bloggang.com mainmenu search







ในที่สุดพวกเราก็เดินทางมาถึงตัวเมืองสุโขทัยกันเสียที หลังจากที่แวะหม่ำโน่นชมนั่นมาตลอดทาง เดินทางมากันแค่ ๓ คน กิน-เที่ยว-ช็อป ในรถมีแต่ของกิน อย่างกับจะไปออกรบ เท่านั้นยังไม่พอ พอท้องอิ่มปากว่างก็หาเรื่องแขวะกันไปตลอดทาง จะมีใครเขาเหมือนพวกเรากันมั่งมั้ยเนี้ยะ..อิ อิ อ่ะ..ถึงแล้ว..ค่ะ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เราไปชมวัดแรกกันดีกว่า ตามปอป้ามา..นะคะ

วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่กึ่งกลางเมืองสุโขทัย ถือเป็นตำแหน่งสำคัญสูงสุดของเมือง นักโบราณคดีอธิบายว่า รัฐโบราณมักกำหนดให้จุดกึ่งกลางเมืองเปรียบประดุจกับเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล หากเป็นรัฐฮินดู ก็มักสร้างเทวาลัยประดิษฐานเทวรูปสำคัญหรือศิวลึงค์ขึ้นไว้กลางเมืองให้เป็นหลักของเมือง ส่วนรัฐพุทธก็จะนิยมสร้างวัดและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในเจดีย์ประธาน วัดแห่งนี้จึงเป็นทั้งศูนย์กลางทางกายภาพและทางจิตใจของเมือง คาดกันว่าวัดแห่งนี้คงสร้างขึ้นพร้อม ๆ กับการสร้างเมืองในยุคแรก ๆ และถือเป็นวัดสำคัญสูงสุดของเมือง ฉะนั้น จึงมีการสร้างเสริม บูรณปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมเรื่องมาหลายยุคหลายสมัย











วัดมหาธาตุ ประกอบด้วยเจดีย์ประธาน วิหาร มณฑป โบสถ์ และเจดีย์รายจำนวนมากถึง ๒๐๐ องค์ นับเป็นวัดสำคัญประจำกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ศิลปะแบบสุโขทัยแท้ตั้งเป็นเจดีย์ประธาน ล้อมรอบด้วยเจดีย์ ๘ องค์ บนฐานเดียวกัน คือ ปรางค์ศิลาแลงตั้งอยู่ที่ทิศทั้งสี่ และเจดีย์แบบศรีวิชัยผสมลังกาก่อด้วยอิฐอยู่ที่มุม ด้านตะวันออกบนเจดีย์ประธานมีวิหารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง มีแท่นซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พระศรีศากยมุนี ปัจจุบันได้รับการเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพฯ ที่ด้านเหนือและด้านใต้เจดีย์มหาธาตุมีพระพุทธรูปยืนภายในซุ้มพระ เรียกว่า "พระอัฎฐารศ" ด้านใต้ยังพบแท่งหินเรียกว่า "ขอมดำดิน" อีกด้วย

ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ได้บรรยายว่า " กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธอันใหญ่ มีพระพุทธอันราม" พระพุทธรูปทอง เข้าใจโดยทั่วไปว่าหมายถึงหลวงพ่อโตของชาวเมืองเก่า(ตำบลเมืองเก่า เป็นตำบลในพื้นที่เมืองโบราณสุโขทัย) ที่ประดิษฐานอยู่ที่วิหารหลวงในวัดมหาธาตุ เมื่อต้นรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญโดยล่องแพไปไว้ที่วิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้พระราชทานนามว่า พระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปนี้เป็นพระพุทธรูปสำริด เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย อันเป็นแบบที่นิยมมากในสมัยสุโขทัย ที่วิหารหลวงในวัดมหาธาตุสุโขทัยจึงยังปรากฏแท่นฐานขนาดใหญ่ของพระพุทธรูปองค์นี้เหลือให้เห็น "








พระอัฏฐารศ คำว่า " อัฏฐารศ " หมายถึงพระขนาด ๑๘ ศอก
เป็นชื่อที่นำมาจากจารึกหลักที่ ๑ ที่กล่าวถึงพระพุทธรูปยืนองค์หนึ่งในเขตอรัญญิก
ว่า " พระอัฏฐารศลุกยืน " จึงนิยมนำชื่อนี้มาเรียกพระยืนขนาดใหญ่แบบสุโขทัย








ส่วนพระอัฏฐารศ ที่กล่าวถึงในจารึกหมายถึง พระพุทธรูปยืน ที่มีขนาดใหญ่สูงราว ๑๘ ศอก ประดิษฐานภายในมณฑปที่ขนาบอยู่สองข้างของเจดีย์ประธาน

ถัดจากวิหารหลวงไปทางตะวันออกเป็นวิหารสูง ที่เรียกชื่อเช่นนี้ เนื่องจากวิหารหลังนี้มีฐานก่ออิฐเป็นลักษณะฐานบัว มีความสูงประมาณ ๑.๕ เมตร เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นในภายหลัง ทำให้พื้นที่ว่างระหว่างหน้าวิหารสูงกับกำแพงแก้วด้านหน้าเหลือเพียงพื้นที่แคบ ๆ ไม่ได้สัดส่วนกับความสูงของตัวอาคาร

นอกจากนี้ภายในวัดมหาธาตุยังมีกลุ่มเจดีย์จัดแยกออกเป็นกลุ่มหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์พระธาตุ มีศูนย์กลางอยู่ที่เจดีย์ ๕ ยอด ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นที่ ๒ รองจากเจดีย์พระธาตุ ตั้งเด่นสง่างามมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูมถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัยโดยแท้ แต่คงมิได้เป็นรูปแบบแรกเริ่มเมื่อมีการสร้างวัดมหาธาตุขึ้น ของเดิมน่าจะมีลักษณะเช่นเดียวกับเจดีย์ทิศที่ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน และตั้งอยู่ตรงกลางของด้านทั้งสี่













เป็นอย่างไรบ้าง..คะ วัดมหาธาตุแห่งเมืองเก่าสุโขทัย อลังการงานสร้างจริง ๆ นึกภาพดูละกันว่าบรรพบุรุษของพวกเราเก่งขนาดไหน สร้างได้ใหญ่โตงดงามปานนี้ เครื่องไม้เครื่องมือในสมัยก่อนก็ยังไม่ไฮเทคเหมือนสมัยนี้ นี่ขนาดเหลือแต่ซากปรักหักพังให้ดู ยังบิ๊กยักษ์ปานนี้ ถ้าเป็นสมัยที่รุ่งโรจน์โชติช่วงชัชวาลย์จะปานไหน บรรพบุรุษของหมู่เฮา..เจ๋ง..สุด สุด





ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติม จากกูเกิ้ล




เพลง บังใบ































Create Date :29 กรกฎาคม 2553 Last Update :14 สิงหาคม 2558 22:15:26 น. Counter : Pageviews. Comments :101