ฮือฮา!! วัดต้นเปา อ.สันกำแพงเชียงใหม่ ผู้หญิงเข้าอุโบสถได้ คนแห่สักการะพระพุทธรูปกระดาษสา มีแห่งเดียวในโลก

เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานที่ชุมชนบ้านต้นเปา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าวัดไหว้พระในวัดต้นเปา เพื่อเข้าไปกราบไหว้พระพุทธรูปกระดาษสา หรือพระเจ้าสา ตามที่ชาวบ้านเรียกติดปาก เพราะมีความแปลกสร้างจากกระดาษสาทั้งองค์ มีพระอธิการวัชระพล ถิรธัมโม เจ้าอาวาสวัดต้นเปา นำกราบไหว้พระเจ้าสา โดยชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างจากกระดาษสาเป็นพระพุทธรูปไว้ในวัดเพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวกราบไหว้เป็นสิริมงคล เพราะหมู่บ้านต้นเปามีอาชีพทำกระดาษสา ชาวบ้านต้องการเห็นคุณค่าของกระดาษสา จึงสร้างพระพุทธรูปกระดาษสาขึ้นมา พระเจ้าสามีอายุประมาณ 6 ปี หน้าตัก 40 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ถือว่าเป็นพระพุทธรูปกระดาษสาที่มีเพียงแห่งเดียวในโลก ทางพระอธิการวัชระพล เจ้าอาวาสวัดยังได้สาธิตการทำเทียนมงคลจากกระดาษสา ให้นักท่องเที่ยวได้ชมภายในอุโบสถด้วย

ที่น่าสนใจสำหรับวัดต้นเปาแห่งนี้อีกคือ ได้สร้างอุโบสถมานาน 6 ปีแล้ว และได้อนุญาตให้ผู้หญิงขึ้นไปในอุโบสถได้ตั้งแต่เปิดใช้แล้ว ทางพระอธิการวัชระพล ถิรธัมโม เจ้าอาวาสวัดต้นเปา กล่าวว่า ตั้งแต่ประกอบพิธีทำบุญเปิดอุโบสถของวัดต้นเปา ทางเจ้าคณะจังหวัดได้บอกไว้ว่า อุโบสถนอกจากประกอบพิธีสังฆกรรมของพระสงฆ์ ก็สามารถเปิดให้ญาติโยมสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีเข้ามากราบไหว้พระทำบุญได้ เพราะในปัจจุบันอุโบสถนั้นกว้างใหญ่ แตกต่างจากในอดีตการประกอบพิธีบรรพชาอุปสมบทนั้นจะประกอบพิธีในอุโบสถที่มีขนาดเล็กๆมีสถานที่คับแคบ มีประตูเดียวจึงไม่เหมาะที่จะให้ผู้หญิงจะเข้ามาด้านในเพราะอาจจะทำให้พระสงฆ์เกิดอาบัติได้

“อุโบสถของวัดต้นเปา ปัจจุบันกว้างขวาง เพดานอุโบสถมีผ้ายันต์และด้ายสายสิญจน์ ถือว่าเป็นมงคลกับประชาชน และคำว่า “สา” มาจากภาษาทางเหนือ คือ “ไหว้สา” หรือมีความหมายว่า “กราบไหว้” นั้นเอง และพระเจ้าสาทำจากไส้เทียนที่จุดไหว้พระแล้วนำมาทำพระพุทธรูปจากไส้เทียนกระดาษสาอีกด้วย ใช้เวลาสร้าง 1 เดือนเต็ม ในอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามและมีคุณค่าทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย” พระอธิการวัชระพล ถิรธัมโม เจ้าอาวาสวัดต้นเปา กล่าว

หากนักท่องเที่ยวมายังหมู่บ้านนี้จะมีกลุ่มแม่บ้าน นำโดยนางพรพรรณ รินสินจอย หัวหน้ากลุ่มแม่บ้านต้นเปา นำแสดงฟ้อนท่ารำทำกระดาษสา และผู้สูงอายุผู้ชายจะตีกลองปู่จา เป็นการต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย จากนั้นเดินทางไปสักการะต้นเปาเก่าแก่ พร้อมประกอบพิธีผูกข้อมือให้นักท่องเที่ยว และที่น่าสนใจคือต้นเปาดังกล่าวเหลือเพียงหนึ่งเดียวในชุมชนต้นเปาเชียงใหม่แห่งนี้ และที่หมู่บ้านต้นเปายังมีให้ชมวิธีทำกระดาษสา การแปรรูปกระดาษสาให้เป็นสินค้าของฝากของที่ระลึกและของใช้ภายในบ้านได้อีกด้วย

