bloggang.com mainmenu search
ไม่รู้จะมีคนเข้าใจผิดกับบล๊อกดูนกเมื่อวานก่อนของผมรึเปล่านะครับ แต่ที่ผมเขียนลงท้ายนะ เป็นเรื่องส่วนตัวของผม ไม่เกี่ยวกับใครอื่นเลย... มันเป็นการระบายอารมณ์รายวันของผมนะครับ อย่าคิดมาก บางวันปาก Dog บางวันโรแมนต์ ผีเข้าผีออกแบบนี้เองละครับผมนะ



ช่วงนี้ไม้อีกชนิดหนึ่งที่กำลังเบ่งบานรับลมหนาวกันทั้งบ้านทั้งเมืองคงหนีไม่พ้นไม้ดอกชนิดนี้นะครับ "หอมเจ็ดชั้น"



ไม้หอมวงศ์เข็ม/พุด (Rubiaceae) ชนิดนี้ หอมรุนแรง หอมไกล ด้วยกลิ่มหอมน่าทาน แบบคูก้ารสนมผสมขนมดอกลำดวนนะครับ ความหอมระดับหอมเจ็ดชั้น ไม่ต้องเอาจมูกไปจ่อนะครับ แค่เดินเฉียดๆก็โชยมาแล้ว แต่ทั้งนี้ดอกจะต้องบานได้จำนวนหนึ่งด้วยนะครับ ถ้าบานอยู่ช่อเดียว คงไม่หอมฟุ้ง



ดอกของหอมเจ็ดชั้น จะบานพร้อมๆกันแทบทั้งต้น บานได้ปีละหลายรอบครับ แต่ละรอบการบาน จะบานพร้อมๆกับต้นอื่นๆ



จำนวนช่อดอกต่อการบานหนึ่งครั้งนั้น ขึ้นกับความสมบูรณ์ของต้น ถ้าต้นที่สมบูรณ์จะให้ดอกเต็มต้นหอมฟุ้งเชียวละครับ



การเลี้ยงให้ต้นสมบูรณ์นั้น ก็ต้องน้ำถึง แดดถึงครับ หอมเจ็ดชั้นชอบแดดจัดๆ แต่ก็ขาดน้ำไม่ได้



การเจริญเติบโตของหอมเจ็ดชั้น จะสูงได้ถึง 4 เมตรเลยนะครับ แต่ก็ตัดแต่งเป็นพุ่มสักเมตรกว่าๆได้เช่นกัน



ดอกเมื่อแรกบานจะมีสีขาว จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองภายใน 2 วัน และสีเหลืองจะเข้มขึ้นจนเป็นสีส้ม และโรยไปในที่สุด จากนั้นจะติดเมล็ดคล้ายๆผลของเข็มทั้วไปแต่จะแข็งกว่า หากอยากให้แตกดอกใหม่เร็วๆ ให้ตัดยอดที่ติดดอกทิ้งหลังให้ดอกนะครับ ไม่ต้องรอให้ปลายกิ่งนั้นฝ่อแห้งเอง



การขยายพันธุ์หอมเจ็ดชั้นนั้น นิยมตอนกิ่ง แต่ก็มีปัญหาบ้าง เพราะรากที่ออกมานั้นจะเป็นรากฝอยๆที่ไม่ค่อยแข็งแรง ฉะนั้นไม่ควรตอนกิ่งให้ยาวเกินไป จะทำให้รากไม่สามารถหาอาหารเลี้ยงต้นได้หลังจากนำกิ่งไปชำ นอกจากนี้ยังเพาะเมล็ดได้อีกด้วย แต่ว่าอัตรการงอกไม่มากนักนะครับ



หอมเจ็ดชั้นเมื่อแรกนำเข้ามาขายในเมืองไทย มีราคาแพงมากๆ แต่ตอนนี้ถูกมากๆแล้วครับ เป็นธรรมดาครับ ไม้่ที่ได้รับความนิยม ถ้าขยายพันธุ์ไม่ยาก ไม่นานราคาก็จะตกครับ ตอนนี้หอมเจ็ดชั้นจึงกลายเป็นไม้สามัญประจำบ้านใครหลายคนไปแล้ว เพราะว่าเลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่ไม่มาก ตัดแต่งได้ ดอกดก ดอกหอม และราคาไม่แพง



