bloggang.com mainmenu search
ประสบการณ์สองปีเศษที่ใช้ชีวิตอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย จึงมีโอกาสได้สำรวจและรับความรู้เกี่ยวกับกล้วยไม้ป่าของไทยที่มีถิ่นอาศัยในเขตภาคใต้ของไทยเพิ่มขึ้น ภาคใต้ของไทยหมายถึงช่วงจังหวัดชุมพรลงไปจนถึงพรมแดนมาเลเซีย สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสลับกับหุบเขา มีเกาะรายล้อมอยู่สองฟากฝั่งทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,800-2,000 มิลลิเมตรต่อปี โดยช่วงกระจายของฝนมีมากกว่า 6 เดือนต่อปี และที่สำคัญคือไม่มีฤดูหนาว

ภาคใต้ของไทยน่าจะเป็นพื้นที่ที่มีการกระจายพันธุ์ของกล้วยไม้พันธุ์แท้ที่สมบูรณ์จุดหนึ่ง ที่พบได้ง่ายและมากที่สุดเห็นจะเป็น “กะเรกะร่อน” (Cymbidium aloifolium) กล้วยไม้ชนิดนี้พบการกระจายตัวทั่วทุกภาค และในภาคใต้ก็พบทุกจังหวัด ที่มากที่สุดผมคิดว่าน่าจะอยู่ในเขต อ.ท่าฉางต่อกับ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เพียงแหงนหน้าสังเกตบนต้นตาลข้างทางหรือตามคันนาก็พบแล้ว น่าแปลกใจไม่น้อยว่ากล้วยไม้ชนิดนี้มีความสัมพันธ์ในการดำรงชีพกับตาลอย่างใกล้ชิด อีกชนิดหนึ่งคือ “กะเรกะร่อนปากเป็ด” (Cymbidium finlaysoniana) รูปลักษณะของใบคล้ายคลึงกับชนิด aloifolium ต่างตรงที่ดอกใหญ่กว่า มีกลีบสีเหลืองอมเขียว ปากสีขาวแซมแดงม่วง กล้วยไม้ชนิดนี้มีถิ่นอาศัยเฉพาะในภาคใต้เท่านั้น

กลุ่มกล้วยไม้ที่กำลังถูกรุกรานมากที่สุดได้แก่ กล้วยไม้รองเท้านารี (Paphiopedilum) รองเท้านารีเป็นกล้วยไม้ประจำถิ่น ชนิดที่พบพบทางภาคใต้ก็จะไม่พบที่ภาคอื่น ที่สถานีวิจัยข้าว จังหวัดกระบี่ จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นเรือนรวบรวมกล้วยไม้ป่าที่ถูกชาวบ้านและพ่อค้าลักลอบเก็บไปขาย เมื่อศุลกากรหรือเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุมได้ก็จะนำมารวบรวมไว้ที่นี่ ที่ผมชอบมากที่สุดคือ “รองเท้านารีเหลืองกระบี่” (Paphiopedilum exul) เพราะรูปทรงสวย สีเหลือง ขาว กระน้ำตาล เป็นกล้วยไม้สัญลักษณ์ประจำจังหวัดกระบี่ “รองเท้านารีขาวสตูล” (Paphiopedilum niveum) พบในเขตจังหวัดสตูลและตรัง โดยเฉพาะตามหมู่เกาะในทะเลอันดามัน ที่อำเภอสวี จังหวัดชุมพร เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่นิยมเดินป่าพบรองเท้านารีขึ้นอยู่ข้างทางขณะเดินป่าที่ไม่สมบูรณ์นัก แต่ยังอุตส่าห์พบ “รองเท้านารีขาวชุมพร” (Paphiopedilum godefroyae) ซึ่งพบย้ำนักย้ำหนาให้แกเลี้ยงให้รอด ถ้าเก็บมาจากป่าแล้วมาเลี้ยงตายล่ะน่าดู รองเท้านารีขาวชุมพรสามารถเจริญเติบโตได้ที่ในที่ที่ความชื้นค่อนข้างสูง และแสงแดดส่องไม่จัดเกินไปนัก กล้วยไม้อีกชนิดที่น่าห่วงว่าจะสูญพันธุ์ก็คือ “เอื้องปากนกแก้ว” (Dendrobium cruentum) ซึ่งก็พบได้เฉพาะทางภาคใต้ของไทยเท่านั้น แต่ปัจจุบันก็ยากเต็มที กล้วยไม้ในสกุลรองเท้านารีและเอื้องปากนกแก้วที่กล่าวมาจัดอยู่ในกลุ่มพืชใกล้สูญพันธุ์ (Endanger species)




