bloggang.com mainmenu search
เมื่อคืนนี้ผมฟังเพลงเอื้องโรยของคุณหยาดนภาลัย ก็เลยนึกถึงกล้วยไม้ต้นหนึ่งที่ผมมีอยู่ จะเรียกว่าบังเอิญมั้ยครับ เพราะวันนี้ผมลงมาดูมันแต่เช้าก็พบว่ามันเพิ่งจะออกดอกท้าทายอยู่ 6-7 ดอก เอื้องโรยเป็นกล้วยไม้ในสกุล Bromheadia ครับ ชื่อชนิด aporoides จัดเป็นกล้วยไม้ที่มีระบบรากกึ่งอากาศ (แต่บางทีก็พบว่าขึ้นมาจากพื้นแบบ terrestrial บ้างเหมือนกัน) ลักษณะทายกายภาพของลำต้นเป็นเฉพาะเจาะจง สามารถจำแนกได้ง่าย เพราะมีลักษณะใบเรียวยาวและแบน ปลายใบแหลมเปี๊ยวเหมือนไม้จิ้มฟัน ลักษณะการออกดอกก็เป็นเอกลักษณ์คือ จะออกดอกที่ปลายยอดลำต้น หรือไม่ก็จะแตกลำย่อยที่ปลายก่อนแล้วค่อยแทงช่อดอก กลีบดอกบางสีขาวขุ่น จะค่อยๆ เผยออกด้านข้าง กลีบปากสีเหลืองมีตุ่มสากๆ อยู่ทั่วบริเวณ



มีบางคนเรียกกล้วยไม้ชนิดนี้ว่าเอื้องจำปา แต่ผมว่าชื่อเรียกเอื้องโรยนั้นเหมาะสมที่สุดแล้วครับ เพราะความพิเศษของเอื้องโรยอยู่ตรงที่การออกดอก มันจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม เหตุที่เขาขนานนามว่า “เอื้องโรย” คงเป็นเพราะช่วงเวลาการบานของมันนั้นสั้นมากๆ เช่นเดียวกับญาติของมันในสกุลเดียวกันที่ชื่อ Bromheadia finlaysoniana เพราะมันจะบานเพียง 6-8 ชั่วโมง มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมเห็นมันบานตอนเช้า กะว่าตอนเย็นจะกลับมาถ่ายรูปแต่ก็ต้องผิดหวังเพราะมันเหี่ยวหุบไปตั้งแต่ช่วงเที่ยงแล้ว

ในธรรมชาติ เราสามารถพบมันได้ทั่วทุกภาคตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แนวของตะนาวศรีในภาคตะวันตก รวมถึงป่าตอนกลางของประเทศในจังหวัดเพชรบูรณ์และชัยภูมิด้วย จุดที่พบจะเป็นบริเวณที่ได้รับแสงที่ค่อนข้างมาก การกระจายพันธุ์ในประเทศอื่นก็สามารถพบในลาว พม่า และมาเลเซียได้เช่นกัน

กล้วยไม้สกุล Bromheadia พบทั่วโลกประมาณ 20 ชนิดพันธุ์ และอย่างที่บอกไปแล้วว่ามีระบบรากทั้งแบบกึ่งอากาศและรากดิน แต่ใครได้เอื้องโรยมาปลูกแนะนำให้ปลูกแบบรากกึ่งอากาศนะครับ อาจใช้เครื่องปลูกเป็นมอส ถ่านหุง อิฐมอญ กาบมะพร้าว เมื่อรากเดินดีแล้วเอาออกไว้ที่แสงมากหน่อย รับรองได้เห็นดอกแน่นอนครับ


Create Date :21 มีนาคม 2549 Last Update :21 มีนาคม 2549 12:17:50 น. Counter : Pageviews. Comments :21