พริ้วไหวในความงาม เอกศิลป์แห่งลายผ้าไทลื้อเชียงของ

เป็นเวลานานกว่า 200 ปีที่ชาวไทลื้อได้อพยพจากถิ่นฐานเดิมในเขตสิบสองปันนาลงมาตั้งบ้านเรือนในอยู่เขตประเทศไทยและบางส่วนของลาว การเดินทางของพวกเขาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมายาวนาน ดังนั้นเอกสารและหลักฐานที่พอจะสืบสาวราวเรื่องถึงประวัติศาสตร์พวกเขาจึงค่อนข้างมีอยู่น้อย คงมีเพียงตำนานและความทรงจำบางประการที่เหลือยู่จากปากต่อปากของผู้เฒ่าชาวไทลื้อเท่านั้น

SONY DSC

จากการสำรวจของนักวิชาการหลายท่านเท่าที่ผ่านมา พบว่าเฉพาะในดินแดนภาคเหนือตอนบนมีหมู่บ้านชาวไทลื้อกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน พะเยาและเชียงราย กว่าหลายร้อยหมู่บ้านโดยเฉพาะชาวไทลื้อที่อยู่เขตอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายถือได้ว่าเป็นกลุ่มไทลื้อที่สืบเชื้อสายมาจากเมืองพง เมืองมาง เมืองหย่วน เมืองล้าในเขตสิบสองปันนาของจีน โดยดูจากหลักฐานการนับถือเทวดาหมู่บ้านหรือเทวดาเจ้าหลวงเมืองล้า ที่พอจะสืบสาวถึงต้นตอได้

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของไทลื้อประการหนึ่งคือการใช้ภาษาของพวกเขา คนลื้อมีภาษาพูดและตัวอักขระตัวเขียนใช้เอง ภาษาของไทลื้อจัดอยู่ในกลุ่มภาษาตระกูลไทเพราะนอกจากจะอ่านออกเสียงคล้ายคลึงกันแล้วยังเขียนเหมือนกันอีกด้วย ลักษณะเด่นของภาษาลื้อ คือการเปลี่ยนแปลงเสียงสระภายในคำ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าภาษาลื้อจะมีหลายคำที่ออกเสียงตรงกับภาษาปักษ์ใต้

ด้วยวิถีชีวิตที่เรียบง่ายสงบสุข อยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ทั้งปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ลูก ดูเหมือนจะเป็นห่วงโซ่แห่งความอาทรที่ถูกปลูกฝังมาโบร่ำโบราณ ชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ของไทลื้อผู้ชายมักจะออกไปทำไร่ทำนา ส่วนหญิงสาวจะอยู่เหย้าเฝ้าเรือนทอผ้าเก็บไว้ใช้ ซึ่งดูเหมือนเป็นเอกลักษณ์ของแม่ญิงชาวลื้อที่ว่า “เกิดเป็นหญิงต้องทอผ้าเป็น เกิดเป็นชายต้องไถนาเป็น” กระทั่งยังมีคำเปรียบเปรยถึงความขยันอดทนในการทำงานของหญิงชาวไทลื้อว่าถ้าบ้านไหนได้สะใภ้เป็นชาวไทลื้อนับว่าบ้านนั้นโชคดี

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้เขียนบทกลอนพรรณนาถึงผ้าทอไทลื้อไว้ในหนังสือเขียนแผ่นดินตอนหนึ่งว่า

“กรอดอกกรอด้าย เป็นลายแดงเหลือง สีหม่นสีเมือง ศรีเวียงเชียงคำ ประดับเกร็ดดาว บนผืนผ้าดำ สีเลื่อมสีล้ำ เป็นริ้วเป็นลาย เหยียบกี่ยกก้าว ค่อยสาวเรียงเส้น กระดกยกเต้น ยกเส้นยกสาย เป็นมุกมิ่งแก้ว เป็นเกาะกระจาย เป็นเชิงเป็นชาย ให้ชื่นให้ชม..”

