bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดดอยงำเมือง เชียงราย, เชียงราย Thailand
พิกัด GPS : 19° 54' 44.81" N 99° 49' 30.02" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม






 
ที่พัก  สถานที่ท่องเที่ยว  และร้านอาหารในซีรี่ย์นี้จะเป็น  ที่พัก  สถานที่ท่องเที่ยว  และร้านอาหาร  จากทริปเชียงรายเมื่อเดือนที่แล้วนะครับ  จริงๆแล้วร้านอาหารจากทริปเขาใหญ่ยังไม่หมดนะครับ  แล้วยังต่อด้วยทริปหัวหินอีก  แต่ที่เอาทริปเชียงรายมาคั่นก็เพราะว่าช่วงนี้เป็นหน้าหนาว  (น้อย)  คนนิยมขึ้นเหนือกันมาก  เลยเอาที่พัก สถานที่ท่องเที่ยวและร้านอาหารมาโพสซะก่อน  เผื่อว่าจะเป็นแนวทางให้คนที่จะวางแผนไปเที่ยวเชียงรายไม่มากก็น้อยครับ
 
 
 




วัดดอยงำเมือง  อ.เมือง  เชียงราย
 
 



 

วัดงำเมือง  ตั้งอยู่บน  ถนนอาจอำนวย บ้านฮ่อมดอย (ชุมชนราชเดชดำรง) หมู่ที่1 ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย  (อยู่ด้านหลังวัดพระแก้ว)  เจ้าของบล็อกใช้เส้นทางถนนไตรรัตน์  เข้าซอยเล็กๆข้างวัดพระแก้ว  ขับขึ้นเนินเตี้ยๆไปเรื่อยๆวัดจะอยู่ทางขวามือตรงสี่แยก  ข้างๆบันไดนาคมีทางให้รถขึ้นไปถึงตัววัดได้ครับ
 
 
 

วัดงำเมือง  หรือ  วัดดอยงำเมือง  เป็นวัด  (เขาเล่ากันว่า)  ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดเชียงราย  เดิมชื่อ  วัดงามเมือง  เป็นวัดโบราณที่ไม่ปรากฏประวัติการสร้าง  ตั้งอยู่บนดอยงำเมือง  ต่อมากลายเป็นวัดร้างในช่วงยุคฟื้นฟูเมืองเชียงราย
 

 
เรามาทราบประวัติที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นลายลักษณ๋อักษรก่อนนะครับ
 
 



 
หลังจากที่
วัดงามเมืองกลายเป็นวัดร้างมานาน สิ่งปลูกสร้างต่างๆภายในวัดจึงได้พัง  ชำรุด  เสียหาย  ในเดือนเมษายน  พ.ศ. 2435  มีการสร้างวิหารวัดงามเมืองซึ่งมีรูปแบบและสถาปัตยกรรมคล้ายกับวิหารของวัดพระแก้วและวัดพระสิงห์  สันนิษฐานว่าช่างผู้ออกแบบและก่อสร้างคือช่างคณะเดียวกัน
 


ต่อมา พ.ศ. 2445 ได้สร้างพระเจ้าหลวง  เป็นพระประธานในวิหาร
 
 


พ.ศ. 2488  พระวีรญาณมุนี  (หมื่น สุมโน)  เจ้าคณะจังหวัดเชียงรายในขณะนั้น  มอบหมายให้พระครูธรรมวงศ์วิวัฒน์  เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง  เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงราย  อัญเชิญพระเจ้าล้านทองจากวัดล้านทอง (วัดแสนทอง)  ซึ่งเป็นวัดร้าง  (ปัจจุบันคือโรงเรียนอนุบาลเชียงราย)  ไปประดิษฐานที่
วัดงามเมือง  ต่อมาเมื่อวัดงามเมืองร้างลงอีกครั้ง  ศรัทธาสาธุชนจึงได้ขึ้นไปทำหลังคาคลุมพระเจ้าหลวงและพระเจ้าล้านทอง
 


พ.ศ. 2495 พระวีรญาณมุนี  (หมื่น สุมโน)  ได้มอบหมายให้พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์  เจ้าอาวาสวัดพระแก้วในขณะนั้น  ทำการฟื้นฟูบูรณปฏิสังขรณ์
วัดงามเมืองขึ้นใหม่


 
พ.ศ. 2504  พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์  (วงศ์ ทานวํโส)  เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงรายขณะนั้น  ได้ทำการย้ายพระเจ้าล้านทองจากวัดงามเมืองมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดพระแก้วจนถึงปัจจุบัน


 
พ.ศ. 2536 วัดงามเมืองถูกเปลี่ยนชื่อเป็น
วัดงำเมือง หรือวัดดอยงำเมือง จนถึงปัจจุบัน


 
 
ส่วนประวัติตามตำนานที่เล่าสืบกันมาว่า .....
 

