bloggang.com mainmenu search


สีเหลืองสะดุดตาของเอื้องชะนี “Dendrobium senile” นั้นทำให้น่าหลงใหลมาก หากไม่รวมถึงกลิ่นหอมหวานๆ คล้ายน้ำผึ้งของมันด้วย ผมว่าใครก็ตามที่ได้เห็นมันถ้าไม่ชอบก็บ้าแล้วครับ

ในมุมกลับกันเอื้องชะนีอาจไม่เหมาะกับมือใหม่หัดเลี้ยงมากนัก เพราะมันอาจไม่ค่อยทนทานกับสภาพแวดล้อมในเมืองได้ดีเท่าไร ปัญหาการปลูกเลี้ยงที่พบบ่อยๆ คือไม่แห้งไปก็แฉะจนเน่าไปเลย ผมสังเกตคนปลูกเก่งๆ มักจะใช้การแปะติดกับไม้โดยใช้เครื่องปลูกเป็นแผ่นรากเฟินหรือมอสบางๆ แปะล่อตรงรากจากนั้นก็มัดให้แน่น ที่สำคัญคือความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต้องเหมาะเหม็ง เพราะบอกแล้วว่าถ้าความชื้นต่ำลำต้นมันจะค่อยๆ แห้งตาย แต่หากพ่นน้ำให้มันบ่อยๆ มันจะค่อยๆ เน่าโดยเริ่มจากซอกลำลูกกล้วย ปัจจัยอีกประการคือความเข้มแสง เอื้องชะนีในป่าธรรมชาติไม่ใช่ไม้ที่เจริญเติบโตกลางแจ้งที่ได้รับแดดแรงๆ จัดๆ และไม่พบในป่าทึบๆ ด้วยเช่นกัน การจัดแสงให้เอื้องชะนีควรพิจารณากรองแสงให้ระดับ 50-70% ขึ้นอยู่กับว่าปลูกอยู่ที่ไหน

กลับมาเรื่องชื่อชะนีเสียหน่อย เหตุที่ชื่อชะนีนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่าชื่อนี้มาได้อย่างไร เพราะหากดูลักษณะลำลูกกล้วยที่มีขนอุยๆ สีขาวสั้นๆ ปกคลุมอยู่ มันช่างเหมือนกับมือชะนีเสียจริงๆ แต่คำว่า senile ตามความหมายแปลว่าแก่ หง่อม ชราประมาณนี้ครับ ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นชะนีชราภาพหรือเปล่า
Create Date :21 เมษายน 2550 Last Update :21 เมษายน 2550 12:56:35 น. Counter : Pageviews. Comments :9