bloggang.com mainmenu search
เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาได้กลับไปเยี่ยมเยือนเมืองพิษณุโลกบ้านเกิด มีโอกาสได้แวะไปดูพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี อีกครั้งหนึ่ง หลังจากไม่ได้แวะไปเสียนาน ได้เห็นพัฒนาการจากเดิมที่จ่าทวีได้ใช้ที่ดินฝั่งตรงข้ามกับโรงหล่อพระบูรณะไทย สร้างเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้ขึ้นด้วยความมีใจรักในศิลปะและเห็นในคุณค่าของใช้พื้นบ้าน จนกระทั้งวันนี้กลายเป็นอาคารที่ใหญ่โต มีการจัดสิ่งของต่างๆ ไว้เป็นหมวดหมู่พร้อมคำบรรยายเรื่องราวถึงความเป็นมาของสิ่งนั้นๆ




พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี บูรณเขตต์ ตั้งอยู่ที่ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ในตัวเมืองพิษณุโลก เป็นที่เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน ซึ่งเป็นเครื่องมือทำมาหากินของชาวบ้านในอดีต ตั้งแต่ชิ้นเล็ก ๆ จนถึงชิ้นใหญ่ เช่น เครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น เครื่องสีข้าว เครื่องมือในการประกอบอาชีพ ของเด็กเล่น ดักจับสัตว์ และอื่นๆ อีกมากมาย สิ่งของเหล่านี้รวมกันแล้วนับหมื่นชิ้น จนได้รับการยอมรับว่าเป็นขุมทรัพย์ทางประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาไทย และได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ประเภทหน่วยงานส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๑



จ่าทวี กำลังสาธิตการใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น เครื่องมือดักสัตว์ ใช้ใบไม้มาเป่าเลียนเสียงสัตว์ต่างๆ และของใช้พื้นบ้าน ซึ่งของบางอย่างเราก็ลืมเลือนไปแล้ว


ด้วยความมีใจรักในศิลปะและมองเห็นในคุณค่าของใช้พื้นบ้าน ลุงจ่าหรือจ่าทวีเริ่มซื้อหา สะสมและรวบรวมของใช้พื้นบ้านที่คนทั่วไปมองว่าเป็นของรกของทิ้ง ไม่มีราคาเช่น โอ่ง สุ่ม ไห ไซ ฯลฯ โดยสะสมมานานกว่า 30 ปี จนนำไปสู่การเกิด "พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี" ในปี พ.ศ. 2526 ข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน ส่วนใหญ่ลุงจ่าได้มาจากพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพิษณุโลก ของบางอย่างลุงจ่าต้องดั้นด้นเข้าไปหาเองในป่า ไม่มีราคาค่างวด แต่มีคุณค่า เป็นการเรียนรู้ ชีวิต ความเชื่อ ความคิดของคนในอดีตจากข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้




บรรยากาศร่มรื่น มีพรรณไม้ดอก ชนิดต่างๆ ปลูกประดับไว้รอบๆ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน




ร้านขายของที่ระลึก มีสินค้าต่างๆ ให้เลือกซื้อเลือกชม

เดินเข้าไปในบริเวณพิพิธภัณฑ์จะพบกับบรรยากาศร่มรื่น มีพรรณไม้ต่างๆ ปลูกเรียงรายอยู่โดยรอบ มีร้านขายของที่ระลึก สินค้าพื้นเมือง และหนังสือต่างๆ เช่น ลูกสาวพิพิธภัณฑ์ บันทึกชาวทุ่ง ซึ่งคุณ พรศิริ บูรณเขตต์ ทายาทที่รับช่วงดูแลพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นผู้เขียนเอง เพื่อนำรายได้มาเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลพิพิธภัณฑ์ โดยเจ้าตัวนอกจากทำหน้าที่นำชมพิพิธภัณฑ์ เขียนงานด้านวิชาการ ยังใช้เวลาว่างที่เหลือ ออกแบบสินค้าทุกชิ้นด้วยตนเอง แล้วจ้างให้ชาวบ้านในพื้นที่ช่วยกันผลิตขึ้นมาวางจำหน่ายตั้งแต่ราคาชิ้นละ 5 บาท 10 บาท ไปจนถึงชิ้นละ 200 กว่าบาท เช่น โคมไฟทำจากกะลามะพร้าว ฯลฯ ซึ่งรายได้เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ช่วยพยุงให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีชีวิตยืนยาวต่อไปได้




อาคารหลังที่สอง จัดเป็นห้องประวัติของ จ.ส.อ.ทวี บูรณเขตต์ จ่าทวีเป็นชาวจังหวัดพิษณุโลก เป็นบุตรชายคนที่ ๒ ของนายทิว บูรณะเขตต์ มีพี่น้องทั้งหมด ๑๒ คน สมรสกับนางพิมพ์ พันธุ์เสน มีบุตร ธิดารวม ๖ คน ในวัยเด็กมีโอกาสเรียนรู้งานช่างศิลป์หลายอย่างจากบิดา เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ จากโรงเรียนผดุงราษฎร์แล้วไม่ได้เรียนต่อเพราะฐานะทางบ้านยากจน จึงเริ่มทำงานรับจ้างเขียนป้าย เขียนภาพ และงานศิลปะต่าง ๆ ทำให้เชี่ยวชาญงานด้านนี้มากยิ่งขึ้น ต่อมาได้รับราชการทหาร มียศสิบตรีและในพุทธศักราช๒๕๐๑ ได้มีโอกาสไปฝึกงานด้านหล่อโลหะ ที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ได้เป็นศิษย์ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จากนั้นได้ตั้งโรงงานหล่อพระ โดยปั้นรูปเหมือนของหลวงพ่อพุทธชินราชเป็นองค์แรก และเนื่องจากต้องซื้อของใช้โบราณมาเป็นวัสดุมาใช้หล่อพระ จึงเริ่มสนใจเก็บสะสมโบราณ วัตถุเรื่อยมา




จ.ส.อ.ดร.ทวี บูรณเขตต์ ได้รับยกย่องให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ.๒๕๒๖ และปี พ.ศ.๒๕๒๗ ได้รับพระราชทานปริญญาคุรุศาสตร์บัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขาศิลปศึกษา ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศิลปะ และได้รับเครื่องหมายประกาศเกียรติคุณสาขาต่าง ๆ อีกมากมาย ผลงานที่สำคัญของท่าน เช่น รูปปั้นและหล่ออนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประทับยืนอยู่ที่ค่าย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และที่โรงพยาบาลสมเด็จพระนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก หลักศิลาจารึกและพระปรมาภิไธย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
รูปเหมือนของพระพุทธชินราช ภปร. สร้างขึ้นเพื่อหาทุนจัดตั้งมูลนิธิ "เย็นศิระภิบาล" และ ก่อตั้งโรงงานหล่อพระบูรณไทยที่บ้านเลขที่ ๒๖/๔๓ ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งทำให้ชาวพิษณุโลกมีงานทำมากกว่าร้อยคน ห้องที่สองแสดงประวัติเมืองพิษณุโลก มีเรื่องราวประวัติความเป็นมาของเมืองสองแคว รูปภาพโบราณ ประวัติบุคคลสำคัญของเมืองพิษณุโลก เครื่องยาและการปรุงยา โอ่ง ไห สมัยเก่ามากมาย




มาถึงอาคารหลังที่สาม บริเวณชั้นล่างจัดแสดงเครื่องใช้พื้นบ้านประเภาทต่างๆ ห้องเรือนไทย มีสิ่งของมากมาย เช่น หม้อ ไห กะบุง ตะกร้า ซึ่งปัจจุบันแทบไม่มีใช้ในครัวเรือนแล้ว กระต่ายขูดมะพร้าวแบบต่างๆ นับร้อยแบบ ซึ่งในสมัยก่อนเวลาจะแกงแต่ละทีต้องเอามะพร้าวมาขูดแล้วจึงนำ เนื้อมะพร้าวมาคั้นเอาน้ำกะทิ กว่าจะได้ออกมาเป็นน้ำกะทิก็เหนื่อยกันพักใหญ่ เครื่องทอผ้า เครื่องดักสัตว์แบบต่างๆ ตั้งแต่ชิ้นเล็กๆ ที่ใช้ดักหนู เม่น
ลิง จนกระทั้งชิ้นใหญ่ซึ่งสามารถดักเสือ หรือปลาชะโดตัวใหญ่ได้ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยบรรยายและสาธิตการใช้เครื่องมือประเภทต่างๆ ให้ดูด้วย ห้องถัดมาเป็นเครื่องสีข้าวแบบต่างๆ ส่วนให้จะใช้แรงคน เช่น ครกตำข้าว เครื่องสีข้าวแบบหมุนด้วยมือ เครื่องหีบอ้อยโดยใช้ วัว ควายเป็นตัวฉุดให้เครื่องทำงานได้ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนที่น่าทึ่ง เครื่องชั่ง ตวง วัด เกวียนแบบต่างๆ ทั้งคันเล็กๆ และคันใหญ่ขนาดขนข้าวเปลือกได้ครั้งละหลายเกวียน