 

วัดงำเมือง  สร้างขึ้นเมื่อ  พ.ศ.1860 โดยพญาไชยสงคราม  โอรสองค์หนึ่งของพญามังราย  ได้รับการบูรณปฎิสังขรณ์เรื่อยมา  พระยาสรีรัชฏเงินกอง (หมื่นงั่ว)  เจ้าเมืองเชียงแสนมาบูรณะวัดในปี  พ.ศ. 2030 และเจ้าฟ้ายอดงำเมือง  เจ้าฟ้าเมืองเชียงแสนมาบูรณะอีกครั้งในปี  พ.ศ. 2220
 

 
หลังจากที่พญามังรายได้สวรรคตที่เมืองเชียงใหม่  ในปี พ.ศ.1860  พญาไชยสงครามพระราชโอรส  (ซึ่งครองเมืองเชียงใหม่อยู่ตอนนั้น)  ได้ถวายพระเพลิงพระศพพญามังรายมหาราชแล้ว  เนื่องจากพระองค์ไม่ทรงโปรดเมืองเชียงใหม่  จึงได้กลับมาครองเมืองเชียงรายและอัญเชิญพระอัฐิของพญามังรายมาประดิษฐานไว้ใน   
“กู่”  หรือ  สถูป  ณ  วัดงำเมืองแห่งนี้


 

พระเจดีย์วัดดอยงำเมือง หรือที่เชื่อกันว่าเป็น  กู่พญามังราย  เมื่อพิจารณาจากองค์เจดีย์แล้วจะเห็นว่ามีการบูรณปฎิสังขรณ์มาแล้วหลายสมัย  ทำให้พิจารณาได้ยากว่าจริงๆแล้วองค์เจดีย์มีรูปแบบทางศิลปะในสมัยใด
 

 
องค์เจดีย์มีฐานเป็นศิลาแลง (เป็นการบูรณะภายหลัง ไม่ได้ทำขึ้นพร้อมกับองค์เจดีย์) ทรงปราสาทยอดเดี่ยว ประกอบด้วยฐานเขียงสี่เหลี่ยม 3 ชั้น ต่อด้วยฐานเขียงย่อมุมยี่สิบ 1 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นส่วนเรือนธาตุที่ตกแต่งเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่สองเส้นยืดสูง กึ่งกลางของแต่ละด้านเป็นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป ถัดขึ้นไปเป็นชุดบัวลูกแก้วอกไก่เส้นเดียว 2 ชุดในผังแปดเหลี่ยม  แล้วจึงเป็นองค์ระฆังกลม  องค์เรือนธาตุย่อเก็จ  ก่อด้วยอิฐมีซุ้มคูหา  4  ด้าน  ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป  ต่อขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง 8 เหลี่ยม ซึ่งเครื่องยอดหักหายไป  สามารถกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 ลงมา   ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเจดีย์วัดธาตุสองพี่น้อง  และเจดีย์ที่วัดมุงเมือง  ที่เมืองโบราณเชียงแสน  (เก่า) 


 

กู่พญามังราย  ที่วัดดอยงำเมือง  ปรากฏครั้งแรกในเอกสารราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3683 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 แต่ไม่ทราบที่มาและข้อมูลที่อ้างอิงชัดเจน และปรากฏอีกครั้งในหนังสือตำนานเมืองเหนือ พ.ศ. 2497 ของสงวน โชติสุขรัตน์ โดยระบุว่าเจดีย์ที่เป็นกู่ของพญามังรายนั้น เป็นเจดีย์ที่พังทลายเหลือแต่ฐานบนดอยงามเมือง อยู่หลังวัดดอยงำเมือง ซึ่งปัจจุบันถูกทำลายไปแล้ว อีกทั้งข้อมูลที่พญาไชยสงครามนำพระอัฐิของพญามังรายมาไว้ที่วัดดอยงำเมืองนั้น ยังไม่ปรากฏหลักฐานข้อมูลในเอกสารชั้นต้นฉบับใด และสงวน โชติสุขรัตน์ไม่ได้อ้างอิงที่มาของข้อมูลนี้ ทำให้มีความน่าเชื่อถือน้อย


