“วัดหนองบัว” วัดไทลื้อเก่าแก่ ทรงคุณค่าของเมืองน่าน

วัดหนองบัว วัดไทลื้อเก่าแก่ประจำหมู่บ้านหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน จากคำบอกเล่าเดิมวัดหนองบัว ตั้งอยู่ที่ริมหนองบัวซึ่งเป็นหนองน้ำประจำหมู่บ้าน ต่อมาได้มีการย้ายวัดมายังตำแหน่งปัจจุบัน วัดหนองบัวสันนิษฐานว่าสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2405 โดยการนำของครูบาหลวงสุนันต๊ะ ร่วมกับชาวบ้านหนองบัวสร้างวัดขึ้นมา
ภายในวัดหนองบัวมีความงดงามด้วยวิหาร สถาปัตยกรรมแบบไทลื้อที่สวยงามทรงคุณค่าทางด้านศิลปะอย่างยิ่งและหาดูได้อยากในปัจจุบัน วิหารมีขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 19 เมตร ลักษณะเป็นวิหารขนาดย่อม รูปทรงเตี้ยแจ้ โดยเฉพาะหลังคายาวคลุมต่ำมาก อาคารตั้งอยู่บนฐานบัวคว่ำเป็นฐานปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้าย่อมุมเป็นมุขโถง เนื้อที่ใช้สอยภายในแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหน้าที่ เป็นมุขโถงทำเป็นบันได มีสิงห์ยืนเฝ้าที่ประตูข้างละ 1 ตัว บริเวณมุขโถงจะก่อเป็นผนังอิฐสอปูน ระดับเหนือ ผนังเป็นลูกกรงลูกมะหวดไม้กลึง ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสตลอดผนังชั้นซ้อนหลังคา ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 เป็นผนังทึบมีหน้าต่างเป็นบานเล็กๆ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านละ 1 ช่อง เนื้อที่ใช้สอยส่วนที่ 2 เป็นตัวอาคารใหญ่ ผนังก่ออิฐแบบกว้างสลับยาว ขอบบนของผนังเป็นรูปลดระดับตามชั้นลดของหลังคา ผนังหุ้มกลองด้านหลัง เป็นผนังทึบตัน
ส่วนผนังหุ้มกลองหน้ามีประตูอยู่ตรงกลาง 1 ช่อง ประตูนี้เป็นตัวเชื่อมระหว่าง เนื้อที่มุขโถงกับเนื้อที่ภายในอาคารแสงสว่างจากภายนอก ส่วนใหญ่จะส่องผ่านทางมุขโถง ส่วนผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีช่องหน้าต่างด้านทิศเหนือ 7 ช่อง ทิศใต้ 6 ช่อง หน้าต่างเดิมมีขนาดเล็ก (เข้าใจว่า มีขนาดเท่ากับหน้าต่างที่ผนังด้านหน้า) ต่อมาได้เจาะขยาย เมื่อปี พ.ศ. 2469 ที่ผนังด้านเหนือมีประตูอีกทางหนึ่ง อยู่ระหว่างกลางผนังประตูทางเข้าด้านข้างนี้ ทำเป็นมุขยื่นออกไป มีหลังคาชั้นเดียวที่ผนังด้านทิศใต้ ทำแท่นสำหรับพระสงฆ์นั่งเทศน์เรียกว่า “ฐานสงฆ์” เป็นแท่นฐานปัทม์ก่ออิฐถือปูน
หลังคาวิหารมุงด้วยกระเบื้องดินขอรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาในประธานเป็นชั้นซ้อน 2 ชั้น ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และมีหลังคาปีกนกลาดลงอีกชั้นละ 1 ตับ หลังคาที่คลุมมุขโถง และหลังคาอาคารลดชั้นต่ำกว่ากันมาก พื้นหลังคาทั้ง 2 ส่วน คลุมยาวลงต่ำมาก ใช้รูปสัตว์ประดับบนเครื่องไม้ทั้งหมด หน้าบันเป็นลายแกะไม้ ติดกระจกตามช่องที่อุดหน้าปีกนก เป็นลายเครือเถาลายนูนเด่นออกมา ช่องไฟระหว่างลายห่าง เน้นตัวลายมากกว่าปกติ ลักษณะอาคารเน้นทางเข้าด้านหน้า โดยสังเกตได้จากการทำขนาดประตูมุขโถงสูงใหญ่และเปิดโล่ง มีเชิงชายรูปกระจังประดับและใช้สิงห์คู่ประดับอยู่ข้างประตูวิหารแห่งนี้

ภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ที่เล่าเรื่องปัญญาชาดก ซึ่งเป็นพระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า สันนิษฐานว่า เขียนโดย “หนานบัวผัน” ช่างเขียนลาวพวนที่บิดาของครูบาหลวงสุ ชื่อนายเทพ ซึ่งเป็นทหารของเจ้าอนันตยศ (เจ้าเมืองน่านระหว่าง พ.ศ. 2395-2434) ได้นำมาจากเมืองพวน ในแคว้นหลวงพระบาง
หนานบัวผัน ที่เคยสร้างงานจิตรกรรมที่วัดภูมินทร์ที่ อ.เมืองน่าน ซึ่งมีภาพที่โด่งดังได้แก่ภาพปู่ม่านย่าม่าน เพราะเมื่อปรียบเทียบภาพจิตรกรรมทั้งสองก็พบความเหมือนทั้งลายเส้น, สีสัน, ใบหน้า และฉากกว่า 40 จุด อีกทั้งยังมีมุมมองและแนวคิดที่ทันสมัย รู้จักนำสีสันมาใช้ เช่น สีแดง ฟ้า ดำ น้ำตาลเข้ม และมีวิธีลงฝีแปรงคล้ายภาพวาดสมัยใหม่ และยังมีนายเทพและพระแสนพิจิตรเป็นผู้ช่วยเขียนภาพจนสำเร็จ ภาพจิตรกรรมที่วัดหนองบัวแห่งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการแต่งกายของผู้หญิงที่นุ่งผ้าซิ่นลายน้ำไหล และผ้าซิ่นตีนจกที่สวยงาม
เรื่องราวในภาพเขียนจิตรกรรม ได้แก่ พุทธประวัติ และ จันทคาธชาดก ซึ่งเป็นนิยายคติธรรมเก่าแก่ในหนังสือ ปัญญาสชาดกปัจฉิมภาค ชาวบ้านในภาคเหนือเรียกว่า ค่าวธรรม เป็นนิทานธรรมที่สอนให้กุล บุตรและกุลธิดาเอาแบบอย่างจริยธรรมที่ดีงามเช่น การเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ความกตัญญูกตเวที ความซื่อสัตย์สุจริต และความเมตตากรุณา

ร่วมแสดงความคิดเห็น