bloggang.com mainmenu search


... เทียนหยด ...

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Duranta repens L : Duranta erecta L

ชื่อวงศ์ : VERBENACEAE

ชื่อสามัญ : Sky flower; Golden dew drop; Pigeon berry; Duranta

ชื่อพื้นเมือง : ฟองสมุทร พวงม่วง เทียนไข(กรุงเทพฯ) สาวบ่อลด(เชียงใหม่) เครือออน(แพร่) เอี่ยฉึ่ง(จีน)

ถิ่นกำเนิด : อเมริกาเขตร้อน

ชนิดพืชและขนาด : ไม้พุ่ม รูปทรงไม่แน่นอน ลำต้นสูงได้ 1-3 เมตร กิ่งมีลักษณะลู่ลง

สีดอก : สีม่วงอ่อน ขาว ออกดอกได้ตลอดทั้งปี แต่จะมีมากในช่วงฤดูฝน

ขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ดหรือปักชำกิ่ง เติบโตได้ดีในดินร่วนซุยปนทราย ระบายน้ำดี มีแสงแดดเต็มวัน ...



... ลักษณะทั่วไปของต้นเทียนหยด ...

" ต้นเทียนหยด " จัดเป็นพรรณไม้พุ่ม แตกกิ่งก้านสาขามากมายรอบลำต้น ตั้งแต่โคนต้นถึงยอด ลำต้นสีน้ำตาล ลักษณะรูปทรงของพุ่มไม่แน่นอน

ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 1-3 เมตร กิ่งมีลักษณะลู่ลง ตามกิ่งอาจมีหนามบ้างเล็กน้อย เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ตัดแต่งรูปทรงตามต้องการได้ ...

ใบเทียนหยด ... ใบของเทียนหยดเป็นใบเดี่ยว ใบออกเรียงสลับตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆไปตามกิ่งก้าน

ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลมหรือมนแต่จะสั้น โคนใบสอบหรือเรียวยาวไปจนถึงก้านใบ

ส่วนขอบใบเป็นจักรเป็นฟันเลื่อยห่างๆกันไปเล็กน้อย ใบกว้างประมาณ 3-3.5ซม. และยาวประมาณ 5-6 ซม.

แผ่นใบเป็นสีเขียว ก้านใบสั้น ออกใบดกเต็มต้น ใบเป็นพุ่มหนา ...

.. ดอกเทียนหยด ... ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบและส่วนยอดของลำต้น ช่อดอก

จะห้อยลง ยาวประมาณ 5-10 ซม. ประกอบกับมีดอกขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกย่อยเมื่อบานเต็ม

ที่จะมี ขนาดกว้าง ประมาณ 1-1.5 ซม. โดยดอกจะทยอยบานครั้งละ 5-6 ดอก โคนกลีบดอก

เชื่อมติดกันเป็นหลอด ส่วนปลายแยกเป็น5กลีบขนาดไม่เท่ากัน สีม่วงหรือสีขาว กลีบเลี้ยงสีเขียว

เชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น5ริ้ว ออกดอกตลอดปี ดอกดกในช่วงฤดูฝน ดอกมีสีขาวและม่วง




ผลเทียนหยด ออกผลเป็นพวงหรือช่อห้อยลง ผลมีขนาดเล็กและและมีจำนวนมาก ลักษณะของผลเป็นรูปกลมรี

มีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเป็นมันสดใส และยังมีกลีบเลี้ยงติดอยู่



ที่ได้ชื่อเทียนหยด คาดว่าน่าจะเป็นเพราะ เมื่อผลแก่ ผิวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้มค่อนไปทางสีส้ม ผลเป็นมันเงาสดใส คล้ายเทียนหยดลงมา

และมักจะติดผลแบบนี้นานนับเดือน จึงเป็นจุดเด่นของไม้ประดับชนิดนี้ ที่ทำให้จดจำได้ง่ายกับผลสีเหลืองส้มของเทียนหยด


... พิษของเทียนหยด ...

ส่วนที่เป็นพิษ : ใบ ผล และเมล็ด โดยในใบพบกรดไฮโดรไซยานิค (hydrocyanic acid, HCN) หรือไซยาไนด์
ส่วนในผลเทียนหยดพบสารในกลุ่มซาโปนินที่เป็นพิษ ได้แก่ duratoside IV, duratoside V
หากรับประทานเข้าไปแล้วเคี้ยว อาจทำให้เสียชีวิตได้ (แต่ถ้าไม่เคี้ยว ก็จะไม่ก่อให้เกิดอันตราย)

อาการเป็นพิษ : ผู้ป่วยที่รับประทานใบเทียนหยดในปริมาณมาก สาร hydrocyanic acid
จะทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจนได้ จนทำให้มีอาการตัวเขียว และอาจถึงกับเสียชีวิตได้ แต่ถ้ารับประทาน
ในปริมาณน้อย ก็อาจจะมีอาการอาเจียนและท้องเสียได้ ส่วนผู้ป่วยที่รับประทานผลเทียนหยด จะมีอาการ
คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ลำไส้อักเสบ ปวดศีรษะ ส่วนในรายที่เกิดอาการเป็นพิษรุนแรง
เนื้อเยื่อที่อยู่ลึก ๆ อาจถูกทำลายเม็ดเลือดแดงอาจแตกได้ ในกรณีที่มีการดูดซึมของสารพิษ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง
กระหายน้ำ หน้าแดง จิตใจมีความกังวล ตาพร่า และม่านตาขยาย พิษที่รุนแรง ทำให้กล้ามเนื้อไม่มีแรง
การประสานงานของกล้ามเนื้อไม่ดี สุดท้ายการไหลเวียนของเลือดไม่สม่ำเสมอ ชัก และเสียชีวิตในที่สุด

การรักษา : ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล เบื้องต้นควรทำให้พิษลดลงโดยการทำให้อาเจียน และให้สารหล่อลื่น
เช่น นมหรือไข่ขาว ถ้าอาเจียนรุนแรง มีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากต้องให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด ...



... ประโยชน์ของเทียนหยด

ผลแก่จัดของเทียนหยดมีสารแอลคาลอยด์ จำพวก NARCOTINE ซึ่งหากนำไปหมักกับน้ำในอัตราส่วน1ต่อ100

จะได้สารละลายใช้ฆ่าลูกน้ำในบ่อ หรือที่น้ำขังได้ แต่หลักๆใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป หรือปลูกไว้เป็นแนวรั้วบัง

ปลูกง่ายและดูแลรักษาง่าย ไม่มีโรคและแมลงศัตรูพืชเข้ามาทำลาย สามารถตัดแต่งเป็นรูปทรงต่างๆได้ตามต้องการ

ไม่ควรปลูกใกล้สนามเด็กเล่น เพราะผลและใบมีพิษ เด็กอาจเก็บมากินได้ ใช้ปลูกเป็นแนวรั้วป้องกันสัตว์กินพืชได้ดี

นอกจากเทียนหยดไทยแล้ว ยังมีเทียนหยดญี่ปุ่นซึ่งมีลักษณะทั่วไปไม่แตกต่างกัน ต่างกันแค่สีของดอกเท่านั้นเอง

Create Date :28 มกราคม 2559 Last Update :30 มกราคม 2559 12:55:36 น. Counter : 27704 Pageviews. Comments :39