พระเจ้าทันใจ วัดศรีอุโมงค์คำ หรือ วัดสูง จ.พะเยา

เชียงใหม่นิวส์ – ร้อยเรื่องเมืองล้านนา นำเสนอเรื่องราวของ “พระเจ้าทันใจ” พระพุทธรูปหินทรายที่ได้ชื่อว่ามีความสมบูรณ์ที่สุด

พระเจ้าทันใจ” ซึ่งเดิมเป็นพระพุทธรูปมาจากที่ไหนไม่มีใครทราบ แต่ในปี พ.ศ. 2497 หลวงพ่อใหญ่ หรือพระธรรมวิมลโมลีที่ขณะนั้นเป็นพระครูพินิตธรรมประภาส ได้ย้ายจากวัดเมืองชุม ต.แม่ต๋ำ มาเป็นเจ้าอาวาสที่นี่

ความที่หลวงพ่อใหญ่เป็นผู้นิยมสะสมพระพุทธรูปเก่า เมื่อท่านพบพระพุทธรูปองค์นี้ที่สวนของนายอัฐ สายวรรณะ ใกล้ๆกับป่าช้าวัดลี(แหล่งขุดค้นงานพุทธศิลป์หินทรายอันสำคัญแห่งเมืองพะเยา) จึงอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดศรีอุโมงค์คำในปีเดียวกันนั่นเอง

โดย พระเจ้าทันใจ ที่ วัดศรีอุโมงค์คำ จ.พะเยา องค์นี้ เป็นพระพุทธรูปหินทรายที่ได้ชื่อว่ามีความสมบูรณ์ที่สุดในบรรดาพระพุทธรูปหินทรายที่ขุดค้นพบ เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ไม่มีชื่อเรียก แต่ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน คนที่มาสักการะขอพรมักสมหวังในไม่ท่าน ชาวบ้านจึงเรียกท่านว่า “พระเจ้าทันใจ

ปัจจุบันพระเจ้าทันใจถูกย้ายไปประดิษฐานใน “วิหารพระเจ้าทันใจ” ที่สร้างขึ้นใหม่บริเวณหน้าวัดศรีอุโมงค์คำ ซึ่งได้อัญเชิญองค์พระเจ้าทันใจมาประดิษฐานเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2560 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชาพอดี

ขอบคุณ MGRonline

ซึ่ง วัดศรีอุโมงค์คำ หรือที่ชาวบ้านที่นี่เรียกว่า “วัดสูง”  เนื่องจากวัดตั้งอยู่ในเนินสูงทั้งเจดีย์และพระอุโบสถ ทำให้วัดสูงเด่นสง่าและมองเห็นได้เด่นชัด วัดศรีอุโมงค์คำ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2389 โดยชื่อวัดศรีอุโมงค์คำ นั้น มีความหมายตามสถานที่ตั้งดังนี้ คำว่า “ศรี” หรือที่ล้านนาอ่านว่า “สะ-หรี” หมายถึง ต้นโพธิ์ หรือ ความเป็นมงคล ส่วนคำว่า“อุโมงค์” หมายถึงอุโมงค์ หรือถ้ำ ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าใต้ฐานโบสถ์ของวัดแห่งนี้ มีถ้ำหรืออุโมงค์อยู่ และคำว่า “คำ” หมายถึง ทองคำ วัดศรีอุโมงค์คำ

เป็นวัดที่มีพระเจดีย์สมัยเชียงแสนที่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มาก พระธาตุเจดีย์สีทองอร่ามบนฐานสี่เหลี่ยมยกสูงตั้งเด่นเป็นสง่า เป็นเจดีย์ศิลปะล้านนาหน้าไม้สิบสอง ฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 3 ชั้น เรือนธาตุรูปแปดเหลี่ยมย่อมุม มีซุ้มจระนำทั้งสี่ทิศ มีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ประดิษฐานอยู่ในซุ้ม

วัดศรีอุโมงค์คำ มีวิหารหลังเก่าที่สร้างขึ้นในปีจุลศักราช 1237 สัปตศก เจ้าหลวงอริยะซึ่งลงไปรับสัญญาบัตรกลับมาครองเมืองพะเยาได้ก่อสร้างวิหารของวัดนี้ขึ้น แต่ภายหลังถูกรื้อออกไป สันนิษฐานว่าอาจเป็นวิหารหลังที่เหลือร่องรอยเพียงฐานของวิหาร สิ่งสำคัญของวัดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากร คือฐานวิหารเก่า ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างที่แน่ชัด

และภายในพระอุโบสถของวัดยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพะเยาอีกองค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงมากในล้านนา เรียกกันว่า “พระเจ้าล้านตื้อ” ชื่อทางการของพระพุทธรูปองค์นี้คือ “หลวงพ่องามเมืองเรืองฤทธิ์” มีพุทธลักษณะที่งดงามมาก พระเจ้าล้านตื้อมีพระวรกายอวบอิ่ม สีทองงามอร่าม พระพักตร์ดูอมยิ้มอยู่ตลอดเวลา และมีเอกลักษณ์ทางศิลปะของภูกามยาวโดยเฉพาะ
ขอบคุณ museumthailand

ร่วมแสดงความคิดเห็น