เร่งสร้างอ่างฯ แม่สะป๊วด แก้ปัญหาน้ำพื้นที่ อ.แม่ทา จ.ลำพูน

เร่งสร้างอ่างฯ แม่สะป๊วด สนองงานพระราชดำริ แก้ปัญหาน้ำพื้นที่แม่ทา ลำพูน

คณะทำงานโครงการอ่างเก็บน้ำแม่สะป๊วดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ทาสบเส้า อ.แม่ทา จ.ลำพูน เปิดเผยว่า นายวัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) กรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้องอาทิ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ได้ร่วมประชุมเร่งรัดงานโครงการ

โดยมี นางสุพร ตรีนรินทร์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธานการประชุม เพื่อร่วมพิจารณาแนวทางขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินโครงการนี้ ให้ลุล่วงตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนราษฎรในพื้นที่ สำหรับโครงการฯ นี้ เมื่อ 19 ก.พ. 2532 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่กรมชลประทานและเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขานุการ กปร. เข้าเฝ้า ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ ทรงพระราชทานพระ
ราชดำริเกี่ยวกับงานพัฒนาแหล่งน้ำ ที่กรมชลประทานสมควรดำเนินการ คือโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสาขาแม่ทา อ.แม่ทา จ.ลำพูน

ประกอบด้วย ลำน้ำแม่ขนาด ลำน้ำแม่เมย และลำน้ำแม่สะป๊วด ซึ่งมีทำเลเหมาะสมที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เนื่องจากราษฎรในพื้นที่มีความต้องการน้ำ เพื่อใช้ในการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในแต่ละปี จึงเห็นสมควรให้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่สะป๊วดฯ หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้คุณภาพชีวิตชาวบ้านที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

โครงการอ่างเก็บน้ำแม่สะป๊วดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ลำพูน ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ทา (โซนซี) และเขต สปก. การดำเนินงานมีการขอใช้พื้นที่เขตป่าสงวนฯ เมื่อแล้วเสร็จ จะกักเก็บน้ำสำหรับส่งให้พื้นที่การเกษตร และเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับอุปโภค-บริโภค อีกทั้งบรรเทาอุทกภัยจากน้ำป่าไหลหลาก ตลอดจนยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด สร้างรายได้เสริมให้กับประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานก่อสร้าง ซึ่งลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงและที่ราบเชิงเขา ทุกปีในช่วงหน้าฝนจึงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม พื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่ต้องรอน้ำฝน ในช่วงฤดูแล้งและกรณีเกิดฝนทิ้งช่วงจะขาดแคลนน้ำ ส่งผลกระทบต่อผลผลิตพืชที่สำคัญ เช่น ลำไยและข้าว อ่างฯจะมีลักษณะเป็นเขื่อนดิน สันเขื่อนยาว 547.81 ม. กว้าง 10 ม. สูง 43 ม. เก็บกักน้ำได้ประมาณ 7.83 ล้าน ลบ.ม. ประกอบด้วย อาคารทางระบายน้ำล้น อัตราสูงสุดที่ 209.55 ลบ.ม./วินาที อาคารท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิม อัตรา 30.60 ลบ.ม./วินาที มีพื้นที่รับประโยชน์ 6,157 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ชลประทานรวม 4,925 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 ตำบล 7 หมู่บ้าน

ร่วมแสดงความคิดเห็น