สำหรับที่มาของชื่อหอมเจ็ดชั้นนั้น ฟังดูแรกๆผมก็คิดว่าเพราะมันหอมไปถึงสวรรค์ชั้น 7 หรือดมแล้วสุขเหมือนขึ้นสวรรค์ยังงั้นรึเปล่า แต่ผู้รู้ท่านหนึ่งบอกผมว่า เพราะต้นไม้ชนิดนนี้ จะแตกกิ่งเป็นชั้นๆๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อออกดอกจะออกดอกที่ปลายกิ่ง ออกพร้อมกันทั้งต้น หากต้นสมบูรณ์และใหญ่พอ จะออกดอกเป็นชั้นๆ ตามชั้นของกิ่ง มักนับได้ประมาณ 7 ชั้น จึงเรียกว่า "หอมเจ็ดชั้น"



ชื่อหอมเจ็ดชั้นเป็นชื่อการค้าแน่นอน แต่ชื่อจริงๆของเค้าคืออะไรนั้น เป็นคำถามที่เป็นปริศนา และชวนสับสนจริงๆ



เรามาลองค้นชื่อของหอมเจ็ดชั้นไปพร้อมๆกันนะครับ ว่าเขาชื่อว่าอะไรแน่ๆ ก่อนอื่น เรามาลองดูชื่อของเขาดูสักนิด จากชื่อ "หอมเจ็ดชั้น" เรานำไปค้นใน google จะพบว่าข้อมูลส่วนใหญ่จะใช้ชื่อว่า Tarenna wallichii หรือ จันทนาใบเล็ก หรือ ยาโรง หรือ เข็มป่า //www.magnoliathailand.com/webboard/index.php?topic=612.0 จะเห็นว่าข้อมูลที่ได้นั้น มีชื่อไทยอยู่หลายชื่อ แสดงว่าน่าจะเป็นไม้พื้นถิ่นของไทย และการมีหลายชื่อ แสดงว่ามีการกระจายพันธุ์ในหลายท้องถิ่น ที่เราต้องคิดตามเพราะว่า ข้อมูลในเน็ต ไม่ได้เชื่อถือได้ทั้งหมด ถ้าเราไม่เช็กให้แน่ชัด ข้อมูลก็อาจจะผิดพลาดได้

จากหลายเหตุผลจะพบว่าข้อมูลนั้นขัดกัน เพราะหากมีการกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไป ราคาไม่น่าจะแพงมาก แต่ตอนที่หอมเจ็ดชั้นเช้ามาใหม่ๆ ราคานั้นแพงมากๆ แถมหอมเจ็ดชั้นนั้นหน้าตาเหมือนกันหมด มิได้แตกต่างกันเลย ผิดวิสัยไม้พื้นฐิ่นที่มีการกระจายตัวในธรรมชาติของไทย ซึ่งน่าจะมีรูปลักษณ์ที่หลากหลาย ไม้ชนิดนี้ จึงไม่น่าจะเป็นไม้พื้นฐิ่นของไทย ควรจะเป็นไม้นำเข้า และหากค้นจากชื่อ จันทนาใบเล็ก ไปเรื่อยๆจะพบข้อมูลว่า ผู้ริเริ่มว่าหอมเจ็ดชั้น น่าจะเป็น จันทนาใบเล็ก นั้นก็เพียงแค่สันนิฐานเท่านั้น



งั้นมาทำตัวเป็นนักสืบกันนะครับ หากชื่อนี้อาจไม่ถูกต้อง อาจจะเป็นชื่ออื่นๆ แล้วเราจะค้นต่อได้อย่างไร หากชื่อนี้ไม่ใช่ ก็หน้าจะเป็นไม้ที่หน้าตาเหมือนไม้ที่เข้าใจผิดว่าใช่นั้นเอง อย่างนั้นเรามาค้นกันต่อนะครับ จากชื่อ Tarenna wallichii ซึ่งชื่อคำหน้านั้นเป็นชื่อ สกุล หรือ Genus ของพืชครับ งั้นเรามาค้นที่ชื่อสกุล Tarenna หรือสกุลจันทนา กันครับ

