bloggang.com mainmenu search

จมกองงานจนบล็อกค้างอยู่ในเวียงกาหลงเป็นแรมเดือน วันนี้ขอขึ้นเหนือต่อครับ ทริปส่งท้ายปีนี้เที่ยวตั้งแต่ตาก-ลำปาง-เชียงราย อันที่จริงใช้เวลาส่วนมากไปกับการเที่ยวตัวเมืองเชียงรายและแม่สายแต่เคยอัพบล็อกไปหลายหนแล้วจะขอข้ามไปนะครับ ไปที่แม่สลองกันเลยจ้า ...ว่าแล้วก็แปลกใจที่บล็อกนี้ยังไม่เคยอัพแม่สลอง ที่นี่คือหมู่บ้านสามัญที่คนมาเชียงรายส่วนใหญ่ต้องมาเลยนะ

จากตัวเมืองเชียงรายแล้วขับขึ้นเหนือ หรือจากแม่สายหรือดอยตุงแล้วขับลงใต้มาก็ได้ เลี้ยวไปเส้นแม่จัน-ฝาง จะเป็นเส้นทางขึ้นดอยแม่สลองครับ แม้จะไม่คดเคี้ยวมาก แต่ก็เป็นเส้นทางขึ้นเขาที่ยาวกว่า 20 กม. ก่อนถึงตัวหมู่บ้าน ระหว่างทางมีร้านกาแฟและจุดชมวิวเป็นระยะๆ ถ้ามาในวันที่ไม่รีบมันจะเป็นการเดินทางที่แสนชิลมาก



 
 
แม่สลอง (Mae Salong)

หมู่บ้านสันติคีรี หรือชื่อเดิมคือหมู่บ้านแม่สลอง เป็นชื่อหมู่บ้านที่ตั้งบนดอยแม่สลอง ใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับกองพลของพรรคก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็ค ที่พ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองจีนต่อพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตุง กองทัพส่วนใหญ่ล่าถอยไปที่ไต้หวัน ยกเว้นบางกองที่หลบซ่อนตัวในพม่าและไทย และได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐให้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ ซึ่งกองทัพก๊กมินตั๋งส่วนหนึ่งที่มาปักหลักบนดอยแม่สลองนี้เอง ที่เป็นจุดกำเนิดของหมู่บ้านแห่งนี้

หลังจบสงครามหมู่บ้านเปลี่ยนเป็นพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ชา กาแฟ และไม้ผลต่างๆ ที่มีคุณภาพดี และได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเมื่อราว 30 ปีที่แล้วเองครับ  

 
 
สถานที่ในความทรงจำของผมไม่มีที่ไหนเหนือไปกว่าร้านขาหมู เคยมาที่นี่เมื่อนานมาแล้ว พ่อพามากินขาหมูหมั่นโถว เป็นครั้งแรกที่กินขาหมูทั้งขาแบบอลังการ จำได้ว่ามันนุ่มมาก มันอร่อยมาก ส่วนชาเชออะไรเด็กไม่อินจ้ะ กลับมาแม่สลองครั้งนี้เรามาเพื่อขาหมูเป็นวัตถุประสงค์หลัก ร้านนี้ครับ แม่สลองวิลล่า ที่นี่เป็นทั้งที่พักและภัตตาคาร แม้ปัจจุบันการท่องเที่ยวแม่สลองจะบูมจนมีร้านอาหารยูนนานผุดขึ้นมากมาย แต่ร้านดั้งเดิมที่ได้เชลล์ชวนชิมเพียงเจ้าแรกและเจ้าเดียวคือร้านนี้ครับ ขาหมูยังคงนุ่ม แม้รสชาติไม่ได้จัดจ้านแบบขาหมูตลาดบ้านเรา แต่ความนุ่มเข้ากับหมั่นโถว กินพร้อมชาร้อนตอนอากาศหนาวๆ นี่คือที่สุดของความทรงจำ เห็ดหอมอบซีอิ๊วไม่ได้สั่งเพราะอยากได้เมนูตัดเลี่ยนกับขาหมูเลยสั่งไก่ดำตุ๋นยาจีนแทนครับ ซดคล่องคอหอมสมุนไพรจีน อยากได้จานผักๆ สักอันนึงเลยจัดฟักแม้วน้ำมันหอยมาอีกหนึ่ง ร้านนี้เป็นโต๊ะจีนใหญ่ๆ ส่วนมากรับแขกกรุ๊ปทัวร์ ถ้าไปเป็นครอบครัวกินหลายๆ คนสนุกกว่าครับ บ้านนี้ 4 คน + 1 เด็ก สั่งได้แค่สามอย่างก็อิ่มกำลังดีเลย


