bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดพระธาตุเบ็งสกัด อ.ปัว จ.น่าน, น่าน Thailand
พิกัด GPS : 19° 10' 42.15" N 100° 55' 2.79" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม







 
สถานที่ท่องเที่ยวแห่งถัดไปที่จะพาไปเที่ยวใน  อ.ปัว  จ.น่าน  เป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองปัวมานานกว่า  700  ปีแล้วครับ  จะเป็นที่ไหน  สำคัญอย่างไร  โปรดติดตามได้ครับ
 
 




วัดพระธาตุเบ็งสกัด  อ.ปัว  จ.น่าน
 
 




วัดพระธาตุเบ็งสกัด ตั้งอยู่บ้านแก้ม หมู่ที่ 5 ตำบลปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน





 
 

การเดินทางมาที่
วัดพระธาตุเบ็งสกัด  เมื่อเดินทางมาถึง  อ.ปัว   ผ่านธนาคารกสิกรไทย กลับรถตรงเกาะกลางเลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทาง 1256 ทางเข้าตรงข้าม โรงเรียนวรนครเข้าไป ประมาณ 200 เมตร และแยกซ้ายอีก 200 เมตร
 
 

อำเภอปัว จังหวัดน่าน เป็นอำเภอเล็ก ๆ ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขา  เป็นดินแดนที่ประวัติศาสตร์ของเมืองน่านได้ถือกำเนิดขึ้น
 

 
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1825  (ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 - พ.ศ. 1192 )  มีคนไตกลุ่มหนึ่ง  (ในวิกิพีเดียใช้คำว่า  “ไทย”  แต่เจ้าของบล็อกคิดว่าไม่น่าใช้คำว่า  “ไทย”  เพราะจะสื่อความหมายผิดให้เข้าใจว่าเป็นคนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา  แต่คำว่า  “ไต”  ที่เจ้าของบล็อกใช้หมายถึงกลุ่มคนที่ใช้ภาษาในตระกูล  “ไต”  แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มไหน)  ภายใต้การนำของพระยาภูคา ได้ครอบครองพื้นที่ราบตอนบนของจังหวัดน่าน ตั้งศูนย์การปกครองอยู่ที่เมืองย่าง  (เชื่อกันว่าอยู่บริเวณริมฝั่งด้านใต้ของแม่น้ำย่างใกล้เทือกเขาดอยภูคา ในเขตบ้านเสี้ยว ตำบลยม อำเภอท่าวังผา)  เนื่องจากพบร่องรอยชุมชนในสภาพที่เป็นคูน้ำคันดิน กำแพงเมืองซ้อนกันอยู่ ต่อมาพระยาภูคาได้ขยายอาณาเขตของตนออกไป โดยส่งบุตรบุญธรรมสองคนไปสร้างเมืองใหม่ ทางตะวันออกบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ให้ขุนนุ่นผู้พี่ไปสร้างเมืองจันทบุรี (หลวงพระบาง) ให้ขุนฟองผู้น้องไปสร้างเมืองวรนคร หรือเมืองปัว  หรือ  “วรนคร”  แล้วตั้งขุนฟองให้เป็นเจ้าเมืองปัว  ก่อนที่พญาภูคาจะย้ายเมืองลงมาสร้างเมืองบริเวณที่ตั้งของพระธาตุแช่แห้ง ใช้ชื่อว่า “เวียงภูเพียงแช่แห้ง” จนกระทั่งเปลี่ยนเป็นเมือง “นันทบุรีศรีน่าน”
 
 
ตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับ
พระธาตุบ็งสกัดซึ่งปรากฏในสมุดข่อย กล่าวว่า …

 

“เมื่อครั้งที่พญาภูคาต้องการจะสร้างเมืองขึ้นใหม่ให้แก่บุตรบุญธรรม จึงได้ให้ผู้คนไปหาชัยภูมิสร้างเมืองใหม่ จนกระทั่งได้ที่บริเวณแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่พอพระทัย แล้วสร้างเมืองขึ้นใหม่ ตั้งให้ขุนฟองเป็นผู้ครองเมือง ขนานนามว่า “เมืองวรนคร” พญาภูคาทรงมีความเลื่อมใสในพุทธศาสนา ประสงค์จะสร้างเจดีย์ไว้ใกล้กับเมืองใหม่ จึงได้ให้ผู้คนไปหาบริเวณที่เหมาะสมเพื่อสร้างเจดีย์ จึงพบบริเวณที่ดินเป็นลานกว้างมีบ่อน้ำอยู่ตรงกลางพญาภูคาได้เสด็จไปดูและนำไม้รวกแหย่ลงไปในบ่อนั้น ปรากฏว่าไม้ที่แหย่ลงไปขาดเป็นท่อน ๆ เมื่อเห็นอัศจรรย์จึงรับสั่งให้สร้างพระเจดีย์ครอบบ่อน้ำ พร้อมกับสร้างวิหารหลังหนึ่งอยู่ในแนวเดียวกับองค์เจดีย์
 
