bloggang.com mainmenu search


หน้า Blog ที่แล้วผมเพิ่งเขียนเรื่องสิงโตนักกล้ามไปหมาดๆ ถัดมาจากนั้น 1 สัปดาห์ ผมได้ไปเยี่ยมสวนกล้วยไม้ของพี่ที่นับถือ ระหว่างเดินชมอยู่นั้นก็ได้กลิ่นดอกไม้ชนิดหนึ่งเตะจมูกเข้าให้ จึงพยายามมองหาที่มาของกลิ่นจนพบแมลงวันทองฝูงใหญ่กำลังรุมทึ้งเจ้าสิงโตรวงข้าวฟ่างกอหนึ่งอยู่อย่างเมามัน สิงโตต้นนั้นเป็นไม้กอใหญ่มาก กำลังแทงช่อดอกไม่ต่ำกว่า 20 ช่อ คือถ้ายกไปประกวดตามงานกล้วยไม้แล้วไม่ได้รางวัลกลับมา ให้มากระทืบผมได้ฟรีๆ เลย

ชื่อเรียก “สิงโตรวงข้าว” เป็นชื่อสามัญใช้เรียกกล้วยไม้สิงโตกลุ่มหนึ่ง ที่พบในประเทศไทยมีหลายชนิด ที่กำลังพูดถึงอยู่นี้คือชนิด Bulbophyllum crassipes ฝรั่งเขาพยายามอธิบายลักษณะแล้วตั้ง Common name ไว้ให้ว่า The thick spurred bulbophyllum แปลตรงๆ ก็คือ “สิงโตเดือยหนา”

Web ของ Jay ‘s เขาเล่าว่าเขตการกระจายพันธุ์ในธรรมชาติของกล้วยไม้ชนิดนี้ถูกสำรวจพบกว้างขวางมาก ไล่ตั้งแต่แคว้นอัสซัม ตีนเขาหิมาลัย ภูฐาน เกาะแก่งในทะเลอันดามัน พม่า ไทย ลาว เวียดนาม และพบในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,000 เมตร ซึ่งจริงแล้วที่พบในป่าประเทศไทยคงไม่น่าสูงถึงขนาดนั้น บ้านพี่ที่เล่าให้ฟังนั้นก็ไม่ได้อยู่บนดอย ผมควักเอา GPS มาวัดดูก็แค่ 30 เมตรเท่านั้น สรุปแล้วสิงโตชนิดนี้เอามาเลี้ยงที่ราบได้ไม่มีปัญหา แต่มันต้องการความชื้นในอากาศสูง นี่คือข้อจำกัด

ลักษณะการให้ดอกออกปีละครั้งในช่วงต้นฤดูหนาว ช่อดอกยาว 10-15 เซนติเมตรประกอบไปด้วยดอกย่อยมากมาย ช่อดอกออกป้อมๆ ตรงๆ แทงขนานพื้นโลก จะชี้ฟ้าหรือปักพื้นก็จะทำมุมองศาไม่มาก ส่วนตัวผมเรียกมันว่า “กระบองเพชฌฆาต”
Create Date :04 มกราคม 2553 Last Update :4 มกราคม 2553 18:32:30 น. Counter : Pageviews. Comments :2