bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดหนองบัว จ.น่าน, น่าน Thailand
พิกัด GPS : 19° 5' 19.00" N 100° 47' 9.18" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม







วัดแห่งต่อในในอำเภอท่าวังผา  จังหวัดน่านที่จะพาไปเที่ยวกันเป็นวัดของชาวไทยลื้อ  อยู่ท่ามกลางชุมชนชาวไทยลื้อ  มีความสวยงาม  โดดเด่น  และยังมีจิตกรรมฝาผนังในพระวิหารอันสวยงาม  อ่อนช้อยด้วยครับ
 
 
 




วัดหนองบัว  อำเภอท่าวังผา  จังหวัดน่าน
 



 
การเดินทางมายัง
วัดหนองบัว   จาก รพ.ท่าวังผา ใช้ทางหลวงหมายเลข1080 ไปทางอำเภอเมือง ก่อนถึงสะพานข้ามแม่น้ำน่าน เลี้ยวขวาไป ประมาณ 1 กม. แล้วเลี้ยวขวาตรงทางแยกอีกครั้ง ตรงไป 500 เมตร เลี้ยวซ้ายสามแยกโรงบ่ม ข้ามสะพาน แม่น้ำน่านตรงไปอีก 3 กม.
 
 


วัดหนองบัว  เป็นวัดที่เก่าแก่ประจำหมู่บ้านหนองบัว ต. ป่าคา อ. ท่าวังผา จ. น่าน จากคำบอกเล่าเดิมวัดหนองบัว  ตั้งอยู่ที่ริมหนองบัว (หนองน้ำประจำหมู่บ้าน) ซึ่งอยู่ห่างจากที่ตั้งวัดปัจจุบันไปทางทิศตะวันตกประมาณ 500 เมตร ปัจจุบันไม่มีซากโบราณสถานเหลืออยู่แล้ว  ต่อมาได้มีการย้ายวัดมาที่ปัจจุบันนี้
 
 

ประวัติ
วัดหนองบัว  ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ว่าสร้างเมื่อใด  แต่จะทราบช่วงเวลาในการสร้างวัดคร่าวๆจากการ การสืบจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนและสืบจากการสังเกตจากรายละเอียดที่แสดงไว้ในภาพจิตรกรรมในพระวิหาร  โดยสามารถสันนิษฐานได้ว่าสร้างเมื่อประมาณ  พ.ศ. 2405  -  2415  โดยการนำของครูบาหลวงสุนันต๊ะร่วมกับชาวบ้านหนองบัวสร้างขึ้น   และจากคำบอกเล่าของ  ท่านพระครูมานิตย์บุญการ หรือ ครูบาปัญญา  ผู้เป็นชาวบ้านหนองบัวโดยกำเนิดถือว่าเป็นผู้รู้ท่านหนึ่งได้เล่าไว้ว่า  นายเทพผู้เป็นบิดาของท่านได้เป็นทหารของเจ้าอนันต๊ะยศ เจ้าผู้ครองนครน่านในขณะนั้น  (เจ้าอนันต๊ะยศ ครองเมืองน่านเมื่อ พ.ศ.2395 –2434 )  ต่อมานายเทพได้ติดตามทัพไปรบที่เมืองพวนซึ่งเป็นเมืองในแคว้นหลวงพระบาง หลังจัดการศึกเรียบร้อยแล้วจึงยกทัพกลับเมืองน่าน  นายเทพได้นำช่างเขียนลาวพวนชื่อว่า  ทิดบัวผัน  มาเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่วัดหนองบัว  แห่งนี้ โดยมีพระภิกษุวัดหนองบัวชื่อ แสนพิจิตร และนายเทพเป็นผู้ช่วยเขียนเสร็จ





 
 




จากหน้าวัดเดินผ่านทางเดินที่มีนาคหน้าตาแบบไทยลื้อ  2  ตัว  เข้ามาจะเห็นพระวิหารตั้งอยู่ใต้ร่มไม้ครื้ม  พระวิหารใหญ่มาก  มีขนาด  9  ห้อง  (9  ช่วงเสา)  กว้าง 10 เมตร ยาว 19 เมตร
 


ลักษณะเป็นวิหารปิดทึบ
  “ทรงโรง”  ขนาดใหญ่  ตัวพระวิหารมีขนาด  7  ห้อง  (7  ช่วงเสา)  มีมุขคลุมบันไดขนาด  2  ห้อง  (รวมเป็น  9  ห้อง)  สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก


 
หลังคาวิหารมุงด้วยกระเบื้องดินขอรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาในประธานเป็นชั้นซ้อน 2 ชั้น ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และมีหลังคาปีกนกลาดลงอีกชั้นละ 1 ตับ หลังคาที่คลุมมุขโถง และหลังคาอาคารลดชั้นต่ำกว่ากันมาก พื้นหลังคาทั้ง 2 ส่วน คลุมยาวลงต่ำมาก














 
หน้าบัน  (หน้าแหนบ)  มุขบันไดเป็นลวดลายเถาไม้และใบไม้  มีรูปเสือ  (มั๊ง)  อยู่ตรงกลาง  ตรงคอสองเป็นลวดลายเถาไม้และใบไม้  ลวดลายบนหน้าบันมุขโถงนูนเด่นออกมา ช่องไฟระหว่างลายห่าง เน้นตัวลายมากกว่าปกติ   มุขบันไดไม่มีโก่งคิ้วแต่ขนาดประตูมุขโถงสูงใหญ่และเปิดโล่ง มีเชิงชายรูปกระจังประดับ















ส่วนหน้าบัน  หรือ  หน้าแหนบ  ของตัวพระอุโบสถเป็นแผ่นไม้กรุปิดโครงสร้างหลังคา เรียกว่า  ดอกคอหน้าแหนบ  แบ่งหน้าบันด้วยลูกฟักและปะกน ตกแต่งลายดอกประจำยาม ปิดกระจกสี








 
 
สันหลังคาประดับปูนปั้นรูปสัตว์  ช่อฟ้าทำเป็นรูปนกหัสดีลิงค์  พญานาค ใบระกาเป็นครีบนาค หางหงส์เป็นเศียรนาค
 
 
อาคารตั้งอยู่บนฐานบัวคว่ำเป็นฐานปูน  ด้านหน้าย่อมุมเป็นมุขโถง เนื้อที่ใช้สอยภายในแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหน้าที่ เป็นมุขโถงทำเป็นบันได  มีสิงห์  (แบบไทยลื้อ)  อยู่ด้านหน้าสองตัว
 
 
บริเวณมุขโถงจะก่อเป็นผนังอิฐสอปูน ระดับเหนือผนังเป็นลูกกรงลูกมะหวดไม้กลึงทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสตลอดผนัง
 

ชั้นซ้อนหลังคา ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 เป็นผนังทึบมีหน้าต่างเป็นบานเล็กๆ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านละ 1 ช่อง
 

เนื้อที่ใช้สอยส่วนที่ 2 เป็นตัวอาคารใหญ่ ผนังก่ออิฐแบบกว้างสลับยาว ขอบบนของผนังเป็นรูปลดระดับตามชั้นลดของหลังคา ผนังหุ้มกลองด้านหลัง เป็นผนังทึบตัน ส่วนผนังหุ้มกลองหน้ามีประตูอยู่ตรงกลาง 1 ช่อง ประตูนี้เป็นตัวเชื่อมระหว่างเนื้อที่มุขโถงกับเนื้อที่ภายในอาคาร  แสงสว่างจากภายนอกส่วนใหญ่จะส่องผ่านทางมุขโถง  ส่วนผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีช่องหน้าต่างด้านทิศเหนือ 7 ช่อง ทิศใต้ 6 ช่อง หน้าต่างเดิมมีขนาดเล็ก  (เข้าใจว่า มีขนาดเท่ากับหน้าต่างที่ผนังมุขโถง)  ต่อมาได้เจาะขยายเมื่อปีพุทธศักราช 2469 ที่ผนังด้านเหนือมีประตูอีกทางหนึ่ง อยู่ระหว่างกลางผนัง  ประตูทางเข้าด้านข้างนี้ทำเป็นมุขยื่นออกไปมีหลังคาชั้นเดียว











 
เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูที่ตกแต่งอย่างสวยงาม  เพดานพระวิหารเป็นแบบปิด  ตกแต่งลายดอกประจำยาม  แต่จากโครงสร้างหลังคาที่เห็นได้จะเห็นได้ว่าพระวิหารวัดหนองบัวมีโครงสร้างหลังคาแบบ 
 ‘โกม’   ซึ่งคล้ายกับระบบรับน้ำหนักของวิหารล้านนาที่เรียกว่า  “ม้าต่างไหม”  เพียงแต่เรียบง่ายกว่า
 
