เที่ยวป่าดึกดำบรรพ์ที่ ดอยอินทนนท์

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอจอมทอง สันป่าตองและแม่แจ่ม มีพื้นที่ทั้งหมด 301,500 ไร่ ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2515 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 6 ของประเทศไทย อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์อยู่ห่างจากเมือง เชียงใหม่ไปทางใต้ประมาณ 106 กิโลเมตร เมื่อเดินทางขึ้นไปยังดอยอินทนนท์ จะผ่านด่านของอุทยานบริเวณน้ำตกแม่กลาง ระยะทางจากช่วงนี้ขึ้นไปยังยอดดอยประมาณ 47 กิโลเมตรเป็นถนนลาดยางอย่างดี บริเวณสองข้างทางขึ้นไปยังยอดดอยอินทนนท์ มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย เริ่มจากน้ำตกแม่กลาง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงที่สุดในเชียงใหม่ มีน้ำไหลตลอดปี ถ้ำบริจินดา เป็นถ้ำใหญ่อยู่ในเทือกเขาดอยอ่างกา หรือดอยอินทนนท์ ผืนป่าแห่งเทือกดอยอินทนนท์ได้ชื่อว่าเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ด้วยระบบนิเวศมากที่สุดผืนหนึ่งของประเทศ ด้วยความสูงที่สุดในจำนวนเทือกเขาที่มีอยู่ทั้งหมดของประเทศจึงทำให้ดอยอินทนนท์ได้ชื่อว่าเป็น “หลังคาสยาม”

ว่ากันว่าเทือกดอยอินทนนท์มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาหิมาลัยของประเทศเนปาล ดังนั้นเราจึงสามารถพบเห็นกลุ่มพืชที่เกิดขึ้นที่นี่เหมือนเช่นเดียวกับกลุ่มพืชที่ขึ้นอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยด้วย แต่เดิมนั้นดอยอินทนนท์มีชื่อเรียกว่า “ดอยอ่างกา” ในสมัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 พระองค์ทรงมีความชื่นชอบและเห็นความสำคัญของป่าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะดอยอ่างกาซึ่งเป็นดอยที่มีความสูงที่สุดในประเทศไทย พระองค์ยังทรงสนับสนุนให้ผู้ที่สนใจศึกษาประวัติและความเป็นมาของพื้นที่นี้เป็นอย่างดี ถึงขนาดมีรับสั่งว่า หากเมื่อพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์แล้วก็ขอให้นำอัฐิส่วนหนึ่งไปบรรจุไว้บนยอดดอย ดังนั้นในเวลาต่อมาจึงมีการเปลี่ยนชื่อเรียกดอยอ่างกามาเป็นดอยอินทนนท์จนถึงทุกวันนี้

ดอยอินทนนท์เป็นดอยที่มีความสูงมากที่สุดของประเทศมีความสูง 2,565 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 20 องศาเซลเซียส ในช่วงฤดูหนาวอุณหภมิจะลดลงเหลือประมาณ 10 – 15 องศาเซลเซียส มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 301,500 ไร่หรือ ประมาณ 482 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่คือ จอมทอง แม่แจ่มและแม่วาง จากความหลากหลายของพรรณไม้ที่พบบนยอดดอยแห่งนี้ทำให้เราทราบว่าส่วนใหญ่ไม้ที่พบจะเป็นไม้เมืองหนาวยืนต้นขนาดใหญ่ที่แต่ละต้นถูกปกคลุมไปด้วยกลุ่มพืชขนาดเล็กจำพวก ไลเคน สาหร่าย มอสและเฟิร์น ตลอดจนเอื้องชนิดต่าง ๆ ที่มักจะเกาะอาศัยอยู่เต็มลำต้น ตั้งแต่โคนขึ้นไปจนถึงเรือนยอด จนแทบจะมองไม่เห็นเปลือกผิวไม้ดูแปลกพิสดารราวกับต้นไม้มีขนปกคลุมจนเป็นที่มาของคำว่า “ต้นไม้ใส่เสื้อ” ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงสภาพความเป็นป่าดิบที่สมบูรณ์ ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของกลุ่มพืชในธรรมชาติ เพราะในขณะที่พืชเล็ก ๆ อาศัยไม้ใหญ่เกาะเกี่ยวอยู่นั้น มันก็ตอบแทนด้วยการช่วยควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้แก่ไม้ใหญ่ด้วย

