bloggang.com mainmenu search
วัดเจ็ดยอด

วัดเจ็ดยอดเป็นวัดที่สร้างเมื่อปี พ.ศ 1998 โดยพระเจ้าติโลกราช ผู้ปกครองล้านนา องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์มังราย วัดนี้เดิมชื่อ "วัดโพธารามมหาวิหาร" ซึ่งมีความหมายว่าวัดต้นมหาโพธิ์ เพราะพระเจ้าติโลกราชทรงให้นำต้นศรีมหาโพธิ จากลังกา มาปลูกที่วัดนี้



ส่วนชื่อวัดเจ็ดยอด ได้มาจากมหาเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยม มียอดเจ็ดยอด ที่พระเจ้าติโลกราชให้ลอกแบบมาจากเจดีย์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย


โดยรอบมหาเจดีย์เจ็ดยอดนี้ ประดับประดาด้วยรูปเหล่าเทพยดา ที่มีเครื่องทรงต่าง ๆ กันไปอย่างวิจิตรบรรจง



เทพยดาเหล่านี้ บ้างก็อยู่ในท่ายืน



บ้างก็อยู่ในท่านั่ง



จะสังเกตเห็นว่า เครื่องทรงของเทพยดาเหล่านี้ไม่ซ้ำกันเลย



น่าเสียดายว่ารูปปูนปั้นเหล่านี้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา.. ถ้ายังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์คงจะงดงามกว่านี้มาก..



วัดเจ็ดยอดนี้มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์อีกอย่างหนึ่ง คือเป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก และถือเป็นครั้งแรกของไทย ในปี พ.ศ. 2020 โดยมีพระเจ้าติโลกราชเป็นผู้ทรงอุปถัมภ์



เมื่อพระเจ้าติโลกราช สวรรคตในปี พ.ศ. 2030 พระเจ้ายอดเชียงราย ซึ่งเป็นราชนัดดา (หลาน) ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อ เป็นกษัตริย์องค์ที่ 10 แห่งราชวงศ์มังราย ได้มีการสร้างสถูปเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของพระเจ้าติโลกราช ตามภาพด้านล่าง



ภาพสถูปเจดีย์พระเจ้าติโลกราชด้านทิศตะวันออก จะเห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเจดีย์ด้วย



โบราณวัตถุที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในวัดเจ็ดยอด ได้แก่พระมหามณฑปที่ประดิษฐานพระแก่นจันทร์แดง มีเหตุการณ์บันทึกว่าในรัชสมัยของพระเมืองแก้ว ผู้ครองเชียงใหม่องค์ที่ 11 ในราชวงค์มังราย ได้มีการอัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก่นจันทร์แดงออกจากวัดบุปผาราม ( สวนดอก ) ไปประดิษฐานไว้ในธรรมเสนาบดีวิหารวัดเจ็ดยอดเมื่อปี พ.ศ. 2068 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่พระเมืองแก้วสวรรคต



ในภาพจะเห็นมณฑปพระแก่นจันทร์แดงอยู่ทางด้านซ้ายมือ มีพระสถูปเจดีย์ของพระเจ้าติโลกราชอยู่ทางขวามือ ส่วนตรงกลางจะเห็นมหาเจดีย์เจ็ดยอดอยู่ไกลออกไป



ภาพวิหารหลังใหม่ของวัดเจ็ดยอด ด้านหน้าเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ดูร่มรื่น..



ภาพพระประธานในวิหารหลังใหม่..



ประตูด้านหลังของวิหารหลังใหม่ เมื่อเปิดออก จะเห็นพระมหาเจดีย์เจ็ดยอดอยู่ด้านหลัง...



จริง ๆ แล้วยังมีสถานที่สำคัญ ๆ ภายในวัดเจ็ดยอดอีกมากมาย เช่น "สัตตมหาสถาน" ที่จำลองสถานที่สำคัญ 7 แห่งในพุทธประวัติ แต่เนื่องจากความรีบร้อนกลัวฝนจะตกเลยไม่ได้เก็บภาพมา..

สุดท้ายแล้ว..ขอปิดท้ายด้วยรูปน้องหมาที่อยู่หน้าวิหารหลังใหม่ กำลังเมียงมองมาอย่างสงสัย ว่าตาลุงคนนี้มาเดินท่อม ๆ อยู่ในวัดคนเดียวทำไม.. สวัสดีครับ

Create Date :30 มิถุนายน 2551 Last Update :30 มิถุนายน 2551 16:20:53 น. Counter : Pageviews. Comments :5