ไทลื้อที่บ้านหาดบ้าย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นกลุ่มไทลื้อกลุ่มใหญ่ที่อพยพมาจากสิบสองปันนามาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงในปัจจุบันและลวดลายผ้าทอของที่นี่ก็สวยงามเป็นเอกลักษณ์ไม่แพ้ผ้าทอไทลื้อจากที่อื่น คุณดวงพร ธรรมวงศ์ สาวชาวลื้อบ้านหาดบ้ายในฐานะสมาชิกกลุ่มทอผ้าไทลื้อบอกว่า กลุ่มทอผ้าลื้อของบ้านหาดบ้ายตั้งขึ้นมากว่า 10 ปีแล้วมีสมาชิกอยู่ทั้งหมด 160 คน โดยจะมีการทอผ้าแล้วนำมาวางขายที่ร้านของกลุ่ม มีรายได้เฉลี่ยต่อคนประมาณเดือนละ 2,000-3,000 บาท ซึ่งก็นับว่าน่าพอใจ นอกจากนั้นคุณ

ดวงพรยังอธิบายถึงลวดลายผ้าทอโบราณของไทลื้อบ้านหาดบ้ายด้วยว่าลายโบราณและเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอที่นี่ก็คือ ลายอีบี้ (แมลงปอ) ลายดอกฮ้อและลายดอกหน่วย โดยเฉพาะลายดอกหน่วยถ้าทอลงบนผ้าผืนไหนผ้าผืนนั้นจะมีราคาค่อนข้างสูงเพราะทอยากและใช้เวลานาน การรวมตัวของไทลื้อบ้านหาดบ้ายจัดตั้งเป็นกลุ่มทอผ้าขึ้นทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ได้รับคัดเลือกจากคณะทำงานสาขาการท่องเที่ยวของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้เป็นหมู่บ้านในโครงการ Village-Based Tourism ซึ่งเป็นโครงการใหม่ภายใต้กรอบการศึกษาของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ตามโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภาคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ ด้วยความโดดเด่นทางด้านเอกลักษณ์ของกลุ่มชนไทลื้อในจังหวัดเชียงราย ไม่เพียงแต่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยือนเชียงรายเท่านั้นหากแต่ยังนำรายได้เข้าสู่จังหวัดและยังเป็นการเพิ่มรายได้กับชาวบ้านอีกทางหนึ่งด้วย ความสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่กำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวนั้นทำให้ทางจังหวัดเชียงรายได้กำหนดให้มีการส่งเสริมอนุรักษ์การแต่งกายพื้นเมืองของเชียงรายโดยเฉพาะการสืบทอดในเชิงประวัติศาสตร์ที่นับวันความเป็นตัวตนเริ่มแผ่วเบาลงทุกที

เนื่องจากการโถมถาของวัฒนธรรมต่างประเทศที ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่ยังหลงทางตามกระแส เพื่อเป็นการหวนคืนสู่รากเหง้าความเป็นตัวเองทางหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายจึงได้กำหนดแนวคิดพื้นฐานของรูปแบบการแต่งกายพื้นเมืองของเชียงรายขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2539 เพื่อรณรงค์ให้คนท้องถิ่นหันมาสนใจผ้าทอที่ผลิตขึ้นในท้องถิ่นและยังเป็นการส่งเสริมผ้าทอพื้นถิ่นให้เป็นที่นิยมในหมู่คนทั่วไปมากยิ่งขึ้น

สำหรับท่านที่เดินทางผ่านระหว่างช่วงอำเภอเชียงแสนกับอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ลองแวะเข้ามาสัมผัสวัฒนธรรมไทลื้อแบบดั่งเดิมนอกจากการจะได้ชมความสวยงามของผ้าทอไทลื้อแล้ว ที่หมู่บ้านแห่งนี้ยังมีข้าวฟืนสุดยอดต้นตำหรับอาหารไทลื้อที่หาชิมได้ยาก

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น