ความกว้างใหญ่ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ประกอบไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและสวยงามกระจายอยู่ทั่วทั้งอุทยานฯ ถนนที่พาดผ่านอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์สายสำคัญที่มุ่งหน้าขึ้นสู่ยอดดอยเส้นนี้เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวเอาไว้มากมาย นอกเหนือจากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในอุทยานฯ แล้วที่ยอดดอยอินทนนท์ยังถือได้ว่ามีสภาพของความเป็นป่าที่สมบูรณ์มากที่สุดของประเทศ นอกจากนี้ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ใช้เวลาเดินเท้าไม่ไกลนักอยู่หลายเส้นทาง แต่ที่นักท่องนิยมไพรมักจะมาเดินอยู่บ่อย ๆ ก็คือ เส้นทางศึกษาป่าธรรมชาติกิ่วแม่ปาน ในบริเวณนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพของสังคมพืชในเขตเมืองหนาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกของการเดินทาง ลักษณะของสังคมป่าจะเป็นป่าดิบเพราะได้รับความชุ่มชื้นทั้งจากน้ำฝนและเมฆหมอกที่ปกคลุมยอดเขาอยู่เกือบตลอดทั้งปี ผนวกกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นจึงทำให้ผืนป่าผืนนี้มีลักษณะเป็นเหมือนป่าดึกดำบรรพ์ คือเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่และพืชพรรณไม้ขึ้นอย่างหนาทึบตามกิ่งก้านและลำต้นของต้นไม้ในป่าจะมีพืชเกาะเกี่ยวอิงอาศัย เช่น มอส เฟิร์นและมักจะพบพรรณไม้ในวงศ์กุหลาบพันปีและสำเภาแดงขึ้นปกคลุมในระหว่างเส้นทางบางช่วง

ยอดดอยอินทนนท์จุดหมายปลายทางของเส้นทางสายอินทนนท์มาสิ้นสุดที่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 49 ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดที่มีความสูงที่สุดในประเทศ บริเวณนี้เป็นจุดชมวิวที่มีทัศนียภาพสวยงามและบริเวณนี้เองเป็นที่ตั้งของพระสถูปบรรจุอัฐิของเจ้าอินทวิชยานนท์ ในบริเวณใกล้ ๆ ใกล้จะมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติอีกเส้นทางหนึ่งซึ่งเป็นที่มาของคำเรียกชื่อดอยสูงแห่งนี้เมื่อครั้งอดีตว่า “อ่างกา” ระบบนิเวศของบริเวณอ่างกาจะเป็นหนองน้ำซึมซับที่มีสภาพเป็นป่าดึกดำบรรพ์ ในระหว่างเส้นทางเดินป่าบริเวณอ่างกา เราสามารถพบเห็นพืชพรรณที่แปลกไปจากสังคมพืชโดยทั่วไปในประเทศก็คือ ต้นข้างตอกฤๅษีและกุหลาบพันปี ซึ่งจะพบเห็นได้ที่นี่แห่งเดียวเท่านั้น ความสำคัญของแอ่งน้ำซับแห่งนี้ยังมีคุณค่าในฐานะที่เป็นป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำปิง อันเป็นแควหนึ่งที่ไหลมารวมกับน้ำแม่แตงบริเวณออบหลวง ก่อนจะไหลไปรวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์