ขับเข้ามาที่พักครับ ที่พักบนนี้ราคาค่อนข้างแพง แต่ห้องก็ไม่ได้ขี้เหร่หรือคับแคบแบบที่คิดนะครับ จองได้ไทยทีการ์เด้นโฮม ห้องละ 1,600/คืน จองสองห้องติดกันเปิดประตูทะลุถึงกันอย่างสนุกสนาน มีลานจอดรถด้านบน ห้องเปิดเห็นวิวภูเขาและไร่ชาด้านล่าง เฮ้ย มันดีมาก! น้ำไฟไม่ขาด ที่สำคัญเน็ตแรงด้วยนะครับ ทีแรกคิดว่าจะเหมือนคืนที่ไปนอนแม่สรวยซะอีก

  มื้อเช้าเป็นข้าวต้มเครื่อง ผัดหมี่ และขนมปังทาแยมง่ายๆ แต่วิวหลักล้าน ที่พักหลายแห่งจะทำร้านอาหารหรือไม่ก็ไร่ชา ลงไปด้านล่างมีชาของที่นี่ขายด้วยนะ แต่กะไปซื้อที่ไร่ 101 อยู่แล้วเลยไม่ได้ลองเลยครับ ไหนจะมีชากาขาวจากเวียงกาหลงอยู่อีก (จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้แกะกิน)


วันที่ 31 ธันวาคม นี่คือพระอาทิตย์ขึ้นครั้งสุดท้ายของปี 2565 ขึ้นจากดอยแม่สลองด้วยนะ


ออกเทื่ยวแต่เช้าบรรยากาศดีสุด เช้าวันนี้เที่ยวดอยแม่สลองกันครับ ก่อนอื่นดูแผนที่กัน จุดเริ่มต้นคือที่พักไทยทีการ์เด้นโฮม ไม่มีในแผนที่แต่อยู่ประมาณแถวๆ บ้านซือซือ ครับ (click เพื่อชมภาพขยาย)


ขับรถเข้ามาที่ พระบรมธาตุเจดีย์ศรีนครินทร์สถิตมหาสันติคีรี หรือพระมหาเจดีย์แม่สลอง อยู่บนจุดที่สูงที่สุดของดอยแม่สลอง และนี่คือที่เที่ยวที่เข้ามาลึกสุดในทริปนี้ละครับ (เข้าไปอีกแทบจะมีแต่ชุมชนชาวเขาแล้วครับ) ที่เหลือจะย้อนกลับไปทางลงดอยละนะ

พระมหาเจดีย์แม่สลอง อยู่บนยอดดอยแม่สลอง สูงจากระดับน้ำทะเล 1,500 เมตร องค์เจดีย์สูง 30 เมตร ห่างจากหมู่บ้านแม่สลอง 4 กม. สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2539 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแก่สมเด็จย่า (สวรรคตปี พ.ศ.2538)


ด้านหน้ามีที่จอดรถ มีร้านค้าชาวเขานิดหน่อย ภายในมีพระรูปสมเด็จย่า และสามารถขึ้นบันไดวนไปไหว้พระบรมสารีริกธาตุได้


เนื่องจากเป็นจุดที่สูงที่สุดบนดอยสามารถมองเห็นหมู่บ้านแม่สลองได้ทั้งหมู่บ้าน เลยเป็นจุดชมวิวที่ดีเลยครับ