เมื่อสร้างเจดีย์แล้วเสร็จในปี พ.ศ.1826 จึงได้เชิญนายญาณะ อุปสมบทเป็นเจ้าอาวาส ทำพิธีฉลองพร้อมเมืองใหม่ ในตอนกลางคืนของงานฉลองนั้นได้เกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้น ปรากฏแสงไฟเรืองรองพุ่งออกมาจากยอดพระธาตุ เมื่อเห็นดังนั้น พญาภูคาจึงได้ตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า “
วัดพระธาตุเบ็งสกัด” หลังจากนั้นมาสมัยขุนฟองครองเมืองวรนคร ท่านก็ได้บำนุบำรุงวัดพระธาตุเบ็งสกัดจนสิ้นรัชสมัย”
 

 

 



เราเดินไปชมพระวิหารกันก่อนนะครับ 
 

 
จากการหาข้อมูลหลายที่กล่าวว่าพระวิหารเดิมเป็นสถาปัตยกรรมไทยลื้อ  พระวิหารหลังแรกสร้างเสร็จพร้อมองค์พระธาตุ  ในพ.ศ. 1826 หรือเมื่อกว่า 700 ปีก่อน   ภายหลังได้มีการปรับเปลี่ยน รูปแบบหลายครั้งจนเป็นรูปแบบที่เห็นในปัจจุบัน
 
 
พระวิหารซึ่งสร้างอยู่ต่อกับองค์พระธาต  สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีขนาดความยาว 5 ห้อง  มีลักษณะเป็นทรงสูงแต่หลังคาจะกดต่ำแบบช่างล้านนาเดิม  เป็นอาคารปิดทึบทรงโรง มีหลังคาทรงจั่ว  โครงหลังคาสร้างลดชั้น ด้านหน้าลดหนึ่งชั้น ด้านหลังลดหนึ่งชั้น แต่ละชั้นมีผืนหลังคาสองตับ มุงด้วยแป้นเกล็ด  (กระเบื้องไม้)
 





















ฐานอาคารตกแต่งด้วยลวดบัวแบบบัวคว่ำบัวหงาย ฐานและผนังก่ออิฐฉาบปูน ผนังเจาะช่องหน้าต่างเล็กแคบ หน้าวิหารมีลักษณะเป็น มุขโถงโล่ง ๆ  ขนาด  1  ห้อง  ลายทองประดับเสาพระวิหารและเพดาน  ได้รับการบูรณะในสมัยของพญาอนันตวรฤทธิเดช  เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่  62  (พ.ศ. 2395 – 2435)







 
 


ประตูด้านหน้าวิหาร เป็นประตูใหญ่กว้างและสูงประกอบด้วยลวดลายปูนปั้นผสมผสานระหว่าง ศิลปะเก่ากับใหม่  โดดเด่นด้วยโทนสีน้ำเงิน สีสันยอดนิยมในศาสนสถานของชาติพันธุ์ลื้อ  หน้าบันของซุ้มประตูประดับปูนปั้นทาสีสดใสเป็นรูป  “ราหู”








 

 
บานประตูสลักภาพเทวดากับยักษ์ล้อมด้วยลายพรรณพฤกษา ... สังเกตนะครับว่ามีดอกไม้บานเป็นระยะๆ  ...  น่าจะเป็นลายดอก  “โบตั๋น”  ซี่งได้รับอิทธิพลมาจากจีน  และเถาของต้นไม้เป็นลายวงๆเป็นช่วงๆ  น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากลายเถาองุ่นจากเปอร์เซียครับ








 
ภายในวิหาร ซึ่งภายในประกอบด้วยเสา เรียงสองแถว ตรงสู่แท่นฐานชุกชี  เสาแต่ละคู่ประดับลายคำ ลวดลายเหมือนกันเป็นคู่ๆ  โดยเสาคู่กลางมีลายที่ต่างออกไป
 