กล้วยไม้พระเอกอีกชนิดหนึ่งที่อยากกล่าวถึงคือ “ว่านเพชรหึง” บ้างก็เรียกว่า “หางช้าง” (Grammatophyllum speciosum) ลำลูกกล้วยคล้ายลำอ้อย ขนาดโตเต็มที่สูงถึง 2-3 เมตร ดอกใหญ่เป็นช่อสีเหลืองส้มอมเขียว กระน้ำตาล เป็นที่ต้องการของตลาดกรุงเทพและต่างประเทศมาก ราคาสูงถึงสี่ห้าพันบาท กอเล็กๆ ก็ในราวสองสามร้อยบาทขึ้นไป ที่จังหวัดกระบี่ชาวบ้านมักปลูกกล้วยไม้ชนิดนี้ไว้ที่หน้าบ้าน สอบถามดูในป่าก็ใกล้สูญพันธุ์เต็มที หนังสือบางเล่มกล่าวว่ากล้วยไม้ชนิดนี้เป็นกล้วยไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่บ้านเขาสามหน่วยและบ้านนาน้ำเค็ม อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ในที่ลุ่มนา พบ “ยี่โถปีนังหรือไม้จิ้มฟันควาย” (Arunida graminifolia) ดอกสีม่วงอมชมพูคล้าย Cattleya แต่ผมว่าสวยกว่า เพราะ Cattleya ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ผมชอบของไทยมากกว่า ที่สำคัญยี่โถปีนังออกดอกได้ตลอดปี นิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับ


กล้วยไม้อีกชนิดที่มีการดำรงชีพอย่างน่าพิศวง คือกล้วยไม้ที่มีการใช้ชีวิตแบบผู้ย่อยสลาย (Saprophytic orchids) กล้วยไม้ในกลุ่มนี้ต้องอาศัยเชื้อรา Mycorrhiza สลายธาตุอาหาร แล้วกล้วยไม้จึงนำเอาสารเหล่านี้เป็นแหล่งอาหารและช่วยในการงอกของเมล็ด ปัจจุบันกล้วยไม้กลุ่มนี้ก็หาดูยากเต็มทีเพราะไม่ได้ออกดอกให้เห็นตลอดปี Saprophytic orchids ส่วนใหญ่อยู่ในอนุวงศ์ (Sub family) Epidendroideae และจะเจริญเติบโตได้ในป่าทึบที่สมบูรณ์เท่านั้น บริเวณเทือกเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช เป็นแหล่งที่พบกล้วยไม้กลุ่มนี้มากที่สุด “เอื้องคีรีวง” (Didymoplexiopsis khiriwongensis) ที่พบบนเขาหลวง ชูเฉพาะช่อดอกเหนือผิวดิน ไม่มีส่วนของสีเขียวหรือ Chlorophyll ดอกเล็กสีขาว ขอบปากมีสีส้มอมเหลือง ขณะนี้กำลังขออนุมัติตั้งชื่อวิทยาศาสตร์และรับรองพันธุ์ อีก 2 ชนิดที่พบเฉพาะบนเขาหลวงคือ Lecanochis multiflora และ Cyrtosia plurialata ซึ่งไม่มีรายละเอียด เพราะผมก็ไม่เคยเห็น อีกชนิดหนึ่งที่ทราบมาว่าพบที่เขาทุ่ง จ.ชุมพร อยู่ในสกุล Didymoplexis กำลังเสนอรับรองพันธุ์เช่นกัน

กล้วยไม้ป่าที่พบว่าชาวบ้านเก็บมาจากป่ามาปลูกเลี้ยงที่บ้านกันมากอีกชนิดคือ “ไอยเรศ” หรือ “พวงมาลัย” หรือ “หางกระรอก” (Rhynchostylis retusa) แล้วแต่จะเรียกกัน กล้วยไม้ชนิดนี้เป็นกล้วยไม้ในสกุลช้างเพียงชนิดเดียวที่พบในภาคใต้ ดอกเป็นช่อห้อยลง มีกลิ่นหอม ชอบแสงแดดจัด อีกชนิดหนึ่งซึ่งจัดอยู่ในสกุลกุหลาบ ซึ่งเป็นชนิดเดียวที่พบทางภาคใต้คือ “กุหลาบกระบี่” หรือ “พวงชมพู” (Aerides krabiensis) โดยพบในเขตจังหวัดกระบี่และพังงา โดยลักษณะใบแคบ หนา รูปตัววี มักเห็นการแตกกอมาก

