bloggang.com mainmenu search
ปัจจุบันสถานการณ์กล้วยไม้ป่าในประเทศไทยอยู่ในขั้นน่าห่วง (พ.ศ.2549) จริงๆ ก็วิกฤตมานานหลายปีแล้ว ใช่ว่าจะเพิ่งถูกรุกรานในระยะเวลาเพียง 1-2 ปีนี้ กล้วยไม้ที่ถูกเก็บมาจากธรรมชาตินั้นผ่านมือคนแล้วคนเล่า กว่าจะถึงมือผู้ซื้อไปปลูกเลี้ยง ระหว่างทางผ่านสภาพแวดล้อมที่ทั้งร้อน ทั้งมืดและอับ เชื่อว่ากล้วยไม้ที่ถูกเก็บมาจากป่ากว่าจะถึงมือผู้ซื้อมีโอกาสรอดตายก็เพียงไม่ถึง 1 ใน 4 หรือ 25% เท่านั้น โดยปกติกล้วยไม้ป่าจะมีความอดทนกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ มากกว่ากล้วยไม้ลูกผสม แต่ถ้าสิ่งแวดล้อมในที่ปลูกใหม่แตกต่างกับแหล่งที่อยู่อาศัยในธรรมชาติอย่างสิ้นเชิง ก็คงไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้

ผู้ปลูกเลี้ยงมือใหม่หลายท่านละเลยที่จะศึกษาเสียก่อนว่า กล้วยไม้ป่าที่หลงใหลนั้นมีถิ่นที่อยู่ในธรรมชาติเป็นอย่างไร มีระบบรากแบบใด ควรใช้อะไรเป็นเครื่องปลูก ต้องการน้ำ แสง อุณหภูมิอย่างไร เมื่อพ่อค้าแม่ค้าแสดงรูปดอกให้ดูและเห็นว่าสวยถูกใจ ก็ตัดสินใจซื้อกลับโดยอาจไม่ทราบว่า กล้วยไม้ชนิดนั้นไม่สามารถออกดอกได้ในพื้นที่พื้นราบ บางชนิดอย่าว่าแต่ออกดอก โอกาสแค่มีชีวิตรอดยังแทบไม่มี



ความสวยงามของกล้วยไม้ในสกุล Pleione ทุกชนิด ที่มีชื่อเรียกต่างๆ เช่น เอื้องพลายชมพู เอื้องพลายงาม กระดิ่งภู เป็นอีกสกุลหนึ่งที่ยากที่จะเลี้ยงดูในสภาพอากาศที่สูงเกิน 20 องศาเซลเซียสได้ Pleione ถูกเก็บหัวจากป่าลงมาขายเป็นจำนวนมาก แต่มีเท่าไรก็คงตายเท่านั้น เห็นแม่ค้าบรรจุถุงพลาสติกขนาดใหญ่แล้วก็อดคิดถึงจำนวนที่เหลืออยู่ในป่าคงเหลือน้อยมากๆ แล้ว

ใครจะทราบบ้างว่าสำเภางาม Cymbidium insigne ที่พบบนยอดดอยของไทย เมื่อหลายสิบปีก่อนเคยถูกส่งออกไปต่างประเทศเป็นจำนวนมาก กล้วยไม้ชนิดนี้ยังใช้เป็นพ่อแม่ในการปรับปรุงพันธุ์อย่างแพร่หลาย เพราะสำเภางามนั้นงามสมชื่อ ดอกสีโทนชมพู ออกดอกเป็นช่อสง่างาม ในฤดูหนาวจะแทงช่อเด่นสะดุดตา แต่มันกลับทำร้ายตัวเอง เพราะความงามของมันสามารถเห็นได้ตั้งแต่ไกล เมื่อไม่นานมานี้เองก็ยังพบหน่อแห้งๆ ของมันวางขายในตลาดนัดกลางใจเมืองในราคาสูงลิบลิ่ว คนขายมักมีภาพหรือหนังสือที่แสดงภาพดอกช่วยให้ลูกค้า (เหยื่อ) ดู เมื่อลองถามดูเขาก็บอกว่ามันเลี้ยงง่ายมาก นึกในใจคนขายที่ไหนจะบอกเลี้ยงยาก แต่ผมกล้าท้า ยังไม่มีใครเลี้ยงสำเภางามรอดในพื้นราบในประเทศไทยได้เลย นอกจากนี้กล้วยไม้สกุล Cymbidium ที่ไม่น่าหามาเลี้ยงยังรวมถึง กะเรกะร่อนปากนกแก้ว Cymbidium lowianum, กะเรกะร่อนอินทนนท์ Cymbidium tracyanum, Cymbidium devonianum และ Cymbidium mastersii ทั้งหมดนี้มีความจำเพาะเจาะจงกับถิ่นอาศัยของมันตามธรรมชาติมาก หากเก็บมาเลี้ยงก็บอกได้คำเดียวว่าตายลูกเดียว



