bloggang.com mainmenu search


ผู้รักกล้วยไม้หลายท่านคงเคยลองเพาะเมล็ดกล้วยไม้กันมาบ้าง แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่น่าจะประสบความล้มเหลว เพราะกล้วยไม้หลายพันธุ์ เรียกได้ว่าเป็นส่วนมาก จัดเป็นพืชที่เพาะจากเมล็ดค่อนข้างยากกว่าพืชอื่นๆ หลายท่านอาจมีคำถามต่อว่า แล้วกล้วยไม้ในป่าธรรมชาติขยายพันธุ์ได้อย่างไร ตอบได้ว่ากล้วยไม้ป่า ก็มีการผสมเกสรและขยายพันธุ์ตามธรรมชาติด้วยวิธีการงอกจากเมล็ดนี่แหละครับ โดยหลังจากดอกกล้วยไม้ได้รับการผสม ก็จะค่อยๆ พัฒนาต่อไปเป็นฝัก กล้วยไม้หนึ่งฝักมีเมล็ดบรรจุอยู่ภายในเป็นหมื่นเป็นแสนเมล็ด เมื่อฝักแก่และแตก เมล็ดกล้วยไม้จะปลิวไปตามลม พัดพาไปตามน้ำ หรือถูกสัตว์หรือแมลงพาไปตกตามที่ต่างๆ การงอกของเมล็ดกล้วยไม้จำเป็นต้องมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม กล้วยไม้หลายชนิดจะงอกได้ก็ต้องอาศัยการเกื้อกูลจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น (Symbiosis) มีผลการศึกษาที่ยืนยันว่าเชื้อรา Mycorhiza สนับสนุนให้กล้วยไม้ในธรรมชาติมีอัตราการสูงขึ้น ปัจจุบันตามห้องปฏิบัติการหลายแห่งนิยมใส่เชื้อเห็ดหูหนู (Auricularia polytricha) ลงไปในอาหารวุ้น เพราะเชื่อว่าเชื้อราตัวนี้จะเป็นตัวส่งเสริมให้เมล็ดกล้วยไม้งอกได้ดีเช่นกัน ในป่าธรรมชาติเมื่อเมล็ดกล้วยไม้ได้รับความชื้นจากน้ำค้างและน้ำฝน ได้รับแหล่งพลังงานจากอินทรียวัตถุที่มันปลิวไปตก ได้รับแสงแดดจากดวงอาทิตย์ ก็ใช่ว่าเมล็ดกล้วยไม้เหล่านั้นจะงอกและมีชีวิตรอดได้ทั้งหมด เพราะหลังจากนั้นลูกกล้วยไม้ยังต้องต่อสู้กับความแปรปรวนของสิ่งแวดล้อม การตัดไม้ทำลายป่าซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของกล้วยไม้ บ้างก็ถูกมนุษย์เก็บไปเลี้ยงในเมือง และมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องตายก่อนวัยอันควรเนื่องจากไฟป่า

ทีนี้ลองมาดูกันครับว่าเราจะลองเพาะเมล็ดกล้วยไม้ด้วยตัวเองได้อย่างไรโดยไม่ต้องนำฝักไปจ้างห้องปฏิบัติการเพาะ ก่อนอื่นก็ต้องทำความเข้าใจสักนิดว่ากล้วยไม้แต่ละชนิดพันธุ์มีความยากง่ายในการงอกแตกต่างกัน กล้วยไม้หลายชนิดมีอัตราการงอกน้อยมาหรือไม่งอกเลย แม้ว่าในห้องปฏิบัติการมีการจัดการและควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของกล้วยไม้เป็นอย่างดี ทั้งแหล่งธาตุอาหารและพลังงานที่จำเป็นสำหรับกล้วยไม้ นอกจากนี้ยังมีการควบคุมความชื้น ความดันและอุณหภูมิอย่างเหมาะสม แต่ก็ยังมีกลุ่มของกล้วยไม้ที่สามารถงอกง่ายๆ ที่พอจะหยิบยกเป็นตัวอย่างก็เช่น “กะเรกะร่อน (Cymbidium sp.)” ที่เราเห็นมันเกาะติดต้นปาล์มตามท้องนานั่นเอง “ม้าวิ่ง (Doritis pulcherima)” ก็เป็นกล้วยไม้ที่งอกได้ไม่ยากนัก

“กล้วยไม้ดินใบหมากหรือว่านจุก (Spathoglottis plicata)" เป็นกล้วยไม้อีกชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาลองเพาะได้ดี ในประเทศไทยสามารถพบการกระจายพันธุ์ได้มากทางภาคใต้ ออกดอกเป็นช่อสีม่วงสด และหากสภาพแวดล้อมเหมาะสมจะทยอยให้ดอกได้เกือบทั้งปี กล้วยไม้ชนิดนี้สามารถปลูกเป็นไม้ประดับกลางแจ้งได้ดี หลังจากเกสรตัวเมียได้รับการผสมแล้ว เซลผนังรังไข่จะค่อยๆ โป่งขยายขนาดและพัฒนาเป็นฝักในที่สุด ระยะเวลาที่พัฒนาเป็นฝักแก่ใช้เวลาเพียง 30-40 วันเท่านั้น การเพาะเริ่มจาก
1. เตรียมเครื่องปลูก โดยนำอิฐมอญ (ชนิดที่ไม่มีรู) ทุบให้ละเอียดใส่ลงในกระถางดินเผา
2. นำฝักกล้วยไม้ที่สุกแก่ได้ที่ขยี้ลงบนเครื่องปลูกให้ทั่ว
3. นำกระถางเก็บไว้ภายใต้แสงรำไร ข้อสำคัญควรมีความชื้นบรรยากาศสูง

ดังนั้นหลังจากการเพาะเมล็ดแล้ว อาจใช้จานหล่อน้ำใต้กระถางไว้ เนื้อกระถางและอิฐมอญซึ่งเป็นดินเผาจะดูดซึมน้ำให้ชุ่มชื้นได้ตลอดเวลา หรืออาจนำกระถางที่เพาะแล้วไปบ่มไว้ในตู้ความชื้น (High moisture tunnel) ซึ่งมีลักษณะเป็นระบบปิด เพื่อรักษาสมดุลความชื้นได้ตลอดเวลา หรืออาจใช้วิธีนำแผ่นกระจกใสมาวางทับลงบนปากกระถาง ก็สามารถรักษาความชื้นได้ดีระดับหนึ่งเช่นกัน

หลังจากทำการเพาะประมาณ 1 เดือนครึ่ง ต้นกล้วยไม้จะเริ่มงอก เมื่อกล้าไม้เริ่มแข็งแรงจึงค่อยย้ายเปลี่ยนกระถางหรือนำไปปลูกลงแปลงก็ได้
Create Date :22 เมษายน 2552 Last Update :22 เมษายน 2552 7:51:41 น. Counter : Pageviews. Comments :9