ่งตั้งอยู่บนทิวเขาหลวงพระบาง ไหลคดเคี้ยวไปตามหุบเขา สองฟากฝั่งร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ความยาวถูกแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ น้ำว้าตอนบน น้ำว้าตอนกลาง และน้ำว้าตอนล่าง

โดยไฮไลต์ของกิจกรรมล่องแก่งลำน้ำว้าแบ่งเป็น 3 ตอน ตามสภาพพื้นที่

ล่องแก่งน้ำว้าตอนบน เป็นเส้นทางล่องแก่งเฉพาะผู้ที่เชี่ยวชาญและโชกโชนกับสายน้ำอันเชี่ยวกรากและโหดมาก แม้จะเป็นระยะทางค่อนข้างสั้น ประมาณ 35 กม. เริ่มต้นที่บ้านสะปันอำเภอบ่อเกลือ ในอุทยานแห่งชาติขุนน่าน ส่วนนี้จะเปิดให้ท่องเที่ยวได้เฉพาะเดือนสิงหาคม-กันยายน เท่านั้น เส้นทางนี้เต็มไปด้วยหินใต้น้ำและแก่งใหญ่ที่จัดอยู่ในระดับ 4-5 ซึ่งถือว่าเป็นระดับสูงของการล่องแก่ง

แก่งที่อันตรายที่สุดคือ แก่งวังเปียนและแก่งถ้ำหอก เป็นแก่งที่ไม่สามารถล่องผ่านไปได้ เพราะมีโตรกผาสูงและซอกหิน จึงต้องยกเรือข้ามไป ก่อนจะไปสิ้นสุดที่บ้านสบมาง อ.บ่อเกลือ

ล่องแก่งลำน้ำว้าตอนกลาง เป็นไฮไลต์ของผู้รักการผจญภัยและหลงใหลธรรมชาติ และมือใหม่ก็ล่องได้ เป็นทริปล่องแก่งแบบ 2 วัน 1 คืน เริ่มต้นที่บ้านสบมาง อ.บ่อเกลือ ไปสิ้นสุดที่แก่งวังลูน บ้านแคว้ง อ.แม่จริม รวมระยะทางประมาณ 80 กม. ที่ถือเป็นไฮไลต์ของการล่องแก่งทั้งหมด เพราะความยาวเกือบ 80 กิโลเมตร ลำน้ำไหลผ่านอำเภอที่สำคัญ เช่น อำเภอบ่อเกลือ อำเภอสันติสุข และอำเภอแม่จริม และมีความยากมีตั้งแต่ระดับ 1-6

ล่องแก่งลำน้ำว้าตอนล่าง เส้นทางอาจจะน้อยนิดเพียง 16 กิโลเมตร แต่สามารถทำกิจกรรมได้ทั้งปี โดยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่จริม ซึ่งการล่องแก่งตอนล่างนี้มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง และนักท่องเที่ยวยังสามารถเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวในเขตอำเภอแม่จริมได้

ตลอดเส้นทางจะได้ผจญภัยกับแก่งอันตื่นเต้นที่มีตั้งแต่ระดับ 1-5 กว่า 100 แก่ง เรียกว่าได้เร้าใจทุกครั้งที่ลงน้ำ ไม่ว่าจะเป็นแก่งเสือเต้น แก่งห้วยเดื่อ และแก่งผีป่า และมันส์กันต่อด้วยแก่งสุดเสียวที่แบบน้ำวนอยู่ใต้แก่งหิน ที่เรียกว่าโฮโดรหรือไฮโดรลิก อย่างแก่งครกมาร้องเสียงกรี๊ดแสบคอ อีกที่แก่งผาขี้นและแก่งรถเมล์ที่ขึ้นชื่อว่าทั้งชันและสูงเป็นเหมือนน้ำตกขนาดย่อม ๆ

มาพิชิตความมันส์กับการล่องแก่งน้ำว้า ต้องศึกษาข้อมูลก่อนเพื่อให้เหมาะกับการผจญภัยของแต่ละคน อันดับแรกตรวจสอบระดับความแรงของกระแสน้ำ เพื่อดูความเหมาะสมในการล่องแก่ง และดูความเหมาะสมกับสภาพร่างกาย และขอความร่วมมือเมื่ออยู่บนเรือ ควรเชื่อฟังคำสั่งของนายหัวและท้ายเรืออย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัย

ฤดูที่เหมาะสมในการล่องแก่งเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน ถึงต้นเดือนมกราคม นักท่องเที่ยวที่ต้องการที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวเพื่อพิชิตลำน้ำว้า จังหวัดน่าน เข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : TAT NAN ททท.สำนักงานน่าน

