พ.ร.บ.เด็กปฐมวัยฉบับแรก รับเด็กอนุบาล-ป.1 ห้ามมีสอบเข้า ฝ่าฝืนปรับ 500,000 บาท

รัฐบาลได้วางแนวทางการพัฒนาประเทศ ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเป็นกรอบพัฒนาคนไทยในอนาคต ให้มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศ โดยให้เด็กไทยมีทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างมีระบบและรู้คุณค่าความเป็นไทย ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 24 ต.ค.61 รัฐบาลได้เห็นชอบร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ที่เกี่ยวเนื่องกับเด็กปฐมวัยและการศึกษาของชาติ ดังนี้
1. ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กปฐมวัย สามารถแบ่งได้ 4 ช่วง คือ
– ช่วงก่อนคลอด
-ช่วงวัยเด็กเล็ก ตั้งแต่แรกเกิด – 3 ขวบ
– ช่วงอายุ 3 – 6 ขวบ
– ช่วงอายุ 6 – 8 ขวบ ได้รับการดูแลและความคุ้มครองขั้นพื้นฐาน มีพัฒนาการที่ดีทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและปัญญาโดยมอบหมายให้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน เรื่องการวางแผนครอบครัว การตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ การเลี้ยงดูบุตร การพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมถึงจัดสวัสดิการแก่หญิงมีครรภ์ในท้องถิ่นอย่างเหมาะสม จัดให้มีบริการและสวัสดิการด้านสาธารณสุข การศึกษาและสังคมอย่างมีคุณภาพ พร้อมคัดกรองค้นหาเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม สติปัญญา ไม่มีผู้ดูแล ด้อยโอกาส หรือมีลักษณะต้องการการพัฒนาเป็นพิเศษ โดยการคัดแยกออกมาเพื่อให้การพัฒนาอย่างทันท่วงที
พร้อมทั้งกำหนดให้มี “คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย” มีหน้าที่จัดทำนโยบาย แผน กำ หนดมาตรฐานและหลักสูตรแกนกลางให้เหมาะสม และที่สำคัญจะให้สิทธิเด็กปฐมวัยทุกคน ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม โดยห้ามใช้วิธีการสอบคัดเลือก เพื่อรับเด็กปฐมวัยเข้าสถานพัฒนาเด็กและสถานศึกษา เว้นแต่เป็นกรณีที่คณะกรรมการนโยบายฯ เป็นผู้กำหนดให้มีการสอบ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท
2. ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กำหนดให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลาง การบริหารจัดการการศึกษา โดยให้สถาน ศึกษาของรัฐและเอกชนมีอิสระ ในการบริหารและจัดการศึกษา ให้ประเมินผลการทำงานและจัดหลักสูตรพัฒนาความรู้ความสามารถ ให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่ และให้สถานศึกษาก่อนวัยเรียนและขั้นพื้นฐาน
มีหลักสูตรในการจัดการเรียนการสอน ต้องประกอบด้วยหลักสูตรแกนกลาง ที่ใช้กับทุกแห่งและหลักสูตรเพิ่มเติมของสถานศึกษาทำขึ้นเอง ให้เหมาะสมกับผู้เรียน วิถีชีวิต วัฒนธรรม ชุมชนและสังคม กำหนดให้รัฐมีโครงการระยะยาว เพื่อผลิตและพัฒนาครูให้มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของประเทศ ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นๆอย่างเหมาะสม
โดยคำนึงถึงการปฏิบัติงานที่ยากลำบาก ในพื้นที่เสี่ยงภัยหรือห่างไกล และให้นโยบายมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม จึงให้มี “คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ” มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่พิจารณาและจัดทำงบประมาณ อัตรากำลังคนและกฎหมาย โดยสามารถปรับแผนงานได้อย่างเหมาะสม ตามปัจจัยด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและความก้าวหน้า ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโล ยีของนานาประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีความมุ่งมั่นพัฒนาเด็กและเยาวชนในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อยกระดับคุณ ภาพของประเทศ เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ ด้านการศึกษา

ร่วมแสดงความคิดเห็น