 
เมื่อข้อมูลชุดนี้แพร่หลาย เนื่องจากเจดีย์ที่ถูกอ้างว่าเป็นกู่ถูกทำลายไปแล้ว จึงเกิดความเข้าใจว่าเจดีย์อีกองค์หนึ่งของวัดดอยงำเมืองเป็นกู่ของพญามังราย ซึ่งเป็นคนละองค์กับที่หนังสือตำนานเมืองเหนือระบุ อีกทั้งอายุและศิลปะของเจดีย์และผอบทองคำและเงินที่ค้นพบในเจดีย์ (ปัจจุบันอยู่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน) ก็มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นช่วงยุคพม่า-ฟื้นฟูเมืองเชียงรายเท่านั้น จึงไม่น่าจะเป็นกู่ของพญามังราย
 


 
พ.ศ. 2535 ได้มีการสร้างพระบรมรูปพระญามังรายไว้ด้านหน้าเจดีย์ โดย พระราชรัตนากร เจ้าอาวาสวัดพระแก้ว, พระครูวิทิตสาธุการ เจ้าอาวาสวัดดอยงำเมือง ประธานฝ่ายสงฆ์ นายบุญเลิศ เจริญผล อัยการศาลอุทธรณ์จังหวัดเชียงราย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมพุทธศาสนิกชนทั่วไปสร้างขึ้น
 

 
ในปี พ.ศ. 2551 ได้ทำการปรับปรุงฐานพระราชอาสน์และฉัตร โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อให้สมพระเกียรติยิ่งขึ้น
















 

 

พระวิหารวัดดอยงำเมือง  เป็นศิลปะล้านนาประยุกต์  คือถ้าเป็นศิลปะล้านนาแท้ๆจะนิยมสร้างพระวิหารเตี้ยๆ  แต่พระวิหารวัดดอยงำเมืองมีอิทธิพลของภาคกลางคือ  ตัวพระวิหารเป็นทรงสูง  มีราวบันไดทำเป็นรูปมกรคายนาค  ตัวพระวิหารยังคงประดับตกแต่งแบบล้านนาด้วยเครื่องไม้แกะสลัก  ลงรักปิดทอง  ที่หน้าบัน  ประตูพระวิหาร  ป้านลมโค้งอ่อนแบบล้านนา 
 









 
ภายในพระวิหารที่เสาพระวิหาร เพดาน  ผนังด้านหลังพระประธาน  และผนังด้านตรงข้ามพระประธาน  เขียนลายทอง  (ลายคำ)  บนพื้นชาด  (สีแดง) 











 
 
เสาพระวิหารเขียนลายเหมือนกันเป็นคู่ๆ  ยกเว้นเสาด้านในสุดจะไม่ได้ทาสีแดง  แต่คาดว่าจะลงรักสีดำแทน
 
 
 
พระพุทธรูปประธานประจำพระวิหารเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย  ขัดสมาธิราบศิลปะล้านนาที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย  มีพระพักตร์รูปไข่  ไรพระศก  พระขนงจบกันที่พระนาสิก  พระเนตรเป็นรูปกลีบบัว  ขมวดพระเกศาเล็กละเอียด  พระเกศมาลาเป็นรูปครึ่งวงกลม  พระรัศมีเป็นรูปเปลวเพลิง  พระชงฆ์เป็นสัน  ครองจีวรเฉียง  ชายจีวรเป็นแผ่น  พาดผ่านจากพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี   
 




 
 
 
 
 






 







อีกช่องทางหนึ่งในการติดตาม  “ทนายอ้วนพาเที่ยว”
 


Chubby Lawyer Tour  -  ทนายอ้วนพาเที่ยว
 
 
 https://www.facebook.com/ChubbyLawyerTour/
 



 

Chubby Lawyer Tour ………………….. เที่ยวไป ............. ตามใจฉัน

 

133134133
 
 
Create Date :28 ธันวาคม 2563 Last Update :28 ธันวาคม 2563 14:06:15 น. Counter : 1652 Pageviews. Comments :13