bloggang.com mainmenu search
แสงแห่งวันเริ่มสาดส่องสู่ผืนดินหมาดน้ำ ความชื้นจากสายฝนและละอองหมอกซึ่งเกาะเป็นหยาดใสบนใบไม้กำลังเหือดแห้ง ผมเงยหน้าขึ้นจากกล้องซึ่งติดเลนส์ไวด์แองเกิลเอาไว้ หันไปมองสิ่งรอบข้าง หลังจดจ่ออยู่กับความงามของรองเท้านารีอยู่เป็นเวลานาน


บนลำต้นของไม้ขนาดกลางถูกปกคลุมไปด้วยมอสสีเขียวซีด ซึ่งมันช่วยเก็บความชุ่มชื้นของน้ำไว้ให้กับสรรพสิ่ง มีกล้วยไม้ขนาดเล็กเกาะเป็นกลุ่มพร้อมชูช่อดอกสีแดงเข้มอยู่อย่างงดงาม จากลักษณะทำให้ผมบอกได้ทันทีว่านี่เป็นสิงโตนิพนธ์ (Bulbophyllum nipondhii) เพราะกลีบดอกเรียวยาวสีแดงเข้มเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่สำคัญมันยังเป็นกล้วยไม้เฉพาะถิ่นของภูหลวง สามารถพบได้ในป่าดิบเขา ที่ระดับความสูง 1,200 – 1,450 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล โดย 2 นักพฤกษศาสตร์คนสำคัญของโลก คือ ศาสตราจารย์ ดร. เต็ม สมิตินันท์ และ Prof. Gunnar Seidenfaden ซึ่งได้ทำการสำรวจพรรณไม้ในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง และได้พบพืชพรรณพร้อมทั้งกล้วยไม้หายาก รวมถึงกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลกหลายชนิด

สำหรับกล้วยไม้สิงโตชนิดนี้ ได้รับการตั้งชื่อตามอดีตหัวหน้าเขตฯ คุณนิพนธ์ ศรนคร ซึ่งเป็นผู้ใส่ใจในเรื่องพรรณไม้และมีส่วนเป็นอย่างมากในการศึกษาค้นคว้าทางด้านพฤกษศาสตร์บนภูหลวงตลอดมา ดังนั้นท่านจึงได้รับเกียรตินำชื่อของท่านเป็นชื่อของกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลกในปีพุทธศักราช 2528


อีกชนิดที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าสิงโตนิพนธ์ก็คือ สิงโตธานีนิวัติ (B.dhaninivatii) กล้วยไม้เฉพาะถิ่นของประเทศไทยซึ่งหายาก ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่พระองค์เจ้าธานีนิวัต ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกที่ภูเมี่ยง ผมพบออกดอกเป็นช่อขนาดเล็กอยู่ริมทางเดิน ซึ่งบนภูหลวงตามรายงานกล่าวไว้ว่าพบในเขตโหล่นแต้บนภูยองภู ทว่าที่ผมเห็นมันอยู่ในบริเวณโคกนกกระบานี่เอง ถึงแม้จะเริ่มเหี่ยวแห้งโรยราแต่ก็จำได้แม่นยำทีเดียว

นอกจากชนิดนี้แล้วยังมีกล้วยไม้ในกลุ่มที่เราเรียกกันว่าสิงโตกลอกตาอีกหลายชนิด อย่าง สิงโตรวงทอง (B. orientale) สิงโตรวงข้าว (B. morphologorum) สิงโตสยาม (B. siamense) สิงโตสมอหิน (B. blepharites) กล้วยไม้สีสันงดงามที่พบผลิดอกอยู่เป็นกลุ่มใหญ่บนลานหิน นอกจากนี้ยังมีชนิดที่หน้าตาประหลาดกว่าชนิดอื่นอย่าง เอื้องขยุกขยุย (B. dayanum) ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่ตรงขนเส้นเล็กๆ บนกลีบดอก


ในส่วนของกล้วยไม้กลุ่มสิงโตกลอกตาทั่วโลกสำรวจพบแล้วประมาณ 2,000 ชนิด ซึ่งกระจายพันธุ์อยู่ในเขตร้อนของทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ จนถึงเอเชีย ซึ่งในบ้านเรามีอยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 200 ชนิด อันประกอบไปด้วยกล้วยไม้หลายสกุลซึ่งทุกสกุลมีส่วนของ กลีบปาก ขยับกลอกไหวไปมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้คนในสมัยก่อนจินตนาการไปว่า เหมือนตุ๊กตาสิงห์ที่มักประดิษฐ์ไว้ให้ส่วนลูกตาขยับกลอกไปมาได้นั่นเอง ทำให้เรียกพวกมันตลอดมาว่า สิงโตกลอกตา

ทำไมกล้วยไม้พวกสิงโตจึงต้องกลอกตา นักพฤกษศาสตร์กล่าวกันว่า กลีบที่เคลื่อนไหวได้คล้ายบานพับติดสปริงนี้ มีเอาไว้เพื่อเอื้อต่อกระบวนการผสมเกสรให้เกิดขึ้นได้มากที่สุดขณะแมลงเข้ามาเกาะ ผมเคยสังเกตสิงโตรวงทอง เห็นพวกแมลงหวี่บินเข้ามาเกาะอยู่บริเวณกลีบปาก ก่อนจะมุดหัวเข้าไปด้านในของกลีบปากเมื่อลมพัดให้กลีบบนล่างแยกออกจากกัน และมันโดนหนีบเอาไว้เป็นเวลาพอสมควร ก่อนจะหลุดออกมาอีกครั้งหลังจากกลีบปากโดนลมพัดแกว่ง แค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการผสมเกสร
Create Date :27 กันยายน 2548 Last Update :29 ตุลาคม 2549 0:46:02 น. Counter : Pageviews. Comments :8