“ดอกเอื้องแซะ” ตำนานรักหนุ่มสาว ชาวล้านนา

“เอื้องแซะ…ของสูงล้ำค่าคนต่ำใต้ลุ่มฟ้าอย่าหมายได้ชมเชย” ตำนานความรักที่ข้องเกี่ยวกับดอกไม้มีอยู่มากมาย เรื่องที่นำมาเล่าครั้งนี้คือเรื่องของ “เอื้องแซะ” แต่เดิมเบื้องโบราณแต่ก่อนมา “เอื้องแซะ” ถูกจัดว่าเป็นไม้ต้องห้ามของราชวงศ์ล้านนาเมื่อ ๗๐๐ กว่าปีที่แล้ว…

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาเล่าถึงตำนานรักดอกเอื้องแซะ ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกันนะคะ

ดอกเอื้องเเซะ

ในสมัยโบราณ “เอื้องแซะ” เป็นเครื่องสักการะชั้นสูง เป็นเครื่องบรรณาการอย่างหนึ่งที่ชาว “ลัวะ” ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอนจะต้องนำส่งถวายแด่เจ้ามหาชีวิต “เมืองเชียงใหม่” หรือกษัตริย์ผู้ครองล้านนาแทนการเกณฑ์แรงงาน เป็นของสูงค่าจากผืนป่าสู่คุ้มหลวงแลหอคำ คนต่ำใต้ลุ่มฟ้าอย่าหมายว่าจะได้ยลดู…

มีตำนานเรื่องราวความรักมาให้ได้อ่านกัน…

“ดอกเอื้องแซะ” แต่เดิมโบราณ ถูกจัดว่าเป็นไม้ต้องห้ามของราชวงศ์ล้านนาเมื่อ ๗๐๐ กว่าปีที่แล้ว… สาวเมืองเหนือนิยมนำดอกเอื้องแซะ มาแซมผม…ชายใดที่เอาเอื้องแซะแซมผมให้คนรักจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนรักรู้ว่า “เขารักเธอจริงและยกย่องเธอเสมอเหมือนที่เอื้องแซะเป็นของสูงก็ต้องคู่ควรกับสาวเจ้านั่นเองค่ะ”

“ตำนานรักดอกเอื้องแซะ” ของชาวล้านนาเล่าขานกันมาว่า

มีหนุ่มสาวคู่หนึ่งรักกันมาก วันหนึ่งผู้บ่าวของสาวเจ้าบอกว่าจะไปหาเงินทองของหมั้นหมายกับหญิงสาวเจ้า…สาวเจ้าเข้าใจในเหตุผลของคนรักจึงบอกว่าไปเถิดข้าเจ้าจะรอ… จากวันเป็นเดือน…จากเดือนเป็นปี…ผู้บ่าวก็ไม่กลับมาแม้แต่ข่าวคราวสาวเจ้าก็ไม่ได้รับ เธอไม่แม้แต่สักนิดที่จะคลางแคลงใจว่าคนรักจะลืมเลือนหรือแปรใจให้คนอื่นไปเสียแล้วหรือ แม้แต่ว่าเขาได้ล้มหายตายจากเธอยังคงรอด้วยใจที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง…

ทุกคืนก่อนนอนเธอจะไหว้พระอธิษฐานให้คนรักกลับคืน จนถึงเวลาที่เธอต้องละสังขารด้วยจิตที่ยังผูกพัน…วิญญาณเธอจึงลอยไปหุ้มห่มเป็นขนสีดำเหมือนความเศร้าในจิตใจกับกิ่งก้านดอกเอื้องแซะ…ยามดอกบาน จะส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ คล้ายดอกพิกุล แต่ไม่ใช่กลิ่นหอมแบบลึกลับ ชวนหลงใหล กลิ่นหอมจะขจรขายไปตามสายลม…สาวใดได้กลิ่นนั้นก็เหมือนกับว่าได้มาไว้แซมผมนั้นเอง…

ปัจจุบันเอื้องแซะได้กลายเป็นพืชที่มีศักยภาพและสามารถพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจได้ ด้วยการนำเอาดอกเอื้องแซะมาสกัดทำเป็นน้ำหอม ดังนั้นจึงได้เกิดโครงการในพระราชดำริและพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้ทำการแปรรูปกล้วยไม้เอื้องแซะหอม เพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำหอม…

อ้างอิงข้อมูลจาก : กาญจน์มุนี ศรีวิศาลภพ, http://bangkrod.blogspot.com/2011/08/blog-post_02.html

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ร่วมแสดงความคิดเห็น