ต่อไปขอพาแวะแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสต์บ้าง ดอยนี้ไม่ได้มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ยุคล้านนาอะไรนะครับ แต่มีความสำคัญเป็นอย่างมากกับประวัติศาสตร์ช่วงสงครามคอมมิวนิสต์ ว่าแล้วก็ขอเล่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกองทัพก๊กมินตั๋งในพื้นที่แถบนี้ต่อจากหัวบล็อกนะครับ ในปี พ.ศ.2504 นายพลต้วนได้นำทหารราว 4 พันนาย ออกจากพม่ามายังแม่สลอง และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยให้ช่วยต่อต้านการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ การต่อสู้กระจายอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ในเชียงราย ทั้งดอยหลวง ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยแม่สลองนอกจากเป็นที่สั่งสมอาวุธแล้วยังเป็นแหล่งปลูกและค้าฝิ่นขนาดใหญ่ เพื่อเอาเงินมาหล่อเลี้ยงกองทัพด้วย จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2525 รัฐบาลไทยมอบสถานะพลเมืองให้ทหารก๊กมินตั๋งและครอบครัว และใช้ชีวิตกันที่ดอยแม่สลองอย่างสงบสุขมานับแต่นั้น ...อวสาน... อ้อ เรื่องฝิ่นรัฐบาลไทยได้จัดการไล่ขุนส่าพ่อค้าฝิ่นรายใหญ่กลับพม่า แล้วปรับเป็นพื้นที่เกษตรปลูกอย่างอื่นนะครับ จากนั้นหมู่บ้านแม่สลองก็เปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้านสันติคีรี ซึ่งแปลว่า "ภูเขาแห่งสันติภาพ"

ชาวหมู่บ้านนี้จึงเป็นผู้คนที่สืบเชื้อสายมาจากทหารจีน (ไต้หวัน) ผสมผสานกับชาวไทยท้องถิ่นนะครับ

และที่นี่คือ
อนุสรณ์สถานวีรชน สำหรับจารึกเรื่องราวการต่อสู้และสดุดีเหล่าผู้เสียสละในสงคราม ตั้งอยู่ด้านล่างของหมู่บ้านแม่สลอง



อนุสาวรีย์นายพลต้วน ชีเหวิน ผู้นำกองทัพที่ 5 มายังดอยแม่สลอง
 

อาคารหลักสร้างแบบศาลเจ้าจีนขนาดใหญ่ ภายในมีการจารึกรายชื่อผู้เสียชีวิตช่วงสงครามคอมมิวนิสต์ไว้บนกระดาน

 


อาคารด้านข้างจัดแสดงนิทรรศการการต่อสู้ของทหารก๊กมินตั๋ง
และพัฒนาการของดอยแม่สลอง

 

ด้านหน้ามีร้านค้าขายของฝาก ร้านค้าบนดอยนี้มีของฝากดีๆ ราคาถูก น่าซื้อ เยอะเลยครับ พวกชา สมุนไพร อาหารแห้ง เก็บได้นานด้วย
ผมซื้อดอกคำฝอยมาถุงนึง ต้มไปสามหม้อแล้วยังไม่หมดเลย

 

อ่างเก็บน้ำสันติคีรี อยู่ตรงทางขึ้นอนุสรณ์สถาน
สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2550 โดยกรมทรัพยากรน้ำ ก.ทรัพย์ฯ
สำหรับเก็บน้ำให้ชุมชนบนนี้ใช้สอยครับ

 


พลเอกต้วน ชีเหวิน เสียชีวิตในปี พ.ศ.2523 และถูกฝังอยู่บนยอดเนินนี้ ที่นี่คือสุสานนายพลต้วน ครับ อยู่ใกล้ๆ หลัก กม.0 ดอยแม่สลอง หลังร้านคุ้มนายพลต้วน สุสานสร้างด้วยหินอ่อนบรรจุร่างนายพลต้วน อยู่ในเก๋งจีนขนาดใหญ่ มีเจ้าหน้าที่คอยบรรยายให้นักท่องเที่ยวที่ไปเยี่ยมชมฟังประวัตินายพลต้วนด้วย

 
ร้านค้าด้านหน้าสุสาน ขายของแห้งของฝากน่าซื้อกลับบ้านเช่นกัน ร้านนี้ใหญ่ด้วย มีตั้งแต่โสมยันรถด่วนเลยครับ หน้าร้านมีไข่ต้มใบชาขายด้วยนะ
 
 
 
ตรงนี้คือ กม.ที่ 0 ของดอยแม่สลอง ติดกับโรงเรียนบ้านสันติคีรี
เป็นแหล่งรวมร้านค้าของฝากมากมาย

 


ผมมาที่นี่วันที่ 31 ธ.ค. 65 ลานหน้าโรงเรียนบ้านสันติคีรีมีงานเทศกาลชิมชาซากุระงาม ครั้งที่ 25 (จัดตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. - 2 ม.ค.) เป็นงานจัดแสดงวัฒนธรรมชนเผ่า กาแฟ และร้านค้าต่างๆ
 

