พบงานวิจัยใหม่อายุของจักรวาลไม่ใช่ 1.37 หมื่นล้านปีแต่เป็น 2.67 หมื่นล้านปี

วันที่ 13 ก.ค. 2566
ข่าวการประกวด
นักวิทยาศาสตร์ งุนงงพบข้อมูลดาราศาสตร์ใหม่ จึงได้พัฒนาแบบจำลองใหม่พบอายุจักรวาลไม่ใช่ 1.37 หมื่นล้านปี แต่เป็น 2.67 หมื่นล้านปี

วันนี้ (13 ก.ค.66)  สมาคมดาราศาสตร์ไทย รายงานข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับ งานวิจัยชิ้นใหม่เกี่ยวกับจักรวาล  โดยระบุว่าอายุของจักรวาลควรเป็น 2.67 หมื่นล้านปี ไม่ใช่ 1.37 หมื่นล้านปี หรืออาจจะมีอายุมากกว่าที่เคยประมาณไว้ในปัจจุบันถึงสองเท่า

เป็นเวลาหลายปีแล้วที่นักดาราศาสตร์และนักฟิสิกส์ใช้การคำนวณอายุของจักรวาลโดยการวัดเวลาที่ผ่านไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นจากการเกิดบิกแบง โดยใช้การศึกษาดาวฤกษ์ที่เก่าแก่ที่สุดที่ตรวจพบ จากการเลื่อนแถบสีแดงของแสงที่มาจากกาแล็กซีอันไกลโพ้น ทำให้อายุของจักรวาลของเราถูกประมาณไว้ที่ 13.797 พันล้านปีตามแบบจำลองความสอดคล้องของแลมบ์ดา-ซีดีเอ็ม (ΛCDM)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนรู้สึกงุนงง ก็คือ การมีอยู่ของดาวฤกษ์อย่างเมธูเซลาห์ (Methuselah) ที่ดูเหมือนจะมีอายุมากกว่าอายุของจักรวาลของเรา

นอกจากนี้ ข้อมูลจากการค้นพบกาแลคซีในยุคเริ่มแรกโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ระบุว่ากาแล็กซีเหล่านี้มีอายุเพียง 300 ล้านปีหลังเกิดเหตุการณ์บิกแบงเท่านั้น แต่กลับมีระดับความสมบูรณ์ของการวิวัฒนาการเทียบเท่ากับกาแล็กซีที่มีอายุนับหลายพันล้านปีตามแบบจำลองจักรวาลวิทยา (ΛCDM) สิ่งนี้สร้างความขัดแย้งมาก

งานวิจัยใหม่นี้ จึงได้พัฒนาแบบจำลองใหม่ซึ่งทำให้เกิดการขยายเวลาการก่อตัวของกาแลคซีออกไปอีกหลายพันล้านปี ทำให้จักรวาลของเรามีอายุ 26.7 พันล้านปี และไม่ใช่ 13.7 พันล้านปี ตามที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้

Rajendra Gupta ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ของคณะวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออตตาวา ระบุว่า เราได้พัฒนาโมเดลไฮบริด CCC + TL (CCC : Covarying coupling constants , TL : Tired light) ที่มีแนวคิดเรื่องแสงที่อ่อนล้า (Tired light) ในจักรวาลที่กำลังขยายตัว [แนวคิดแสงที่อ่อนล้า (Tired light) คือ การอธิบายว่าการเลื่อนแถบสีแดงของแสงจากกาแล็กซีอันไกลโพ้นเกิดจากการสูญเสียพลังงานอย่างค่อยเป็นค่อยไปของโฟตอนในระยะทางที่ห่างไกลของจักรวาล]

เราพบว่าโมเดลไฮบริด CCC + TL มีความสอดคล้องกับข้อมูลจากการสังเกตของ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ มันช่วยยืดอายุของจักรวาลออกไปอีก 26.7 พันล้านปี สิ่งนี้ให้เวลาที่มากพอที่จักรวาลจะก่อตัวเป็นกาแล็กซีขนาดใหญ่ได้

เราจึงสามารถแก้ปัญหา 'กาแลคซีในยุคแรกเริ่มที่เป็นไปไม่ได้' ได้ เราจึงไม่ต้องมีเมล็ดพันธุ์พลังงานสูง เช่น หลุมดำ ในยุคแรกเริ่มหรือสเปกตรัมพลังงานสูงรูปแบบอื่น ที่ทำให้เกิดการก่อตัวอย่างรวดเร็วของดาวฤกษ์มวลมาก

ดังนั้น เราจึงสามารถอนุมานได้ว่าแบบจำลอง CCC + TL ควรถูกนำมาขยายเป็นส่วนเสริมให้กับแบบจำลองจักรวาล (ΛCDM) ด้วยค่าคงที่จักรวาลวิทยา (Λ) แบบไดนามิก

Gallery