พระแสงราชศัสตรา ดาบอาญาสิทธิ์ประจำเมืองเชียงใหม่

การพระราชทานพระแสงราชศัสตรา หรือพระแสงดาบอาญาสิทธิ์ประจำเมือง มีความสำคัญยิ่ง เป็นสัญลักษณ์แทนพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ เป็นความไว้วางพระราชหฤทัยให้ผู้หนึ่งผู้ใดมีอำนาจราชสิทธิ์เด็ดขาดในการสนองพระราชกิจ โดยธรรมเนียมโบราณราชประเพณี จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น มีข้อสังเกตว่า ผู้ได้รับพระราชทานเมื่อเสร็จราชกิจแล้วต้องถวายคืน ถือเป็นการมอบหมายงานเฉพาะกิจ ส่วนใหญ่ จะพระราชทานให้แม่ทัพไปราชการสงครามและปกครองหัวเมือง การมีดาบเล่มนี้ มีความพิเศษ เด็ดขาด ในการออกคำสั่ง พิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดถึงขั้นประหารชีวิตได้

อีกด้านคือการพระราชทาน ให้ผู้มีคุณงามความดี ในแต่ละตระกูล หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นมงคลยิ่งประจำเมือง
ในสมัยรัชกาลที่ 5 จากการเสด็จออกตรวจราชการหัวเมือง ทรงเล็งเห็นการขาดสิ่งสำคัญ ในการประกอบพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในหัวเมืองต่างๆ หลังจากการเลิกธรรมเนียมพระราชทานเครื่องยศในสมัย ร.4 กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในหนังสือ” พระราชหัตถเลขาคราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ” ตอนหนึ่งว่า

“..การสร้างพระแสงราชาวุธขึ้นสำหรับพระราชทานไว้ประจำจังหวัดละองค์ จังหวัดอันเป็นที่ตั้งที่ว่าการมณฑลเป็นพระแสงด้ามทอง ฝักทองลงยาราชาวดีจังหวัดนอกนั้นเป็นพระแสงด้ามทอง ฝักทอง เมื่อเสด็จไปถึงเมืองไหนก็พระราชทานพระแสงสำหรับจังหวัดนั้น และมีพระราชกำหนดว่าถ้าเสด็จไปประทับในจังหวัดใด เมื่อใดให้ถวายพระแสงราชาวุธสำหรับจังหวัดมาไว้ประจำพระองค์ตลอดเวลาที่เสด็จประทับอยู่ในจังหวัดนั้นอย่างหนึ่ง และให้ชุบน้ำพิพัฒน์สัตยาด้วยพระแสงนั้นด้วยอย่างหนึ่ง..”

จังหวัดที่ยังถือพระราชธรรมเนียมปฏิบัติในการถวายพระแสงราชศัสตราประจำเมือง ทุกครั้งที่ ร.9 เสด็จแปรพระราชฐานสืบมาคือ เชียงใหม่,ประจวบคีรีขันธ์และนราธิวาส ในช่วงรัชกาลที่ 5 พระราชทานพระแสงราชศัสตรา13 เมือง สมัยรัชกาลที่ 6 พระราชทานอีก 13 เมือง นับตั้งแต่สมัย ร.5 จนถึงร.7 ทรงพระราชทานพระแสงราชศัสตรา ประจำเมืองรวม 32 องค์ ต่อมามีการยุบเมืองพิชัยรวมเข้ากับอุตรดิตถ์ และยุบเมืองสายบุรีเข้ากับปัตตานี ธรรมเนียมปฏิบัติต้องถวายคืนสำนักพระราชวัง

พระแสงราชศัสตราประจำเมือง มีความคล้ายคลึงกันทุกรัชกาล เป็นดาบไทยยาวประมาณ 100 ซม.ในสมัย ร.5และ ร.6 มีคำจารึกที่ใบดาบ “…สำหรับมณฑล…” และ”….สำหรับเมือง…” ส่วนในรัชกาลที่ 7 ไม่มีจารึก ฝักพระแสงซึ่งมีลายสวยงาม จะสะท้อนภาพวิถีชีวิตและภูมิประเทศของเมืองนั้นๆเช่น ฝักพระแสงหัวเมืองภาคเหนือ จะเป็นทิวทัศน์ป่า เขาและสัตว์ป่า โดยเฉพาะช้าง สิ่งรองรับพระราชแสงราชศัตราประจำเมือง จะมี บันไดแก้ว มีลักษณะเป็นราวรองรับพระแสง มี 2 เสา ลดหลั่นกัน อาจทำเป็นไม้หรือกะหลั่ยทอง ส่วนอีกส่วนคือ พานแว่นฟ้า บางแห่งใช้พานเงินหรือพานแก้วเจียระไน

สำหรับเชียงใหม่นั้น ในคราวเสด็จฯเยือนมณฑลฝ่ายเหนือของร.7 แลสมเด็จพระนางรำไพพรรณี โดยรถไฟพระที่นั่งออกจากพระนครเมื่อ 6 มค.พศ.2469 ในการเสด็จฯครั้งนี้ ร.7ได้ทรงพระราชทานพระแสงราชศัสตรา ประจำเมืองแก่ จ.แพร่ 9 มค. และลำปาง 11 มค. เชียงราย 16 มค. เชียงใหม่ 23 มค.และลำพูน 26 มค. ในปีเดียวกันคือ พศ.2469 หลังจากนั้นไม่มีการพระราชทานแก่เมืองใดอีกเลย โดย จ.พังงาเป็นเมืองสุดท้ายในรัชกาลที่7 ก่อนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะอภิวัฒน์เป็นระบอบประชาธิปไตย จนถึงปัจจุบัน

การสร้างพระแสงราชศัสตราขึ้นสำหรับเมือง ในร.7 ทรงมีพระราชดำรัส ในพระราชพิธี ทรงมอบพระแสงฯนี้แต่ละเมือง ความตอนหนึ่งมีว่า “…..ตามเยี่ยงอย่างซึ่งสมเด็จพระบรมชนกนาถของเราได้ทรงพระดำริสร้างขึ้น สำหรับพระราชทานไว้ในหัวเมือง เพื่อชุบทำน้ำพระพิพัฒน์สัตยาและเป็นที่สักการะต่างพระองค์ … ท่านทั้งหลายจงรับรักษาไว้สำหรับบ้านเมือง พร้อมด้วยพรของเรา ขอให้ท่านทั้งหลายและประชาชนชาวเมือง… ทุกชั้นบรรดาศักดิ์ จงมีความเจริญอายุ วรรณ สุข พละสถาพรเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นด้วยประการทั้งปวงเทอญ…”..

ร่วมแสดงความคิดเห็น