นายประชัน ญี่นาง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านต้นเปา พร้อมนางสุพิศ โนหล้า ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 บ้านต้นเปา พาเดินทางเที่ยวชาวบ้านต้นเปาเชิญชวนเที่ยวหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว OTOP Village นอกจากสักการะพระเจ้าสาเพื่อเป็นมงคล ในหมู่บ้านต้นเปามีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจและขึ้นชื่อ เมื่อมาเที่ยวแล้วต้องไปชมสินค้าที่รวบรวมไว้ในศูนย์ OTOP ของชุมชนต้นเปา ของฝากขึ้นชื่อมี ผ้าไหม, ศิลาดล, สินค้า SME, สินค้าที่ทำจากกระดาษสา กระดาษสาประดิษฐ์, และเครื่องเขิน ยังมีเสื้อผ้าพื้นเมือง กระเป๋าผ้าพื้นเมืองลวดลายสวยงามต่างๆจำนวนมาก

สำหรับจุดท่องเที่ยวที่นี้ มี 20 จุดให้เลือกท่องเที่ยว เช่น ศูนย์เรียนรู้การผลิตกระดาษสารักษ์สิ่งแวดล้อม ร้านกระดาษสาต่างๆ มีน้ำพริกแดงและใส้อั่วจำหน่าย กราบไหว้ศาลเจ้าพ่อไม้เปา ยังมีวัดต้นเปาร้าง หรือวัดสันดินกี่หนา ให้เลือกท่องเที่ยวอีกด้วย

แนะนำเที่ยวบ้านนางทองสาย พิไลหล้า ซึ่งเป็นบ้านที่ทำกระสาแบบช้อนหนา และช้อนบาง ซึ่งมีรายได้จากที่ทำกระดาษสาช้อนบางส่งให้ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ใช้ในทางการแพทย์ คือนำไปซับเลือดได้อีกด้วย และแนะนำพาเที่ยวชมร้านบ้านเชือก ของนางกนกวรรณ บัวเรือง เจ้าของร้านบ้านเชือก ที่แปรรูปกระดาษสาที่เป็นแผ่นนำมาทำเป็นเชือกกระดาษสา และดอกไม้เล็ก และนำชมฟาร์มกระดาษสา ของนายวิจิตร ยี่นาม เป็นเจ้าของฟาร์มฯ มีสาธิตการเพิ่มลวดลายให้กระดาษสา นำสีฉีดพ่นและแช่น้ำสีให้เกิดลวดลายต่างๆในแผ่นกระดาษสาและในร่ม รวมทั้งลวดลายให้พัดที่สวยงามมากขึ้น

ชุมชนต้นเปา ต.ต้นเปา (ปัจจุบันเป็นเทศบาลต้นเปา) ต.ต้นเปา เป็นตำบลในเขตการปกครองของอำเภอสันกำแพง มีหมู่บ้านจำนวน 10 หมู่บ้าน คือ บ้านต้นเปา บ้านหนองโค้ง บ้านบ่อสร้าง บ้านบวกเป็ด บ้านสันพระเจ้างาม บ้านต้นผึ้ง บ้านสันมะฮกฟ้า บ้านสันป่าค่า บ้านแม่โฮม บ้านสันช้างมูบ

หากนักท่องเที่ยวสนใจเดินทางไปเที่ยวได้ การเดินทางเข้าสู่ ต.ต้นเปา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เดินทางไปได้ด้วยตัวเองง่ายๆโดยทางรถยนต์จากตัวจังหวัดเชียงใหม่ไปตามถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง หรือถนนทางหลวงหมายเลข 1006 ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ก็จะพบกับชาวบ้านรอต้อนรับอย่างอบอุ่นที่นี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น