นอกจากการล่องแก่งน้ำว้าแล้ว พื้นที่น่านใต้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวให้แวะเที่ยวชมอีกหลายจุด โดยเฉพาะในช่วง Green Season เชื่อมโยงเส้นทางอำเภอเวียงสา อำเภอนาน้อย และอำเภอนาหมื่น ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชุมชน

จากอำเภอเมืองผ่านไปยังอำเภอนาน้อย ชม เสาดินนาน้อย ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่สร้างสรรค์ให้เกิดเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำกลายเป็นเสาดินที่แปลกตา หมู่บ้านประมงปากนาย ชุมชนเรือนแพที่ตั้งอยู่ริมน้ำเหนือเขื่อนสิริกิติ์ แวะ วัดบ่อแก้ว วัดที่สร้างด้วยศิลปะแบบล้านนา พระอุโบสถมีสีขาวทั้งหลัง บริเวณหลังวัดมีทุ่งนาที่เขียวขจี วัดศรีษะเกษ วัดเก่าแก่ของอำเภอนาน้อย วัดป่าหวาย ชมพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าที่ดอยเสมอดาว อุทยานแห่งชาติศรีน่าน

เช้าตื่นมาชมพระอาทิตย์ขึ้นท่ามกลางทะเลหมอกที่ดอยเสมอดาว แวะ วัดนาเตา ซึ่งมีหอพระไตรปิฎกและอุโบสถทรงล้านนา วัดหนองป่าค่า อุดหนุนผลิตภัณฑ์ของชุมชน ทั้งผ้าทอ เครื่องจักสาน กาแฟ พืชผักต่าง ๆ สนุกกับกิจกรรมที่น่านปางช้าง

มาที่อำเภอเวียงสาเยี่ยมชม อาคารประวัติศาสตร์อำเภอเวียงสา อดีตที่ว่าการอำเภอสา หรือ อำเภอเวียงสา ตั้งอยู่บนถนนเจ้าฟ้า ตรงข้ามวัดบุญยืน พระอารามหลวง เป็นอาคารไม้สองชั้นเก่าแก่โบราณ เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จออกเยี่ยมประชาชนตามหัวเมืองเหนือที่จังหวัดน่าน ได้เสด็จเวียงสาแห่งแรก เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2501 ทรงโปรดฯ ให้ประชาชนเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ ชื่นชมพระบารมีที่หน้ามุขของอาคารที่ว่าการอำเภอแห่งนี้ ปัจจุบันอาคารประวัติศาสตร์หลังนี้เป็นที่ตั้งของสำนักงานเทศบาล ตำบลเวียงสา และได้จัดแสดงภาพประวัติศาสตร์ การเสด็จฯ ในครั้งนั้นด้วย

แหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ บ้านกะหล๊ก “มนต์เสน่ห์ เสียงกะหล๊กเรียกปลาที่น่านใต้” บ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง ของ อาจารย์ระดม อินแสง ผู้มีความรักธรรมชาติรักแม่น้ำน่าน ตั้งอยู่ที่บ้านดอนไชยใต้ติดกับแม่น้ำน่าน กะหล๊ก คือ เกราะไม้ ในอดีตใช้สำหรับตีแจ้งเหตุร้ายหรือส่งสัญญาณแจ้งข่าวให้ผู้คนในชุมชนมาทำกิจกรรมร่วมกัน แต่วันนี้ใช้ตีเพื่อส่งเสียงเรียกปลาให้มากินอาหาร เป็นการอนุรักษ์พันธุ์ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ

วันที่ 9-10 ต.ค. 2565 อำเภอเวียงสา ร่วมกับเทศบาลตำบลเวียงสา และชมรมแข่งเรืออำเภอเวียงสา ชวนเที่ยว “งานประเพณีแข่งเรือวันออกพรรษา ตานก๋วยสลาก” วัดบุญยืนพระอารามหลวง อำเภอเวียงสา ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2565 ณ บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำน่าน (ท่าน้ำบ้านป่ากล้วย) พบกับการแข่งขันเรือเล็ก เรือกลาง เรือใหญ่เอกลักษณ์น่าน ชมความอลังการของขบวนเรือเอกลักษณ์น่าน ด้วยการโชว์การฟ้อนล่องน่าน การตีฆ้อง กลอง เป่าแน ปาน, ตระการตาด้วยการโชว์เรือสวยงามและกองเชียร์ของแต่ละหมู่บ้าน