ที่จังหวัดระนอง ในเขตอำเภอกระบุรี ละอุ่น และกะเปอร์ เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านกำลังบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำสวนกาแฟ หรือไม่ก็ปาล์มน้ำมัน เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้เดินทางเข้าหมู่บ้าน ก็จะพบว่าหน้าบ้านถูกประดับประดาไปด้วยต้นกล้วยไม้ป่าที่ได้ติดไม้ติดมือกลับมาเมื่อเขาเข้าไปตัดไม้ในป่า “เอื้องหมาก” (Spathoglottis plicata) กล้วยไม้ดินใบจีบคล้ายหมากชูดอกสีม่วงอมชมพู “เอื้องแปรงสีฟัน” (Dendrobium secundum) ก็พบเห็นได้ง่ายเช่นกัน “ขี้นกกระยางหรือหวายตะมอย” (Dendrobium cruentum) พบได้ไม่ยากเช่นกัน ดอกสีขาวปากแต้มเหลือง มีกลิ่นหอม แต่หากตั้งใจดมตรงๆ จะมีกลิ่นออกสาบๆ สำหรับจังหวัดชุมพรซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของกล้วยไม้สกุลม้าวิ่งซึ่งพบสองชนิดคือ Doritis pulcherrima และชนิดพันธุ์ที่พบเฉพาะ จ.ชุมพร คือ var.chumpornensis ซึ่งคนเก่าคนแก่ที่นี่เล่าให้ฟังว่าเมื่อสมัยก่อนพบกล้วยไม้พันธุ์นี้อาศัยอยู่ตามเชิงเขาในเขต อ.ท่าแซะ และ อ.ปะทิว เป็นจำนวนมหาศาล แต่เมื่อป่าถูกทำลายลงมากจึงเป็นกล้วยไม้ที่เริ่มหายาก ผมพบกล้วยไม้ชนิดนี้ในที่ราบใกล้ชายฝั่งทะเลซึ่งอยู่ในเขต อ.ทุ่งตะโก ขึ้นดาษดื่นยังกับวัชพืชบนเครื่องปลูกคือทรายที่มีอินทรียวัตถุสูง ภาวนาว่าอย่าให้ชาวบ้านแถวนั้นอย่าได้รู้ว่ามันเป็นกล้วยไม้ มิฉะนั้นคงจะมีการเก็บเพื่อนำมาขายกันหมด ในพื้นที่ผืนกันนี้พบกล้วยไม้ดินชนิด Bromheadia finlaysoniana ซึ่งขึ้นอยู่ไม่น้อยทีเดียว ปัจจุบันกล้วยไม้ชนิดนี้ก็หายากเต็มที เป็นเพราะดอกมีสีขาวสะอาดสีน้ำนม ปากสีเหลืองและม่วงมีกลิ่นหอมอ่อนๆ สำหรับกล้วยไม้สกุลนี้ที่มีรายงานพบเฉพาะภาคใต้เท่านั้นชนิดอื่นๆ ก็เช่น Bromheadia alticola หรือ “กลีบขาว” ในเขตที่ลุ่มมีน้ำไหลผ่านพบ Thrixspermum amplexicaule หรือ “เอื้องพรุ” ขึ้นปะปนอยู่กับกอหญ้า กล้วยไม้ชนิดนี้มีการดำรงชีพค่อนข้างแปลกจากกล้วยไม้ธรรมดาก็คือ โคนต้นจะอยู่ในน้ำ ลำต้นขนาดก้านไม้ขีดไฟ เจริญเติบโตแบบ Monopodial ดอกสีน้ำเงินอมม่วง นอกจากนี้ยังมีกล้วยไม้สกุลใหญ่ที่พบกระจายพันธุ์มากอีกสกุลหนึ่งคือ สิงโตกลอกตา (Bulbophyllum) และที่พบเพียงภาคใต้เท่านั้นได้แก่ “สิงโตเหลือง” (Bulbophyllum vaginatum) ซึ่งพบได้ตั้งแต่ชุมพรยันนราธิวาส Bulbophyllum lilacinum พบที่จังหวัดพังงาเพียงที่เดียว ”ตุ๊กตา” (Bulbophyllum modestum) ซึ่งพบในป่าลุ่ม ป่าพรุ หรือเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเกิน 800 เมตรขึ้นไป “สิงโตก้ามปูแดง” (Bulbophyllum patens) เคยพบที่นครศรีธรรมราช ตรัง และจังหวัดชายแดนติดประเทศมาเลเซีย





ยังมีกล้วยไม้อีกหลายชนิดที่มีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ของไทยมีโอกาสดำรงชีพในภาคใต้ของไทย บ้างก็สูญพันธุ์ไม่มีโอกาสให้ลูกหลานชื่นชมอีกแล้ว บ้างก็กำลังถูกคุกคามอย่างหนักซึ่งคาดว่าอีกไม่ช้า ถ้าไม่มีกฎหมายใดที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะลงโทษมนุษย์ผู้เห็นแก่ตัวเหล่านั้นลงได้ กล้วยไม้สายพันธุ์แท้อีกไม่ต่ำกว่า 10 พันธุ์ น่าจะสูญพันธุ์ในอีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า

Create Date :23 สิงหาคม 2548 Last Update :11 กันยายน 2548 14:31:03 น. Counter : Pageviews. Comments :26