เดินขึ้นบันไดมาชั้นบน จะพบกับของเด็กเล่นประเภทต่างๆ ในสมัยก่อนตอนเป็นเด็ก ของเล่นเหล่านี้ก็ยังคุ้นมืออยู่ เช่น รถเข็น รถหลอดด้าย อีโก๊ะ ตุ๊กตาต่อยมวย ว่าวแบบต่างๆ มีภาพประกอบพร้อมคำบรรยายวิธีการเล่น ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่จะสนใจมุมเด็กเล่นกันมาก เด็กๆ ก็ได้รู้จักของเล่นโบราณ ผู้ใหญ่ก็ได้รำลึกถึงคืนวันเก่าๆ ที่เคยได้เล่นของเล่นเหล่านี้




ห้องถัดไปจะเป็นการจัดแสดงของใช้ทั่วไป เช่น ตะเกียงน้ำมัน เตารีดผ้าแบบใช้ถ่านหุงข้าว อาวุธโบราณ พระพุทธรูปปางต่างๆ เรือนไทยจำลองชีวิตความเป็นอยู่ เช่น การดูแลเด็กหลังจากการคลอดลูก เครื่องมือแพทย์แผนโบราณ เครื่องนวด ไม้หมอนวด เครื่องดนตรีมงคละ เป็นดนตรีพื้นบ้านของจังหวัดพิษณุโลกมาช้านานแล้ว ดังปรากฏหลักฐานจากวรรณกรรม บทพระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยานิศรานุวัติวงศ์ เรื่องจดหมายเหตุระยะทางเสด็จพิษณุโลก รับสั่งเล่าว่าขณะเรือพระที่นั่งผ่านวัดสกัดน้ำมัน เมืองพิษณุโลก นั้น ได้ยินเสียงกลองมังคละ จึงรับสั่งถามและโปรดให้มาเล่นถวาย นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือ เครื่องใช้ที่จัดแสดงอยู่อีกมากมาย




พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีแห่งนี้นับว่าเป็นรากเหง้าและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ สำหรับให้ลูกหลานเราได้ศึกษาเรียนรู้ โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายสิบปี คุณลุงจ่าต้องทุ่มเทแรงกาย แรงทรัพย์ เพื่อที่จะรักษาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไว้ให้เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ประวัติและที่มาของคนไทยให้กับเด็กยุคใหม่ ในขณะที่นอกประตูรั้วพิพิธภัณฑ์ กระแสวัฒนธรรมตะวันตกเเข้ามาเคาะถึงประตูรั้วของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะมีลมหายใจยืนยาวไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานภายใต้การดูแลของ "จ่าทวี" และทายาท ที่มีใจรักในการทำสิ่งเหล่านี้หรือไม่ ก็อยู่ที่พวกเราหันกลับมาดูพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของไทยเรากันบ้าง เพื่อเป็นการรักษาสิ่งดีดีเหล่านี้เอาไว้ให้ยั่งยืนเท่าที่จะทำได้ ก่อนที่รากเหง้าของคนไทยจะล้มหายตายจากไปหมด

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ โดยเก็บค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท ภิกษุ สามเณร ไม่เสียค่าเข้าชม ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. โทร. 0 55 21 2749, 0 55 30 1668
ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ เป็นโรงหล่อพระบูรณะไทย ติดต่อเข้าชมการหล่อพระล่วงหน้า โทร. 05525 8715


Create Date :21 ตุลาคม 2552 Last Update :13 พฤศจิกายน 2552 12:06:15 น. Counter : Pageviews. Comments :28