กล้วยไม้ที่เอาใจยากอีกกลุ่มหนึ่งคือรองเท้านารี ความจริงอาจไม่ถูกทั้งหมดที่จะกล่าวว่ามันไม่เหมาะกับมือใหม่ แต่การศึกษาสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยในธรรมชาติเสียก่อน จะทำให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่า เราพร้อมที่จะเลี้ยงดูเขาหรือยัง อย่างรองเท้านารีเมืองกาญจน์ (Paphiopedilum parishii) ซึ่งในธรรมชาติเป็นรองเท้านารีที่ขึ้นเกาะตามต้นไม้ใหญ่ หากนำมาปลูกเลี้ยง เราจึงไม่ควรใส่ดินเป็นส่วนผสมในเครื่องปลูก ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ของการปลูกเลี้ยงคือไม่แห้งก็เน่าตายไปเลย อีกตัวหนึ่งก็คือรองเท้านารีอินทนนท์ (Paphiopedilum villosum) ที่มีระบบรากเหมือนกับรองเท้านารีเมืองกาญจน์ รองเท้านารีตัวนี้ชอบอากาศเย็น และควรพิจารณาการใช้เครื่องปลูกให้เหมาะสมเช่นกัน ส่วนใหญ่ปัญหาที่พบกับการปลูกในพื้นราบคืออาการเน่าแห้งๆ เมื่อปี 2548 ข่าวการหายไปของรองเท้านารีอินทนนท์บนภูหลวงทำเอานักนิยมธรรมชาติต่างสลดใจ ใครเป็นคนเอาไปเจ้าหน้าที่ก็ทราบดี ความเห็นส่วนตัวของผมคิดว่าป่านนี้มันคงตายไปแล้ว นอกเหนือจาก 2 ตัวที่กล่าวถึง รองเท้านารีดอยตุง (Paphiopedilum charlesworthii) รองเท้านารีเหลืองเลย (Paphiopedilum hirsutissiamum) และรองเท้านารีฝาหอย (Paphiopedilum bellatulum) และรองเท้านารีสุขะกุล (Paphiopedilum sukhakulii) เป็นอีก 4 ตัวที่ควรใส่ใจมากเป็นพิเศษ ส่วนรองเท้านารีคางกบ (Paphiopedilum callosum) พบว่าเป็นมีศัตรูธรรมชาติที่สำคัญคือเพลี้ยไฟและไรแดงมักพบการระบาดของไรแดงได้ง่ายในช่วงฤดูหนาว ส่วนฤดูร้อนมักถูกเพลี้ยไฟเล่นงาน

เรื่องยังไม่จบ ยังมีต่อตอนที่ 2 จ้า

***** รูป *****
บนซ้าย Pleione maculata ขอบคุณคุณ JUNGLE MAN ครับ
บนขวา Cymbidium insigne ขอบคุณคุณ JUNGLE MAN อีกครั้งครับ
ล่างซ้าย Paphiopedilum bellatulum
ล่างกลาง Paphiopedilum callosum
ล่างขวา Paphiopedilum parishii
Create Date :15 กรกฎาคม 2549 Last Update :17 กรกฎาคม 2549 12:40:39 น. Counter : Pageviews. Comments :12