ค้นไปค้นมาเจอเว็บดังเว็บนี้เข้าให้ //toptropicals.com/catalog/uid/rothmannia_winittii.htm รูปดอกนั้นใช่เลย เว็บดังเว็บนี้ดันให้ชื่อว่า Rothmannia wittii ( winittii ) เอ...จะใช่รึเปล่านะครับ ยังไม่เชื่อครับ ค้นต่อ... ค้นไปค้นมาเจอเว็บทางเภสัชกรรมมากมายบอกว่า Rothmannia wittii ( winittii ) คือต้นหมักม่อนี่เองครับ เว็บทางเภสัชเชื่อถือได้มากนะครับ เพราะการนำพืชไปทำยา ต้องแม่นยำมากๆในการระบุชื่อพืช ( Rothmannia เป็นพุดพวกหมักม่อ พุดโกเมน พุดลิลลี่ )



งั้นค้นกันต่อด้วยสกุล Tarenna ค้นจนเมื่อย เจอเว็บนี้เข้า //floraweb.nparks.gov.sg/search/viewDetail.action?pgId=4532234454211080&key=0 และต่อด้วยเว็บนี้ //www.sbg.org.sg/publications/34.pdf ให้ชื่อว่า Tarenna odorata มันใช่รึเปล่านะ เอาว่าเข้าเค้านะครับ ยังไม่มีข้อมูลอื่นมาค้าน

ส่วนว่ามันเป็น จันทนาใบเล็ก ตามที่เข้าใจกันหรือไม่ น้องผมที่เป็นเภสัชกรยืนยันว่าไม่ใช่ และเอารูปที่ใกล้เคียงกับ จันทนาใบเล็ก ในให้ดูว่าหน้าตาประมาณรูปข้างล่างนี้นะครับ



ผมเองก็เคยเห็นจันทนามาก่อน ถ้าถามว่าหอมเจ็ดชั้นใบเล็กไหม ถ้าเทียบกับจันทนา ก็บอกได้ว่าไม่เล็กเท่าไร คำว่าใบเล็กจึงน่าจะออกมาแบบที่น้องเอาภาพใกล้เคียงมาให้ดู ที่สำคัญผมเคยเห็นต้นไม้ที่เรียกว่าเข็มป่าที่ด่านซ้ายมาแล้ว หน้าตาไม่ใช่หอมเจ็ดชั้นแน่ๆ เอาว่าผมไม่เชื่อแบบคนอื่นที่ว่าเป็น จันทนาใบเล็ก นะครับ เพราะดอกหอมเจ็ดชั้นนั้น แตกต่างจากจันทนามากๆ ไม่น่าจะมีชื่อผูกกันขนาดนั้นเลย เอาว่าผมคาเอาไว้ที่ชื่อ Tarenna odorata แล้วกันครับ ไม่ยืนยัน แต่ใกล้เคียง แฮะๆ

วันนี้มาแนวนักสืบ แฮะๆ ก็แบบนี้ละครับ ข้อมูลจากเน็ตมันเชื่อถือไม่ได้ แม้แต่กูรูด้านนั้นๆ ก็มั่วข้อมูลมากันนักต่อนักแล้ว ผมก็เคยมั่วมาแล้ว แล้วก็หน้าแหกเพราะไม่เช็กให้ดีซะก่อน อย่าไปยึดติดเลยครับ ว่าข้อมูลจากคนเก่ง คนดังจะเชื่อถือได้ทั้งหมด ใช้เหตุผล และมีสติเป็นดีที่สุดครับ รับรู้อะไรมาก็สืบๆดูบ้าง ไม่งั้นก็จะเหมือนคนเสื้อเหลือง ที่ศาสดาเจ้าลัทธิของเขา เอา ดร. ดังๆมาพูดเข้าหน่อย ก็เชื่อกันหมด ไม่เช็กข้อมูล ไม่ใช้เหตุผลทบทวนเลย สุดท้ายก็ไปบ้ายึดทำเนียบยึดสนามบิน จนใครๆก็ให้ฉายาสาวกลัทธินี้ว่า "เหล่าผู้บริโภคหญ้า" ตอนนี้ก็ไปบ้าตีกับเขมรให้บ้านเมืองพินาศอีก พวกนายทหารที่อยู่หลังฉาก ก็รับทรัพย์กันไปกับงบประมาณในการป้องกันประเทศ ช่างเป็นความโง่ที่ไม่บรรยะบรรยังจริงๆครับ ไว้อาลัยให้กับความล่มจมของชาติไทย ด้วยผีมือของเหล่าผู้รักชาติด้วยหัวใจ แต่ไม่มีหัวสมองหน่อยครับ

Create Date :14 พฤศจิกายน 2552 Last Update :7 ธันวาคม 2552 19:08:27 น. Counter : Pageviews. Comments :32