 
หลังคาเป็นเครื่องไม้ ปิดฝ้าเพดาน











 

 
พระประธานสร้างด้วยปูนปั้น เหนือองค์พระประดับฉัตร บนผนังด้านหลังประดับกระจกบานใหญ่สามบาน  .....  การนำกระจกมาประดับตกแต่งอาหารก็น่าจะเป็รวัฒนธรรมตะวันตกนะครับ  น่าจะมีการประดับกระจกในช่วงสมัยหลังๆ  น่าจะตรงกับรัชกาลที่ 4  หรือ  รัชกาลที่ 5  แล้ว
 

ด้านข้างวางเครื่องสูง สื่อแสดงถึงพุทธานุภาพ  รูปลักษณ์ของพระประธานเป็นศิลปกรรมแบบพื้นบ้าน
 

แท่นพระเจ้า  หรือ  แท่นที่ประดิษฐานพระประธาน  ได้รับการบูรณะในสมัยของพญาอนันตวรฤทธิเดช  เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่  62  (พ.ศ. 2395 – 2435)  เป็นแท่นก่ออิฐฉาบปูน ประดับลายกระหนก หน้าแท่นพระประธานมีเชิงเทียน หรือ สัตตภัณฑ์
 












ส่วนองค์เจดีย์เป็นงานสถาปัตยกรรมของช่างชาวน่าน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยของพญาภูคา ประมาณปี พ.ศ.1826 องค์พระธาตุได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยของได้รับการบูรณะในสมัยของพญาอนันตวรฤทธิเดช  เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่  62  (พ.ศ. 2395 – 2435)  รวมถึงการสร้างกำแพงแก้วรอบองค์พระธาตุ เมื่อปี พ.ศ.2400






 


 
เจดีย์พระธาตุเป็งสะกัด  หรือ  เบ็งสกัด  ความหมายของพระธาตุตามตำนาน หมายถึง สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากบ่อดินที่ใช้ไม้แหย่ ลงไป แล้วไม้ขาดเป็นท่อน ๆ เหมือนมีอะไรมากัดให้ขาด และมีลำแสงเกิดขึ้น






 


เจดีย์เป็นรูปทรงฐานระฆังคว่ำ เป็นมุมแปดเหลี่ยมลดหลั่น กัน เป็นชั้น ๆ ไม่มีลวดลายเป็นศิลปะแบบพะเยา หรือที่เรียกว่าเจดีย์ ทรงพะเยา ซึ่งมีมากที่พะเยา เชียงราย และบริเวณแถบภาคเหนือ ตอนบน ภายในองค์พระเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุซึ่งถือเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชุมชน





 
 
 
 



ด้านหลังพระวิหารมีหอเสื้อวัด





 
 
 
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2487 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดพระธาตุเบ็งสกัดให้เป็นโบราณสถานแห่งชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 61 ตอนที่ 65
 

ต่อมาในปี พ.ศ.2533 คณะกรรมการหมู่บ้านโดยนายสุชาติ พลจร ผู้ใหญ่บ้านแก้ม ได้ทูลเกล้าถวายฏีกาแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อขอพระราชทานจัดหาทุนทรัพย์ซ่อมแซมพระวิหารซึ่งชำรุดทรุดโทรมมาก จนกระทั่งปี พ.ศ.2536 กรมศิลปากร ได้ทำการตรวจสอบและทำโครงการบูรณะวิหารวัดพระธาตุเบ็งสกัด จนได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2538
 
 
 
ปัจจุบันมีการจัดงานนมัสการสรงน้ำพระธาตุเบ็งสกัดทุกปีในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 เหนือ (ขึ้น 15 ค่ำเดือน 3)  โดยมีการสร้าง  “ฮางฮดน้ำ”  หรือ  รางรดน้ำพระธาตุเป็นรูปพญานาคขึ้น  อยู่ด้านหลังพระธาตุ





 
 
 




 



 

อีกช่องทางหนึ่งในการติดตาม  “ทนายอ้วนพาเที่ยว”
 



Chubby Lawyer Tour  -  ทนายอ้วนพาเที่ยว
 



 

 https://www.facebook.com/ChubbyLawyerTour/
 
 





Chubby Lawyer Tour …….. เที่ยวไป ............. ตามใจฉัน



 
137139134
 
 
Create Date :31 มีนาคม 2563 Last Update :31 มีนาคม 2563 13:50:07 น. Counter : 1616 Pageviews. Comments :23