 
เสาพระวิหารเป็นเสาไม้  ปลายบนสุดเป็นกลีบบัวแบบกลีบยาว  (น่าจะเป็น  signature  ของช่างไทยลื้อ  เพราะเท่าที่พาไปเที่ยววัดไทยลื้อหลายวัดส่วนมากจะเป็นเสากลีบบัวแบบกลีบยาวทั้งนั้น)  ส่วนบนของเสาทาสีแดง  ส่วนล่างทาสีดำ  เขียนลายคำ  (ทอง)  ประดับกระจก











 


 
ด้านในสุดของพระวิหารประดิษฐานพระประธานประจำพระวิหารบนแท่นปูนประดับกระจกสี  ประดิษฐานร่วมกับพระพุทธรูปไม้แกะสลักองค์เล็ก  ฝีมิอสลุกช่างเมืองน่าน









 
ด้านหน้าฐานชุกชีประดิษฐานพระประธานมี 
“บันไดแก้ว”  เป็นเครื่องบูชาแบบไทยลื้อคล้ายสัตตภัณฑ์ในภาคเหนือ








 
 
ผนังด้านหลังพระประธานด้านบนเขียนภาพอดีตพุทธเจ้า  ข้างใต้ภาพแถวอดีตพุทธเจ้าเป็นรูปบุคคลนุ่งห่มเครื่องทรง แสดงฉัพพรรณรังสี








 
 



ผนังด้านตรงข้ามพระประธานตอนบนของผนังวิหาร เขียนภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนพระอินทร์ดีดพิณสามสายถวายพระพุทธเจ้า สื่อสารว่าสายพิณที่ตึงเกินไปย่อมขาด หย่อนเกินไปย่อมไม่เกิดเสียง สายที่ขึงตึงแต่พอดีเท่านั้นจึงดีดฟังไพเราะ  พระพุทธเจ้าซึ่งกำลังพักผ่อนระหว่างบำเพ็ญทุกรกิริยา ทรงได้สติเพราะเสียงพิณของพระอินทร์ ตระหนักถึงทางสายกลาง จึงเลิกทรมานร่างกายตนเองเพื่อหาทางหลุดพ้น
 
 
ถัดลงมาเป็นเรื่องจันทคาธชาดก  จริงๆแล้วภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารจะเขียนเรื่องจันทคาธชาดกทั้งหมด  โดยผู้คนในภาพจะแต่งกายแบบพื้นเมือง  มีสิ่งของและบุคคลที่ร่วมสมัยกับช่างเขียนอยู่ด้วย  










 
จันทคาธชาดกนี้ เป็นนิยายคติธรรมเก่าแก่อันดับที่ 11 ในหนังสือ ปัญญาสชาดกปัจฉิมภาค ชาวบ้านในภาคเหนือเรียกว่า ค่าวธรรม จันทคาชาดก เป็นนิทานธรรมที่สอนให้กุลบุตรและกุลธิดาเอาแบบอย่างจริยธรรมที่ดีงามเช่น การเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ความกตัญญูกตเวที ความซื่อสัตย์สุจริต และความเมตตากรุณาเป็นต้น  โดยภาพจะเล่าเรื่องตั้งแต่ผนังด้านซ้ายพระประธาน  วนมาจนครบรอบ
 

 
แต่สื่งที่น่าตื่นตาตื่นใจมากกว่าเรื่องของชาดกก็เห็นจะเป็นผู้คนที่แต่งกายแบบพื้นเมือง  เช่น    ผู้หญิงที่นุ่งผ้าซิ่นลายน้ำไหล หรือผ้าซิ่นตีนจกที่สวยงาม และปัจจุบันยังเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงของชาวไทลื้ออีกด้วย  เกล้าผมแบบโบราณ  ผู้ชายจะนิยมใส่กางเกงสะดอและสักหมึกดำตามขาจนถึงหลัง ซึ่งแสดงให้เห็นการดำรงชีวิตของผู้คนสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี















ภาพเรือกลไฟและรูปทหารชาวฝรั่งที่ผนังด้านทิศเหนือเป็นสิ่งที่สามารถ นำมาประเมินอายุของจิตรกรรมได้ ตามประวัติของเรือกลไฟว่าเรือกลไฟมีแหล่งกำเนิดในยุโรปและอเมริกา ในประเทศไทยมีหลักฐานในจดหมายเหตุหลายแห่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีเรือกลไฟใช้ตั้งแต่ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงสันนิษฐานว่าช่างเขียนคงเห็นและนำแบบมาเขียนไว้ และยังมีรูปปืนยาวแบบฝรั่งคือมีดาบติดปลายปืนด้วย เดิมคนไทยรู้จักใช้ปืนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา รูปแบบปืนมีปลายกระบอกยาวแต่ไม่ปรากฏว่ามีดาบปลายปืน ปืนที่ตัดดาบปลายปืนเป็นแบบฝรั่งที่นำมาใช้แพร่หลายในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 4 ถึง รัชการที่ 5 เป็นต้นมา จึงประเมินอายุจิตรกรรมว่าคงอยู่ในราวสมัย รัชการที่ 4 ถึง รัชการที่ 5
 









รูป 
“สับปะรด”  สับปะรดไม่ใช้ผลไม้พื้นถิ่นของไทยเรา  แต่เป็นผลไม้ที่มาจากอเมริกาใต้  ช่างเขียนคงจะเห็นว่าเปห็นสิ่งใหม่และแปลกตาจึงนำมาเขียนไว้









มาถึงตรงนี้แล้วพอจะคุ้นตากับเส้นสายของภาพเขียนมั๊ยครับว่าเคยเห็นที่ไหนมาก่อนน๊า ...... ที่วัดภูมินทร์ไงครับ  อย่างที่บอกไปแล้วตอนต้นว่า  ช่างเขียนภาพในพระวิหารวัดหนองบัวคือ  หนานบัวผัน  เป็นคนๆเดียวกับผู้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารวัดภูมินทร์ด้วยครับ  แต่ว่าจะเขียนที่วัดหนองบัวก่อนหรือที่วัดภูมินทร์ก่อนยังถกเถียงกันอยู่  เนื่องจากเวลาที่สร้างวัดหนองบัวยังไม่แน่นอนเลยยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเขียนที่ไหนก่อน
 
 
มีหลักฐานการเขียนภาพของหนานบัวผันคือภาพร่างต่างๆ  ที่เขียนอยูบน 
ปั๊บสา  หรือ  สมุดไทยของภาคเหนือทำจากกระดาษสา





 
 




พ่ออุ๊ยสว่าง ภิมาลย์ วัย ๗๒ ปี มักประจำอยู่ในวิหาร เป็นผู้รู้ในเรื่องราวต่างๆ  คอยให้ความรู้แก่ผู้สนใจครับ  ได้คุยกับพ่ออุ๊ยแล้วสนุกมาก  ได้ความรู้ขึ้นอีกอักโขเลย  เสียดายว่าเราจะต้องรีบไปที่อื่นต่อไม่งั้นคงได้คุยกับพ่ออุ๊ยอีกนานเลย






 
 

 
ด้านข้างพระวิหารมีพระอุโบสถที่มีความสวยงาม  อ่อนช้อย  แบบไทยลื้อ  ไม่แพ้กันเลยครับ  รูปทรงและการตกแต่งจะคล้ายพระวิหารแต่มีขนาดที่ย่อมกว่าเหมือนวัดทางภาคเหนือทั่วๆไปจะนิยมสร้างพระวิหารมีขนาดใหญ่กว่าพระอุโบสถ  เพราะว่าพระวิหารสามารถใช้งานได้มากกว่า  คนเข้าพระวิหารได้เยอะกว่า  จึงสร้างให้มีขนาดใหญ่  (บางแห่งพระวิหารใช้เป็นศาลาการเปรียญได้ด้วย)  ส่วนพระอุโบสถใช้ทำสังฆกรรม  ผู้หญิงเข้าไปร่วมด้วยไม่ได้  การใช้งานมีน้อย  มีคนเข้าร่วมไม่เยอะจึงสร้างให้มีขนาดที่เล็กกว่า












 
 



อันนี้เดาว่าน่าจะเป็นลูกนิมิตครับ

























 
Create Date :21 เมษายน 2563 Last Update :21 เมษายน 2563 15:05:58 น. Counter : 2197 Pageviews. Comments :18