ความสวยงามและมหัศจรรย์ของป่าดึกดำบรรพ์แห่งดอยอินทนนท์นั้น นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางขึ้นไปสัมผัสได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะฤดูกาลไหน อากาศข้างบนก็ยังสดชื่นเย็นสบาย นอกจากนั้นในบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญหลายแห่ง เช่นน้ำตกสิริภูมิและน้ำตกวชิรธาร เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าชมแห่งหนึ่ง เพราะเป็นน้ำตกที่สวยงามคนละแบบ น้ำตกวชิรธารเป็นน้ำตกใหญ่ เดิมมีชื่อว่า ตาดฆ้องโยง สายน้ำตกจะไหลจากหน้าผาเบื้องบนตกลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง ตรงข้ามมีหน้าผาสูงเรียกว่า “ผาม่อนแก้ว” ภายหลังเปลี่ยนชื่อให้เพราะขึ้นว่า “ผากรแก้ว” การเดินทางไปยังน้ำตกวชิรธารนี้ง่ายมาก จากเชิงดอยอินทนนท์ขึ้นไปถึงกิโลเมตร 21 จะมีป้ายบอกทางแยกเลี้ยวขวาเข้าน้ำตกซึ่งนักท่องเที่ยวจะต้องเดินเท้าเข้าไปอีก 300 เมตร ส่วนน้ำตกสิริภูมิเป็นน้ำตกคู่ที่ไหลลงมาจากหน้าผาสูงเป็นทางยาวสวยงามมาก แต่เดิมน้ำตกนี้มีชื่อว่า “เลาลี” ตามชื่อของหมู่บ้านแม้วเลาลีซึ่งอยู่ใกล้ ๆ น้ำตก

จุดชมวิวและกิ่วแม่ปาน ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 41 – 42 ด้านซ้ายมือเป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติของสังคมพืชหลากหลายกลุ่ม อาทิ ป่าเต็งรัง ป่าผสมผลัดใบ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขาและสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ ระยะทางเดินประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 – 3 ชั่วโมงเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติอย่างแท้จริง ก่อนเดินทางควรจะติดต่อขออนุญาตจากที่ทำการอุทยานฯ เพื่อเรียนรู้วิธีเดินและป้องกันอันตราย พระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ เป็นพระธาตุที่ทางกองทัพอากาศ ร่วมกับพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศได้ร่วมใจสร้างถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษาเมื่อปี 2530 โดยพระธาตุนภเมทนีดล กว้าง 50 เมตรสูง 60 เมตรภายในบรรจุพระบรมสาริกธาตุและพระพุทธรูปบูชา ส่วนพระธาตุนภพลสิริภูมิ กองทัพอากาศร่วมกับพสกนิกรชาวไทยสร้างถวายเป็นพระราชกุศลและเทิดพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยที่เจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อปี 2535 พระมหาธาตุองค์นี้มีรูปทรงคล้ายกับองค์พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล คือมีสัณฐานเป็นรูป 12 เหลี่ยมมีระเบียงแก้วโดยรอบเป็น 2 ระดับ ยอดปลีขององค์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนกลางโถงเจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึงจำหลักด้วยหินหยกขาวบริสุทธิ์

ยอดดอยอินทนนท์ เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในประเทศไทย บริเวณนี้มีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ด้วยสภาพดังกล่าวทำให้พื้นที่นี้มีพันธุ์ไม้เมืองหนาวหลากหลายชนิดขึ้นเกี่ยวพันบนต้นไม้ ทำให้มีสภาพคล้ายกับป่าดึกดำบรรพจนเป็นที่มาของชื่อ ต้นไม้ใส่เสื้อ และยังสามารถพบเห็นต้นข้าวตอกฤๅษีขึ้นตามพื้นดินคาคบไม้มีสีสันสวยงาม นอกจากนี้ยังมีพืชที่หายากหลายชนิดอาทิ กุหลาบพันปี ซึ่งจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ทุกปี ยอดดอยอินทนนท์แห่งนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระสถูปเจ้าพ่ออินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการขึ้นไปสัมผัสหมอกไอความเย็นบนยอดดอยอินทนนท์ ทางอุทยานฯมีบ้านพักไว้รองรับนักท่องเที่ยวและเต็นท์ให้บริการ โดยสามารถติดต่อสำรองที่พักดังกล่าวได้ที่ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กิโลเมตรที่ 31 อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ 0-5326-8550 หรือติดต่อได้ที่ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ 0-2579-7223,0-2579-5734 ต่อ 724,725

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น