ลานร้านค้าขายอาหารชาวเขา ใครอยากลองอาหารที่ไม่ค่อยเห็นที่อื่นอย่าง ข้าวฟืนทอด ข้าวปุกงา ยำผักหม่าล่า สุกี้ยูนนาน พิซซ่าต้นหอม ฯลฯ จัดไปครับ

 

เครื่องเล่นชิงช้าฝีมือชาวบ้าน ทำจากไม้ ขึ้นไปลองเล่นแล้วบริจาคเงินอุดหนุนเขาหน่อย

 




 

มันสาคู เป็นพืชพื้นบ้านที่ชาวเขาแถบภาคเหนือปลูกกันมาเนิ่นนานแล้ว แต่เพิ่งจะแพร่หลายเมื่อไม่นานมานี้ เพราะราคาผลผลิตต่อไร่ดีเลยครับ เอาไปใช้ผลิตแป้งไร้กลูเตน หรือกินเปล่าๆ ก็อร่อยจืดๆ ดี คล้ายมันผสมมันแกว กระทงละ 20 บาทครับ
 

ถั่วลิสงผิวดำ พันธุ์จากไต้หวัน (สงสัยมาพร้อมก๊กมินตั๋ง) ปลูกกันมากในภาคเหนือ โปรตีนสูงถึง 30% (สูงกว่าถั่วลิสงทั่วไป 5%) และยังมีแร่ธาตุสารอาหารต่างๆ อีกมาก รสชาติอร่อยเข้มข้น แพงกว่าถั่วลิสงอื่น เลยมีพ่อค้าขายถั่วลิสงย้อมสีดำกันเยอะ มาซื้อจากชาวเขาได้ของแท้แน่นอนครับ
 


ได้เวลาลงจากดอย ขอเที่ยวส่งท้ายที่ๆ ทุกคนต้องมาเมื่อมามาสลองคือไร่ชาครับ แม่สลองเป็นแหล่งผลิตชาอู่หลงชั้นดี มีผู้เชี่ยวชาญด้านชาจากไต้หวันมาทำงานร่วมกับชาวบ้านพัฒนากระบวนการผลิตชาคุณภาพสูงสำหรับส่งออก จนดอยแม่สลองเต็มไปด้วยไร่ชา รอบนี้ขอสุ่มเที่ยวสักไร่นึง เลือกเอาไร่ชา 101 ที่โด่งดังนี่ละครับ อยู่ติดถนนหลักด้วย

ไร่ชา 101 ปลูกชาอู่หลงแบบขั้นบันไดสุดลูกหูลูกตา นอกจากเป็นจุดถ่ายรูปยอดนิยมแล้ว ชาที่นี่ยังมีคุณภาพและได้รางวัลการันตีมามากมาย บนพื้นที่ไร่มีทั้งร้านชา ร้านของฝาก ร้านอาหาร คาเฟ่ และที่พัก ตรงที่ขายชามีเจ้าหน้าที่สาธิตวิธีการชงชาแบบต่างๆ และให้ความรู้เรื่องชาอย่างละเอียดเลย

 
 
มื้อเที่ยงวันนี้กินที่ไร่ชานี้ละครับ มีทั้งอาหารยูนนานและอาหารไทยทั่วไป เมนูเด่นคือพวกที่ใช้ใบชาทำอาหาร อย่างขาหมูใบชา เป็ดอบใบชา ยำใบชา  ราคาถูกกว่าในหมู่บ้านแม่สลองนะครับ อย่างเป็ดอบใบชาจานนี้ 200.- ร้านเป็นระเบียงมองเห็นวิวไร่ชา บรรยากาศดีเลย


ปิดท้ายด้วยของหวานก่อนลงดอย คิวยาวจนหายอยากเลยครับ รอเครื่องดื่มครึ่งชั่วโมง เล่นกับแมวหน้าร้านไปพลางๆ ดีที่ขนมอร่อย



พอลงจากดอยแม่สลองก็ดิ่งผ่านเมืองเชียงรายไปนอนที่แพร่ครับ วันถัดมาก็กลับกรุงเทพเลย จบทริปปีใหม่แล้ว ปีนี้ยังไม่มีทริปยาวๆเลยครับ ย้ายเข้ากรุงเทพแล้วก็เที่ยวกรุงเทพวนไป~

 
Create Date :03 มิถุนายน 2566 Last Update :3 มิถุนายน 2566 22:45:41 น. Counter : 1898 Pageviews. Comments :32