ฮือฮา!! พบต้นเทียนพระพุทธเจ้า ที่วัดหนองแดง หนึ่งเดียวในประเทศไทย มองเป็นเลขเด็ด 11 , 13 และ 19

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งพบมีต้นไม้แปลก ลักษณะคล้ายเทียน ที่วัดหนองแดง อยู่เลขที่ 19 หมู่ 1 ต.เปือ อ.เชียงกลาง จ.น่าน ประชาชนเดินทางไปกราบไหว้พระในวัด และเข้าชมต้นเทียนพระพุทธเจ้าแล้วได้เลขเด็ด 11 และ 13 ด้วย
เรื่องนี้ทางพระครูพิบูลนันทวิทย์ เจ้าอาวาสวัดหนองแดง บอกเล่าให้ฟังว่า วัดหนองแดงเป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี จากที่มีต้นเทียนพระพุทธเจ้า มีปลูกอยู่ในวัดมาหลายปีแล้ว ทางวัดได้ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบและศึกษาค้นคว้าพบว่า ต้นเทียนดังกล่าวมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศปานามา ที่มาออกผลที่วัดแล้วมีลักษณะคล้ายเทียนอยู่ที่วัดหนองแดงแห่งนี้คาดว่า น่าจะมาจากนกกินผลไม้ต้นเทียนจากที่อื่น แล้วนกได้อพยพมาที่วัดหนองแดงแห่งนี้ แล้วมาถ่ายมูลไว้ที่วัด จนเมล็ดของต้นเทียนได้ออกต้นและออกผลที่วัดแห่งนี้มาจนถึงทุกวันนี้
“ลักษณะของต้นเทียน จะมีลักษณะผลคล้ายเทียนที่ชาวบ้านทำขึ้นมาจากขี้ผึ้ง ยาวกว่า 1 ฟุต ซึ่งเทียนถือว่าเป็นมงคลนำไปบูชาพระพุทธเจ้าด้วย ทางวัดจึงตั้งชื่อว่าต้นเทียนพระพุทธเจ้า ถือว่าเป็นต้นไม้หายากอีกชนิดหนึ่ง จะพบเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่วัดหนองแดงแห่งนี้ สำหรับต้นเทียนหากท่านใดพบเห็นถือว่าเป็นมงคล เมื่อประชาชนเดินทางมากราบไหว้พระในวัดหนองแดงแล้ว ก็จะมาชมต้นเทียนดังกล่าว และถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ส่วนผลของต้นเทียนที่ลักษณะเหมือนเทียนนั้น จะออกผลครั้งหนึ่งอยู่ได้นานประมาณ 6 เดือน ในช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน ของทุกปี” พระครูพิบูลนันทวิทย์ เจ้าอาวาสวัดหนองแดง กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับวัดหนองแดง มีความเก่าแก่และน่าศึกษาคือ มีช่อฟ้าของพระอุโบสถของวัดที่แกะสลักเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ (ศีรษะเป็นช้าง ตัวเป็นหงส์) ซึ่งชาวไทลื้อเชื่อว่าเป็นสัตว์ชั้นสูงจากสวรรค์ และปัจจุบันศิลปกรรมเช่นนี้หาชมได้ยาก เชิงชายยังประดับไม้ฉลุลายน้ำหยาด อันเป็นลวดลายเฉพาะของชาวไทลื้อเท่านั้น ส่วนภายในวิหารคุณจะพบองค์พระประดิษฐานบนนาคบัลลังก์ ที่เชื่อกันว่านาคคือตัวแทนของความดีงาม ความสง่างามและช่วยปกป้องพุทธศาสนา
วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2330 โดยชาวไทลื้อร่วมกับไทพวน ส่วนองค์พระประธานสร้างขึ้นโดยครูบาสิทธิการ และตัวพระวิหารได้รับการบูรณะครั้งแรกเมื่อปี 2492 และบูรณะอีกครั้งในปี 2538 จนแล้วเสร็จเมื่อปี 2539 มีพระครูพิบูลนันทวิทย์ เป็นเจ้าอาวาสวัด
ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นรูปแบบเฉพาะทาง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีหลังคาที่ชันเพื่อระบายน้ำฝนได้อย่างรวดเร็ว ใช้แผ่นไม้มุงหลังคาที่เรียกว่า แป้นเกล็ด รูปทรงรูปร่างค่อนข้างเตี้ย ผนังใช้อิฐกับปูน สิ่งที่น่าสนใจมากมาย เช่นฐานชุกชีที่พันรอบด้วยนาคเรียกว่า นาคบัลลังก์ ช่อฟ้าแกะด้วยไม้สักทองเรียก นกหัสดีลิงค์ จิตรกรรมฝาผนังแสดงทศชาติชาดกการบำเพ็ญ เพียรของพระโพธิสัตว์
ซึ่งเขียนลงบนปูนที่ผสมด้วยสูตรสมัยโบราณ คันทวยรูปสัตว์ป่าหิมพานต์ ที่สอดแทรกด้วยปริศนาธรรมคำสอนต่าง ๆ เสาแต่ละต้นจะเจาะรู้สี่เหลี่ยมไว้อย่างน่าสนใจ วิวัฒนาการ นับเป็นสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่สร้างมานานกว่า 200 ปี ส่วนใหญ่จะทำด้วยไม้ พื้นเป็นอิฐก่อถมและเทปูนทับหน้า ต่อมาด้วยความชื้นจากดินทำให้วิหารเสียหาย และฝนทำให้กระเบื้องไม้และโครงหลังคาผุ จึงต้องมีการซ่อมแซม จนเป็นผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบ้าง รูปทรงที่ออกมามีลักษณะที่ดูเตี้ยทึบหลังคาทรงสูง เมื่อได้เข้าไปในวิหารก็มีความรู้สึกว่าอากาศถ่ายเทดี แสงสว่าง เข้ามาสะท้อนกับองค์พระประธาน และลวดลายต่างๆ ที่เป็นสีทองทำให้เกิดแสงสะท้อนเกิดความขลังศักดิ์สิทธิ์ ฝ้าเพดานแต่เดิมไม่มี หน้าต่างแต่เดิมก็มีลักษณะเล็กแคบมีซี่ลูกกรงไม้อยู่กลางเพื่อกันขโมย
นับเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแบบไทลื้อ ที่หาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบัน คงจะเป็นวิหารไม้รุ่นสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ จึงควรที่จะอนุรักษ์ไว้ให้คงสภาพเดิม เพื่อการสืบทอดมรดกทางสถาปัตยกรรมของช่างรุ่นนี้ เอาไว้ให้เป็นมรดกอันล้ำค่าของท้องถิ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า กิจกรรมของวัด หากประชาชนเข้าไปกราบไหว้พระในวัดแล้ว ชาวบ้านจะแต่งกายวิถีของคนไทลื้อที่ไม่เหมือนจังหวัดอื่น จะประกอบพิธีสืบชะตาแบบไทลื้อ ตามด้วยพิธีบายศรีสู่ขวัญโดยคนไทลื้อ และการกรวดน้ำผ่านตัวปลามงคลลงไปสู่ภพภูมิ และพิธีห่มโพธิ์ ค้ำโพธิ์ เชิญตุงปราสาท สรงน้ำพระเจดีย์แห่งความเมตตา จะทำให้มีคนเมตตารักใคร่ เหมาะทางการค้าขาย ซึ่งวัดจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาทำบุญทุกวัน
อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่เข้าวัดก็จะพรขอโชค โดยเฉพาะวันที่หวยใกล้จะออก ส่วนต้นเทียนชาวบ้านก็มักจะมองเป็นเลขเด็ด 11 และ 13 เลขดังกล่าวมาจากที่ต้นเทียนพระพุทธเจ้า มี 1 ต้น และมี 1 เดียวในประเทศไทย ส่วนเลข 13 เป็นเลขที่คาดว่าจะมาเป็นต้นไม้ที่มี 1 เดียว และเป็นไม้มงคล 3 ปรา การ คือปลูกอยุ่ในวัดที่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนเลข 19 เป็นเลขที่อยู่ของวัดด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น